xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์-อ.เจษฎ์ เห็นพ้อง “บั้งไฟพญานาค” มาจากเงื้อมมือมนุษย์แน่นอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มติพล ตั้งมติธรรม นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ เผยว่า "ถ้ามีแต่มนุษย์ที่รู้จักวันออกพรรษา ก็มีแต่มนุษย์ที่ทำให้เกิดบั้งไฟพญานาคได้" ด้าน อ.เจษฎ์ย้ำ หากบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นเฉพาะใน "วันออกพรรษาที่มนุษย์กำหนด" มันก็น่าจะมาจากเงื้อมมือของมนุษย์อย่างแน่นอน

วันนี้ (30 ต.ค.) เฟซบุ๊ก “มติพล ตั้งมติธรรม” นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้ถึง บั้งไฟพญานาค โดยระบุข้อความว่า “ถ้ามีแต่มนุษย์ที่รู้จักวันออกพรรษา ก็มีแต่มนุษย์ที่ทำให้เกิดบั้งไฟพญานาคได้ ปรากฏการณ์ในภาพ คือสิ่งที่ชาวไทยเราอาจจะรู้จักกันในนาม "บั้งไฟพญานาค" บันทึกเอาไว้โดยคุณ สมภพ ขำสวัสดิ์ ซึ่งเกิดขึ้นในวันออกพรรษาของทุกปี สังเกตเห็นได้ตามริมน้ำโขง ช่วงจังหวัดหนองคายของประเทศไทย ปรากฏขึ้นเป็นลูกไฟลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า

สำหรับคำอธิบายของบั้งไฟพญานาคนั้น มีตั้งแต่คำอธิบายเชิงเหนือธรรมชาติ เช่น เป็นลูกไฟที่พ่นออกมาโดยพญานาคที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาล ที่เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ในวันออกพรรษา หรืออาจจะอาศัยอยู่ใต้ลำน้ำโขงอยู่แล้ว หรือคำอธิบายเชิงธรรมชาติ เช่น อาจจะเกิดจากการสันดาปของก๊าซที่ผุดขึ้นมาจากใต้น้ำ และลุกเป็นไฟลอยขึ้นบนท้องฟ้า และคำอธิบายในเชิงที่ว่ามาจากการกระทำของมนุษย์ ที่เกิดจากประเพณีการยิงกระสุนส่องวิถีจากฝั่งลาว ที่ Jessada Denduangboripant พูดถึงกันอยู่ทุกปี ซึ่งก็เป็นที่เถียงกันอยู่ทุกปี ไม่ว่าจะมีการพยายามยืนยันว่าต้นกำเนิดของลูกไฟนั้นมาจากแผ่นดินข้ามน้ำโขงเพียงใด ก็จะมีคนยืนยันว่ามันมีลูกไฟบางส่วนที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติที่ลอยขึ้นจากฟ้าอยู่เสมอ

ในบทความนี้ เราจะมองข้ามคำอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ทิ้งไป แล้วมาลองพิจารณาถึงเรื่อง "ปฏิทิน" กันดูบ้างว่า ไม่ว่าต้นเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้นจะมาจากสิ่งใด แต่มันจะเป็นไปได้แค่ไหนที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ในคืนออกพรรษาของทุกปี

"ปฏิทิน" นั้นเป็นความพยายามของมนุษย์ ที่จะทำการกำหนด "วัน"​ ในแต่ละ "ปี" ออก เพื่อการตกลงกัน หรือเพื่อการทำนาย ชีวิตของมนุษย์นั้นผูกพันเป็นอย่างมากกับสภาพลมฟ้าอากาศ ด้วยเหตุนี้ การที่เราจะบอกได้ว่าระยะเวลาที่แน่ชัดระหว่างฤดูหนาวครั้งถัดไปนั้นกินระยะเวลาทั้งสิ้นกี่วัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จึงทำให้เกิดวิชา "ดาราศาสตร์" เป็นหนึ่งในศาสตร์แรกของโลกที่ถือกำเนิดขึ้นมา และทำให้เกิดขึ้นมาเป็น "ปฏิทิน" ที่ทำให้เราสามารถทำนายเวลาในการเพาะปลูก และผลักดันให้สังคมมนุษย์ก้าวข้ามคนเก็บของป่าล่าสัตว์ (hunter-gatherer society) ไปสู่สังคมกสิกรรมได้

