xs
xsm
sm
md
lg

กตป.ร่วมกับ มศว จัดประชุมสนทนากลุ่มติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย กสทช.ในหัวข้อ การรับมือเรื่องอาชญากรรมเทคโนโลยี-การกำกับดูแลผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เสมือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดการประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย กสทช.ที่สำคัญในด้านกิจการโทรคมนาคม ประจำปี 2566 และเพื่อเก็บข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทน กสทช. ในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนผู้ประกอบกิจการ องค์กร และหน่วยงานต่างๆ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางที่ต้องการได้รับการสนับสนุนและร่วมมือ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และประเมินผลตามระเบียบวิจัยอย่างถูกต้อง อันจะนำไปสู่การรายงานข้อเสนอแนะต่อกสทช. และรัฐสภาต่อไป การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่ห้องกรุงเทพ 4 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว

ผศ.ดร.สุทิศา รัตนวิชา กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านกิจการโทรคมนาคม ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า บทบาทของ “กตป.” หรือคณะกรรมการติดตามตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. คือการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของ กสทช.ผ่านกิจกรรมต่างๆ ตามแผนที่วางเพื่อพิจารณาว่าได้ทำตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ ทำแล้วมีประสิทธิภาพอย่างไร ขณะเดียวกันก็ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อ กสทช. ซึ่งหน้าที่นี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.มาตรา 72 ที่ให้คณะกรรมการ กตป.มีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของ กสทช. พร้อมแจ้งผลให้ กสทช.ทราบภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้ กสทช.นำรายงานดังกล่าวเสนอต่อรัฐสภา พร้อมรายงานผลการปฏิบัติงานรายปีของ กสทช.ตาม พ.ร.บ.มาตรา 76 และเปิดเผยรายงานดังกล่าวให้ประชาชนทราบ

“โครงการนี้เป็นโครงการที่เราจ้างที่ปรึกษาหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งในครั้งนี้เราได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บข้อมูลและประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย กสทช.เป็นรายด้าน มุ่งเน้นการดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ได้ผลการศึกษาติดตามประเมินที่ทันต่อสถานการณ์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางวิชาการ และนำข้อเสนอแนะสู่การปรับปรุงพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการออกแบบการวิจัยที่เป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ สำหรับกิจกรรมในวันนี้เป็นการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลอีกวิธีการหนึ่ง คือ เราใช้กิจกรรมการสนทนากลุ่มมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่นำมาเป็นประเด็นในการสนทนากลุ่มร่วมกันครั้งนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญและกำลังอยู่ในกระแส ได้แก่ เรื่องการรับมืออาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการกำกับดูแลผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเสมือน (MVNO) โดยการประชุมสนทนากลุ่มในครั้งนี้ เราเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 ประเด็นที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจาก กสทช. ตำรวจไซเบอร์ ตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัล ตัวแทน สกมช. และภาคเอกชนทั้งในส่วนของผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เพื่อมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน โดยคาดหวังว่าผลที่จะได้รับจากการประชุมสนทนากลุ่มในครั้งนี้จะนำไปสู่การวิเคราะห์บริบทที่เกี่ยวข้องและเป็นปัจจุบันของตลาดโทรคมนาคมได้อย่างชัดเจน และการกำหนดข้อเสนอแนะมาตรการ/แนวทางการอนุญาตและกำกับดูแลตามบทบาทของ กสทช.ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป” ผศ.ดร.สุทิศากล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น