xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันรั่วชลบุรีกระทบ “แพหอย” แนะรัฐต้องรีบช่วยเหลือ ใช้งานวิจัย ตปท.เปรียบเทียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น้ำมันรั่วชลบุรีส่งผลกระทบ “แพหอย” นักวิจัย EEC Watch แนะรัฐต้องรีบช่วยเหลือ พร้อมเสนอให้นำงานวิจัย ตปท.มาเปรียบเทียบ


รายงานพิเศษ

“น้ำมัน ไม่น่ากลัวเท่าไหร่หรอกครับ เราเอาบูมมาล้อมไว้ ใช้เครื่อง Skimmer ดูดออกได้ หรือถ้ายังมีบางส่วนที่ถูกพัดขึ้นฝั่งเราก็เอากระดาษมาซับได้ แต่ที่น่ากลัวกว่าน้ำมัน ก็คือ สารเคมีที่เขามาฉีดพ่นหรือโปรยใส่น้ำมันนี่แหล่ะครับ”


ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch เป็นอีกคนหนึ่งที่แสดงความแปลกใจต่อวิธีการเลือกใช้ “Dispersant” มากำจัดคราบน้ำมันในครั้งนี้ เพราะเป็นวิธีการที่ไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือเอกชนใน จ.ชลบุรี ไม่เคยเลือกใช้มาก่อนในเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งอื่นๆที่ผ่านมา เนื่องจากมีเครื่องมืออื่นที่ดีกว่านี้ นั่นคือการล้อมและดูดออกไปกำจัด

“การใช้ Dispersant พ่นไปที่คราบน้ำมัน โดยปล่อยให้จมลงไป จะต้องใช้เวลาย่อยสลายเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงมีหลักให้อนุญาตใช้ได้เฉพาะในเขตทะเลน้ำลึก ห่างไกลจากแผ่นดิน (ระดับความลึกมากกว่า 100 เมตร ไกลจากชายฝั่งมากกว่า 5 กิโลเมตร) เพราะจะมีเวลาให้แบคทีเรียย่อยสลายจนหมด ไม่เกิดเป็นก้อน Tar Ball ลอยเข้าฝั่ง

แต่ในทางตรงกันข้ามหากเราใช้ Dispersant ในจุดที่น้ำไม่ลึกมากนัก (จุดเกิดเหตุระดับความลึก 20-22 เมตร) หยดน้ำมันจะย่อยสลายไม่ทัน และไปจับตัวเป็นก้อนน้ำมันเหลวปกคลุมที่ใต้พื้นทะเล หญ้าทะเล หรือปะการัง จากนั้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์ คลื่นใต้น้ำจะพัดมันเข้าฝั่งในลักษณะก้อนน้ำมันเหนียว หรือ Tar Ball จำนวนมาก สร้างความเสียหายร้ายแรงกว่าทั้งในทะเลและชายฝั่ง เมื่อเทียบกับการใช้บูมล้อมและดูดออกไปกำจัด”

และนั่นทำให้เขามีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระยะยาวต่อระบบนิเวศและการทำประมง เพราะกลุ่มประมงพื้นบ้านกำลังฟื้นฟูทะเลชลบุรี ให้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อน และที่นี่ยังเป็นแหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่แหล่งใหญ่อีกด้วย


งานวิจัยที่มีชื่อว่า “อิทธิพลของน้ำมัน น้ำมันที่กระจายตัว และสารช่วยกระจายตัวของน้ำมัน SD-25 ต่ออัตราการเต้นของหัวใจของหอยแมลงภู่เมดิเตอร์เรเนียน” (The Influence of Oil, Dispersed Oil and the Oil Dispersant SD-25, on the Heart Rate of the Mediterranean Mussel) ซึ่งถูกตีพิมพ์ไว้เมื่อปี ค.ศ.2015 โดย University of Belgrade ,University of Montenegro และคณะวิจัย... ถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่ ดร.สมนึก เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ควรจะนำมาใช้ศึกษาเปรียบเทียบกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับที่ชลบุรี เพราะในงานวิจัยชิ้นนี้ ศึกษาผลกระทบจากการใช้สารเคมีช่วยกระจายตัวของน้ำมันตัวเดียวกัน คือ SD-25 หรือ Super Dispersant 25 ซึ่งเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ของสารเคมีตัวนี้ และยังศึกษาผลกระทบต่อสัตว์น้ำชนิดใกล้เคียงกันกับที่เพาะเลี้ยงในชลบุรี คือ หอยแมลงภู่






เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ดร.สมนึก ได้ลงพื้นที่ร่วมกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ชลบุรี และไปดูแพหอย ที่ ต.บางพระ อ.ศรีราชา พบว่า ซึ่งใกล้กับจุดเกิดเหตุน้ำมันรั่ว และพบว่า หอยแมลงภู่ที่นี่ตายไปหลายแพ ส่วนที่ยังไม่ตายก็เริ่มตัวเป็นสีแดง หรือมีลักษณะปากอ้า ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประมงและสาธารณสุขจังหวัดต้องเข้ามาตรวจสอบให้ความช่วยเหลือ

“ที่ชลบุรี มีแหล่งที่เลี้ยงหอยแมลงภู่มากถึง 3 แหล่ง คือ ที่ ศรีราชา เกาะสีชัง และบางละมุง ถือเป็นรายได้หลักของชาวบ้านใน 3 อำเภอนี้เลย เป็นรายได้ที่ดีกว่าการออกเรือด้วยซ้ำไป ดังนั้นเรื่องหอยแมลงภู่ตายจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่หน่วยงานรัฐต้องรีบมาตรวจสอบ ช่วยเหลือ เยียวยาครับ และยิ่งในระยะยาวเราควรนำงานวิจัยชิ้นนี้มาศึกษาเปรียบเทียบ เพราะเขาศึกษาและเห็นผลกระทบมาก่อนแล้ว เราจะได้นำมาหาทางช่วยเหลือชาวบ้านได้รวดเร็วขึ้น”

ดร.สมนึก ระบุด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทางเครือข่ายประมงพื้นบ้านของชลบุรี กำลังพยายามฟื้นฟูทะเลที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมายาวนาน ให้สามารถมีศักยภาพเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้บ้าง แต่พอเกิดน้ำมันรั่วแล้วกลับไปใช้วิธีการพ่นสารเคมีลงไปเช่นนี้ ทำให้กลุ่มชาวประมงมีความกังวลกันมาก โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเคยเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทะเลระยองมาแล้ว จากการใช้วิธีเดียวกันนี้มากำจัดคราบน้ำมันรั่วทั้งในปี 2556 และปี 2565
กำลังโหลดความคิดเห็น