ทุกวันนี้ เราสามารถแบ่งปฏิทินที่มนุษย์สร้างออกได้เป็นสามแบบ

1. ปฏิทินสุริยคติ ปฏิทินนี้สร้างขึ้นโดยการสังเกตการณ์ตำแหน่งของดวงอาทิตย์กับดวงดาวโดยตรง และเป็นที่มาว่าเพราะเหตุใดในหนึ่งปีจึงมี 365.25 วัน ปฏิทินกรีกอเรียนที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ก็เป็นปฏิทินที่มาจากสุริยคติ ด้วยเหตุนี้ในวันปีใหม่ของทุกปี จึงตรงกับช่วงฤดูหนาว และวันที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล เช่น วันที่กลางวันยาวที่สุด (summer solstice) จึงตรงกันกับเดือนมิถุนายนของทุกปี

แต่แม้กระนั้นก็ตาม ปฏิทินที่มนุษย์สร้างก็มีการคลาดเคลื่อนเล็กน้อย เนื่องจากอัตราการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์นั้นไม่ได้เป็นสัดส่วนที่ลงตัวพอดี จึงทำให้วันที่ที่เกิด summer solstice ในแต่ละปีนั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ตั้งแต่ 20-22 มิถุนายน

2. ปฏิทินจันทรคติ แต่การสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์นั้นทำได้ค่อนข้างยาก และมักจะต้องอาศัยทักษะและความคุ้นเคยกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้าค่อนข้างมาก บวกกับจำนวน 365 วันนั้นก็มักจะเป็นตัวเลขที่เยอะเกินกว่าที่มนุษย์จะนับตามได้ทัน เราจึงมักจะพยายามอาศัยวัตถุท้องฟ้าอื่นในการ "นับ"

ซึ่งหนึ่งในวัตถุที่ใช้ประโยชน์ได้ง่ายที่สุดก็คือ "ดวงจันทร์" โดยเราสามารถใช้การเปลี่ยนเฟสหรือดิถีของดวงจันทร์เพื่อระบุ "เดือน" (ซึ่งเป็นชื่อของทั้งดวงจันทร์และระยะเวลา) และรอบเดือนของดวงจันทร์ 29.5 วันนี้เอง ที่เป็นสาเหตุว่าทำไมในหนึ่ง "เดือน" จึงมีประมาณ 30 วัน และในหนึ่ง "ปี" จึงมีประมาณ 12 "เดือน"

อย่างไรก็ตาม รอบเดือนของดวงจันทร์นั้นไม่ได้ตรงกันกับระยะเวลาในหนึ่งปีพอดี แต่ขาดไปนิดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ หากเราเปลี่ยน "ปี"​ ไปทุกๆ 12 จันทร์เพ็ญ เราจะพบว่าในหนึ่งปีนั้นมีระยะเวลาเพียง 354-355 วัน (29.5x12 วัน) ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมที่ใช้ปฏิทินจันทรคติ เช่น มุสลิม นั้นจะเกิดพิธีกรรมทางศาสนา เช่น รอมฎอน ในฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปของทุกปี และการที่จะใช้ปฏิทินนี้เพื่อการทำนายฤดูกาลนั้นจึงจะต้องมีการชดเชยเพิ่มขึ้น

