xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ รอดชัตดาวน์ แต่เศรษฐกิจยังเสี่ยงเจอ 5 พายุร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ทนง" วิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่อแววพัง รับมือ 5 พายุร้าย "หนี้-ราคาน้ำมัน-สหภาพผู้ผลิตรถยนต์ประท้วง-กลุ่มกู้ยืมเพื่อการศึกษาถึงเวลาใช้หนี้-ดอกเบี้ยบ้านพุ่ง" แม้เพิ่งรอดพ้นจากการชัตดาวน์ได้อย่างหวุดหวิด



วันที่ 2 ต.ค. 2566 นายทนง ขันทอง ผู้เชี่ยวชาญข่าวต่างประเทศ ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "สหรัฐรอดชัตดาวน์ แต่เศรษฐกิจยังเสี่ยงเจอ 5 พายุร้าย" 

จากกรณีเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2566 รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถหลีกเลี่ยงการชัตดาวน์ได้ ก่อนถึงเส้นตาย 3 ชั่วโมง หลังวุฒิสภาเห็นพ้องกับข้อตกลงงบประมาณระยะสั้น ด้วยคะแนน 88 ต่อ 9 โดยขยายงบประมาณรายจ่ายไปจนถึงวันที่ 17 พ.ย.

นายทนงกล่าวว่า นี่คือการเมืองของอเมริกาที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของสองพรรคการเมือง แม้แต่ภายในรีพับลิกันเองก็แตกแยกอย่างสูง

ล่าสุดงบประมาณยืดอายุไปให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายได้ 45 วันข้างหน้า เส้นตายวันข้างหน้าก็คือ 17 พ.ย. ช่วงนั้นก็ต้องมาถกกันอีก เขาจะอนุมัติเป็นงวดๆ แบบนี้ไป เนื่องจากว่ารายละเอียดการใช้จ่ายเป็นเรื่องการเมืองสูง

ที่ผ่านมารัฐบาลอเมริกาชัตดาวน์บ่อยจนเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่มีครั้งไหนที่เศรษฐกิจอ่อนแอเท่าครั้งนี้ ดีที่รอบนี้รอดไปได้

นายทนงกล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าจะรอดชัตดาวน์แต่เศรษฐกิจอเมริกายังเสี่ยงเจอ 5 พายุร้าย ประกอบด้วย

1. หนี้สหรัฐฯ ที่ตอนนี้พุ่งแตะ 33.1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบนร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมองว่าการขาดดุลสะสมระหว่างปี 2024-2033 จะเพิ่มอีก 20.2 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะสหรัฐฯ ในช่วงปี 2030-2033 จะแตะ 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

2. ราคาน้ำมัน จากความร่วมมือของรัสเซียกับซาอุฯ รวมทั้งกลุ่มโอเปก ลดกำลังผลิต ทำให้น้ำมันตลาดโลกลดลง เป็นการก่อสงครามพลังงานกับยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ยุโรปและสหรัฐฯ ลำบาก

3. การประท้วงของสหภาพแรงงานผู้ผลิตรถยนต์ 3 เจ้าใหญ่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ฟอร์ด และสเตลแลนทิส รวม 1.45 แสนคน เพียงนัดหยุดงาน 1 สัปดาห์ ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียรายได้ 1.6 พันล้านเหรียญ เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้าง เป็นการสะท้อนภาพรวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น ล่าสุดก็ยังตกลงกันไม่ได้

4. กลุ่มกู้ยืมเพื่อการศึกษา 44 ล้านคน ต้องใช้หนี้คืนหลังจากหยุดชำระไป จะทำให้เงินที่ใช้จ่ายอย่างอื่นลดลงก็จะไม่มีเม็ดเงินมากพอไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

5. ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ที่ตอนนี้พุ่งไป 7.5% เงินเฟ้อทำให้ดึงดอกเบี้ยสูง กระทบคนอเมริกันหนัก

ฉะนั้น ที่บางคนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะลงอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) คุมเงินเฟ้ออยู่แล้ว เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มองว่าอาจมองโลกแง่ดีเกินไป เพราะมี 5 พายุร้ายให้รับมือ


กำลังโหลดความคิดเห็น