xs
xsm
sm
md
lg

ชวนชม! “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” ฝุ่นของดาวหางฮัลเลย์จากปี 2529 พร้อมฉากหลังกลุ่มดาวนายพราน สองวัตถุบนยามค่ำคืนที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงคืนของวันที่ 21 ตุลาคม เวลาประมาณ 22:30 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จะมีปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” ที่เกิดขึ้นจากร่องรอยของ “ดาวหางฮัลเลย์” เมื่อครั้งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 บริเวณ “กลุ่มดาวนายพราน” (Orion) โดยมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง ปรากฏการณ์นี้สามารถชมความสวยงามได้ทั่วประเทศไทย

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ อย่างเป็นทางการตามระบบดาวหางว่า 1P/Halley ที่ได้หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในเส้นทางการวงโคจร ขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี พ.ศ. 2529 ในการโคจรผ่านจุดตัดผ่านในทุกปีๆ แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุที่ดาวหางได้หลงเหลือไว้ และเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก จนเกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวบนท้องฟ้า และการเกิดฝนดาวตกในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นบริเวณกลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่กล่าวถึงกันมาตั้งแต่อดีต


ในการชมฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ปี 2566 ค่ำคืนดังกล่าว ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 23:30 น. หลังจากนั้นจะไร้แสงจันทร์รบกวนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป วิธีการสังเกตที่ดีที่สุดคือมองด้วยตาเปล่า เลือกสถานที่ที่ปราศจากแสงรบกวนหรือห่างจากแสงเมืองให้มากที่สุด จะทำให้เห็นดาวตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้ว่าฝนดาวตกโอไรออนิดส์จะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียงประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง แต่ก็เป็นฝนดาวตกที่อยู่บริเวณกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่สังเกตได้ง่าย และมีดาวฤกษ์ที่สว่างเด่นอีกหลายดวงให้ชม อาทิ ดาวบีเทลจุส (สีส้มแดง) ดาวไรเจล (สีฟ้าขาว) รวมถึง ดาวซิริอุส ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าในกลุ่มดาวหมาใหญ่ใกล้ๆ กัน นอกจากนี้ หากบันทึกภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกในคืนดังกล่าว อาจได้ภาพของดาวตกที่เคียงคู่ดวงดาวที่สวยงามอันดับต้นๆ ของท้องฟ้าก็เป็นได้


สำหรับข้อมูล ดาวหางแฮลลีย์ มีชื่ออย่างเป็นทางการตามระบบดาวหางว่า 1P/Halley ตั้งชื่อตาม เอ็ดมันด์ แฮลลีย์ นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษผู้คำนวณคาบโคจรและทำนายการปรากฏตัวของดาวหางได้อย่างถูกต้องเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2248 ดาวหางแฮลลีย์จะปรากฏขึ้นทุกครั้งหลังจากที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 76 ปีโดยประมาณ นับเป็นดาวหางแบบมีคาบโคจรที่มีชื่อเสียงที่สุด เป็นดาวหางที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพียงดวงเดียวที่หวนกลับมาให้เห็นได้อีกในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่ง

ดาวหางดวงนี้ปรากฏครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2529 และจะกลับมาอีกครั้งในกลางพ.ศ. 2604


กลุ่มดาวนายพราน Orion ยังถือเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางที่สุดในบรรดากลุ่มดาวบนท้องฟ้า และถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากมีตำแหน่งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรฟ้า ทำให้มองเห็นได้ทั่วโลก และในฤดูหนาวสามารถมองเห็นได้ยาวนาน และสังเกตหาง่าย สำหรับคนไทยเรียกกลุ่มดาวนายพรานว่า ดาวเต่า ข้างในดาวเต่ามี ดาวไถ


กำลังโหลดความคิดเห็น