3. ปฏิทินสุริยจันทรคติ ด้วยเหตุนี้นี่เอง บางวัฒนธรรมจึงประดิษฐ์ปฏิทินแบบไฮบริดขึ้น ซึ่งเป็นปฏิทินที่มีการนับเดือนตามดวงจันทร์ แต่มีการชดเชย "เดือน" ทุกๆ ปี เพื่อให้เดือนเดิมกลับมาตรงกับปีในสุริยคติทุกครั้ง โดยในปี "อธิกมาส" นี้จะมีการเพิ่มเดือนแปดซ้ำสองครั้ง เพื่อพยายามชดเชยจำนวนวันที่ขาดหายไปในแต่ละปี

ซึ่งตัวอย่างของวัฒนธรรมที่ใช้ปฏิทินนี้ ก็คือปฏิทินแบบพุทธไทยเถรวาทที่เราใช้กันอยู่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้นี่เอง จึงทำให้วันสำคัญทางศาสนา เช่น ออกพรรษา หรือลอยกระทง ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียวกัน (ตามปฏิทินเกรกอเรียน) ของทุกปี แต่ก็เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันของปี

- ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิต
ซึ่งนอกไปจากมนุษย์แล้ว ทั้งปรากฏการณ์ธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ก็มีการใช้ "ปฏิทิน" เช่นเดียวกัน ซึ่งเราสามารถแบ่งออกได้ตามสุริยคติ และจันทรคติ

1. ปฏิทินสุริยคติในธรรมชาติ แน่นอนว่า "ลมฟ้าอากาศ" ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณแสงอาทิตย์นั้น จะอ้างอิงตามพลังงานที่ได้รับ ซึ่งจะสอดคล้องกับปฏิทินสุริยคติ เช่น ฤดูกาลทั้งสี่ ซึ่งนี่ก็รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตที่อิงตามสภาพลมฟ้าอากาศด้วยเช่นกัน เช่น การผลิบานของดอกไม้ การผลัดใบ การจำศีลของสัตว์ตามอาหารที่หายไป ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้ถึงแม้ว่าวันที่กลางวันยาวที่สุดของแต่ละปีนั้นอาจจะผิดเพี้ยนจากปฏิทินเกรกอเรียนได้ไม่กี่วัน แต่วันที่ดอกซากุระจะบาน หรือสัตว์จะออกจากจำศีลในแต่ละปีนั้น จึงเปลี่ยนแปลงได้

2. ปฏิทินจันทรคติในธรรมชาติ นอกจากดวงอาทิตย์แล้ว ดวงจันทร์ก็มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยดวงจันทร์สามารถส่งอิทธิพลได้ในฐานะแหล่งกำเนิดของแสงสว่าง สิ่งมีชีวิตหลายชนิดจึงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามความสว่างในยามค่ำคืน เช่น การปล่อยไข่มาผสมพันธุ์ของปะการังในช่วงคืนจันทร์เพ็ญ การเคลื่อนที่ของแมลงโดยใช้ดวงจันทร์นำทาง​ ฯลฯ เราเรียกสิ่งมีชีวิตที่อาศัยวัฏจักรของดิถีดวงจันทร์ในหนึ่งรอบนี้ว่า "circalunar rhythm"

แต่นอกจากแสงสว่างแล้ว อีกอิทธิพลหนึ่งจากดวงจันทร์ที่มีผลเป็นอย่างมาก นั่นก็คือในเรื่องของปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง เนื่องจากปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงนั้นเกิดจากทั้งแรงไทดัลของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ร่วมกัน ในช่วงเฟสที่ดวงจันทร์อยู่ในแนวเดียวกันกับดวงอาทิตย์ จะทำให้มีระดับน้ำขึ้นน้ำลงที่สูงกว่าปกติ เรียกว่า น้ำเกิด (spring tide) แต่น้ำเกิดนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจันทร์ดับ และจันทร์เพ็ญ จึงทำให้เกิดขึ้น "เดือน" ละสองรอบ

ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ขึ้นอยู่กับเฟสของดวงจันทร์นั้นจึงมักจะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแรงไทดัล เช่นคลื่นกระทบชายฝั่ง (ซึ่งมีผลเฉพาะทะเลที่ต่อกับมหาสมุทรเท่านั้น ไม่มีผลต่อทะเลสาบหรือแม่น้ำ) สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง หรือต้องวางไข่ในช่วงน้ำขึ้นสูงนี้ จึงอาศัยอยู่ภายใต้วัฏจักรที่เรียกว่า "circasemilunar rhythm"

3. ปฏิทินสุริยจันทรคติในธรรมชาติ ซึ่งนี่ก็ย้อนกลับมาคำถามเดิมที่ว่า ปรากฏการณ์ในธรรมชาติ หรือสิ่งมีชีวิตใดบ้าง ที่อาศัยปฏิทินสุริยจันทรคติ ซึ่งคำตอบก็คือ... แทบจะไม่มีเลย เพราะปรากฏการณ์ตามธรรมชาตินั้นได้รับอิทธิพลจากดวงจันทร์ผ่านทางน้ำขึ้นน้ำลงเพียงเท่านั้น และปริมาณน้ำขึ้นน้ำลงนั้นไม่ได้รับอิทธิพลจากปริมาณแสงอาทิตย์แต่อย่างใด ส่วนสิ่งมีชีวิตที่อาศัยสภาพลมฟ้าอากาศนั้นมักจะไม่ได้พึ่งพาเฟสของดวงจันทร์ ในขณะที่สิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต้องอาศัยเฟสของดวงจันทร์นั้นอาจจะมีพึ่งอิทธิพลของลมฟ้าอากาศน้อยกว่า

เพียงกรณีเดียว ที่สิ่งมีชีวิตอาจจะอิงตามทั้งอิทธิพลของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่ง ที่ต้องอาศัยสภาพลมฟ้าอากาศที่พอเหมาะ ตัวอย่างหนึ่งอาจจะใกล้เคียงกรณีเช่นนี้ที่สุด ได้แก่ปู christmas island red crab ที่มีการอพยพหมู่เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ของทุกปี แต่แม้กระนั้นก็ตาม ก็เป็นการอพยพที่กินระยะเวลานานถึง 3 อาทิตย์ และตัวเมียนั้นจะขุดหลุมรอระดับน้ำขึ้นน้ำลงที่พอเหมาะ ก่อนที่จะปล่อยไข่ลงทะเลต่อไป และที่สำคัญกว่านั้น ปูชนิดนี้ก็อาจจะแค่วางไข่ในช่วงจันทร์เพ็ญในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ไม่ได้เคารพปฏิทินอันสลับซับซ้อนที่มีเดือนคู่ 30 วัน เดือนคี่ 29 วัน บางปีจะมีการชดเชยเดือนอธิกมาส เดือน 8 สองรอบ 7 ครั้งในทุกๆ 19 ปี บวกกับเพิ่มปีอธิกวารที่มีการบวก 1 วันให้เดือน 7...

ซึ่งหากเราย้อนกลับมาที่เหตุการณ์การเกิดบั้งไฟพญานาคนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ในช่วงฤดูกาลเดิม และเฟสดวงจันทร์เดิมของทุกปีเพียงเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในวันเดียวกันตามปฏิทินสุริยจันทรคติอย่างไม่ผิดเพี้ยน

นอกไปจากนี้ เป็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า วันออกพรรษาที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ตรงกับ "จันทร์เต็มดวง" เป๊ะ เนื่องจากเช้ามืดของคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั้นเพิ่งจะเกิดปรากฏการณ์ "จันทรุปราคา" ซึ่งหมายความว่าจะต้องเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หรือ "เต็มดวงที่สุด" แต่คืนที่เรากำหนดให้เป็นคืน "ออกพรรษา" หรือ "15 ค่ำเดือน 11" นั้นกลับกลายเป็นคืนถัดมา (สืบเนื่องมาจากวิธีกำหนดเฟสดวงจันทร์ตามธรรมเนียมปฏิบัติของปฏิทินไทย) จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเพราะเหตุใด "บั้งไฟพญานาค" จึงไม่ได้เกิดขึ้นในคืนที่จันทร์เต็มดวงที่สุด แต่กลับเกิดขึ้นในคืนหลังจากนั้น

ซึ่งหากพิจารณาว่ามีแต่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทราบวันออกพรรษาที่กำหนดใช้ตรงกัน และไม่มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตใด ที่อ้างอิงตามปฏิทินสุริยจันทรคติด้วยความแม่นยำหนึ่งวันอย่างไม่ผิดเพี้ยนแล้ว น่าจะพอสรุปได้ว่า ไม่ว่าต้นเหตุของการเกิดบั้งไฟพญานาคแล้วแท้จริงจะเกิดขึ้นจากอะไร จะมีลูกที่ผุดขึ้นกลางน้ำบ้างหรือไม่ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษาที่มนุษย์กำหนด มันก็น่าจะมาจากเงื้อมมือของมนุษย์อย่างแน่นอน หรือถ้าจะให้สรุปแบบง่ายๆ หนึ่งประโยคก็คือ "ถ้ามีแต่มนุษย์ที่รู้จักวันออกพรรษา ก็มีแต่มนุษย์ที่ทำให้เกิดบั้งไฟพญานาคได้"

ด้านเพจ “อ๋อมันเป็นแบบนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์“ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาอธิบายถึงเรื่องราวดังกล่าว โดยระบุว่า "คำอธิบายทางดาราศาสตร์ ถึงการเกิด "บั้งไฟพญานาค" ว่าทำไมถึงน่าจะเป็นฝีมือมนุษย์"

สรุปสั้นๆ คือ การที่บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นใน "วันออกพรรษา" นั้น เป็นสิ่งที่ตรงกับการกำหนดวันสำคัญขึ้นมาโดยมนุษย์ ตามปฏิทิน "สุริยจันทรคติ" ซึ่งไม่ได้เป็นวันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ .... และถ้ามีแต่มนุษย์ที่รู้จักวันออกพรรษา ก็ย่อมมีแต่มนุษย์ที่ทำให้เกิดบั้งไฟพญานาคขึ้นได้ครับ

- เหตุการณ์การเกิดบั้งไฟพญานาคนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลเดิมและเฟสดวงจันทร์เดิมของทุกปี แต่เกิดขึ้นในวันเดียวกันตามปฏิทินสุริยจันทรคติ แบบปฏิทินพุทธไทยเถรวาทที่เราใช้กัน ซึ่งเป็นปฏิทินที่มีการนับเดือนตามดวงจันทร์ แต่มีการชดเชยวันที่หายไป ในทุกๆ ปี เพื่อให้เดือนเดิมกลับมาตรงกับปีในสุริยคติทุกครั้ง โดยในปี "อธิกมาส" นี้จะมีการเพิ่มเดือน 8 ซ้ำ 2 ครั้ง ทำให้วันสำคัญทางศาสนา เช่น วันออกพรรษา หรือวันลอยกระทง ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียวกันของทุกปี

- ทำให้มีหลายครั้งที่ "บั้งไฟพญานาค" ไม่ได้เกิดขึ้นในคืนที่จันทร์เต็มดวงที่สุด (15 ค่ำ เดือน 11) แต่กลับเกิดขึ้นในคืนหลังจากนั้น ... ซึ่งมีแต่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทราบว่าวันออกพรรษาที่กำหนดขึ้นนั้น จะเป็นวันที่เท่าไหร่กันแน่ ดังนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นเฉพาะใน "วันออกพรรษาที่มนุษย์กำหนด" มันก็น่าจะมาจากเงื้อมมือของมนุษย์อย่างแน่นอน"

คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น