xs
xsm
sm
md
lg

ใครสั่งการ? ประมงพื้นบ้านชลบุรีเผยเบื้องหลัง “อยู่ๆ ก็เปลี่ยนวิธีจัดการน้ำมันรั่ว เป็นการทำให้จมลงไปในทะเล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“ผมเป็นชาวประมง เกิดที่นี่และอยู่ที่นี่มา 50 กว่าปี เคยเจอน้ำมันรั่วในทะเลมานับ 10 ครั้งแล้ว ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่เขาจะใช้วิธีการฉีดพ่นหรือโปรยสารเคมีลงไปแบบที่ทำในครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาเขามีวิธีจัดการที่ดีกว่านี้ มีเครื่องมือ อุปกรณ์ที่พร้อมมาก แต่คราวนี้ทำไมถึงทำ”

อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.ชลบุรี แสดงความแปลกใจต่อวิธีการจัดการเหตุน้ำมันรั่วครั้งล่าสุดในทะเลชลบุรี ซึ่งเกิดจากการรั่วของท่อส่งน้ำมัน บ.ไทยออยล์ เมื่อคืนวันที่ 3 กันยายน 2566 (มีรายงานว่า ประมาณ 6-8 หมื่นลิตร) ซึ่งมีรูปแบบการจัดการที่เปลี่ยนไปจาก “แผนเผชิญเหตุ” ที่เคยทำกันมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากในกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ว่าจะส่งผลเสียระยะยาวกับระบบนิเวศในทะเล

“ที่ชลบุรี บริษัทปิโตรเคมีต่างๆเขามีความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้มากกว่าที่ระยองนะครับ เพราะเป็นพื้นที่หลักในการขนส่งน้ำมัน อยู่ใกล้ท่าเรือ และอยู่ใกล้ชุมชน แหล่งประมง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก เขาก็จะมีอุปกรณ์ที่พร้อมสำหรับการจัดการปัญหาแบบนี้อยู่แล้ว มีวัสดุที่ใช้ล้อมเพื่อดูดซับน้ำมัน ที่เรียกว่า บูม ยาวรวมกันมากกว่า 4 กิโลเมตร ทำให้เมื่อเกิดน้ำมันรั่วทุกครั้งที่ผ่านมา เขาก็ใช้บูมมาล้อมไว้ แล้วใช้เครื่องดูดน้ำมัน SKIMMER ดูดคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนพื้นผิวน้ำออกไป”

อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.ชลบุรี
“เรามีข้อมูลว่า พบน้ำมันรั่วเมื่อเวลาประมาณ 3 ทุ่ม (21.00 น.) ของคืนวันที่ 3 กันยายนครับ จากนั้นตอนเช้าวันที่ 4 กันยายน เราชาวประมงก็เห็นว่าทีมงานของบริษัทเขาก็ทำตามกระบวนการปกติที่เคยทำและเคยซักซ้อมแผนมา คือการนำบูมไปล้อมน้ำมันไว้และเตรียมจะดูดออก คนงานของเขาที่เล่นพารามอเตอร์ หรือบางคนที่เล่นโดรน ก็ยังขึ้นไปติดตามสภานการณ์จากมุมสูงเพื่อชี้เป้าทิศทางการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันให้อยู่เลยครับ แต่พอมาตอนสายๆ วันเดียวกัน (4 ก.ย. 2566) ก็มาพบว่า เขาเปลี่ยนมาใช้วิธีการการฉีดพ่นและโปรยสารเคมี Dispersant ลงไปบนคราบน้ำมัน ซึ่งจะทำให้คราบน้ำมันแตกตัวไปจับกับสารเคมีเป็นชิ้นเล็กๆมากๆ และจมลงไปในทะเล ทำให้หายไปจากการมองเห็นอย่างรวดเร็ว”

จากวิธีการจัดการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ทำให้นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.ชลบุรี เกิดคำถามขึ้น เพราะอยู่ๆ ก็เปลี่ยนมาเลือกใช้วิธีการจัดการคราบน้ำมันในแบบที่ไม่เคยใช้มาก่อน ไม่อยู่ในแผนที่เคยซักซ้อมไว้ ทั้งที่บริษัทและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.ชลบุรี ต่างก็มีองค์ความรู้เป็นอย่างดีว่า การฉีดพ่นสาร Dispersant ไม่ใช่วิธีการที่ควรใช้ในพื้นที่ชายฝั่ง

“ผมต้องถามเลยครับว่า ... “ใครสั่งให้เปลี่ยน” .... คนสั่งมีความรู้แค่ไหน ผมไม่เชื่อว่าเป็นการตัดสินใจของคนในชลบุรีนะครับ เพราะเราซ้อมแผนกันมาตลอด ไม่เคยใช้วิธีนี้ เหตุการณ์ที่ผ่านมาก็ไม่เคยใช้สารเคมี และยิ่งจุดเกิดเหตุน้ำมันรั่ว เป็นจุดที่มีความลึกแค่ 20-22 เมตร ซึ่งเป็นข้อมูลทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการจะใช้ Dispersant ต้องใช้ในจุดที่มีความลึกมากกว่า 100 เมตรขึ้นไป และอยู่ห่างจากฝั่งมากกว่า 5 กิโลเมตรเท่านั้น เพราะการใช้ในน้ำตื้นจะทำให้แบคทีเรียไปสลายสารเคมีตัวนี้ไม่ทัน ทำให้คราบน้ำมันผสมสารเคมีที่แตกเป็นหน่วยเล็กๆ จมลงไปเกาะที่พื้นทะเล หญ้า ปะการัง และถูกสัตว์น้ำกินไปเข้าไปสร้างความเสียหายในระยะยาว ในขณะที่ส่วนหนึ่งจะจับตัวเป็น ทาร์บอล พัดกลับขึ้นมาที่ชายหาดในเวลาต่อไปอีกด้วย”


“ดังนั้นเมื่อเราแน่ใจว่า ทุกหน่วยงานในชลบุรี หรือ ศรชล (ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล) ต่างก็รับรู้ข้อมูลนี้ และชลบุรีเอง ก็มีเครื่องมือที่พร้อมกว่าที่ระยองมากที่จะล้อมดักคราบน้ำมันและดูดออกได้ไม่ยาก แต่กลับเปลี่ยนไปใช้สารเคมีอย่างไม่น่าเชื่อ จึงชัดเจนว่า ต้องมีคำสั่งมาจากที่ไหนสักแห่ง ให้เปลี่ยนวิธีการ เพียงเพื่อจะทำให้คราบน้ำมันหายไปจากการถูกมองเห็นโดยเร็ว และไม่ต้องการเห็นคราบน้ำมันลอบขึ้นฝั่งในเวลนั้น ทั้งที่ความจริงแล้วมันจัดการได้ง่ายกว่า” อมรศักดิ์ ตั้งคำถาม

เมื่อกลับมาพูดถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน หลังมีคำสั่งปิดศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2566 อมรศักดิ์ ยังตั้งคำถามเพิ่มถึงความผิดปกติในการทำรายงานสถานการณ์ส่งไปที่ผู้ว่าราชการ จ.ชลบุรี โดยระบุว่า ในรายงานที่ถูกส่งไปจากทีมสำรวจผลกระทบ ซึ่งมีตัวแทนประมงพื้นบ้านไปร่วมสำรวจด้วย ยังมีหลายจุดที่กลุ่มประมงมีความเห็นโต้แย้งแต่ไม่อยู่ในรายงาน เช่น ชาวประมงพบคราบน้ำมันหรือแผ่นฟิล์มตามชายหาดของพื้นที่ทางเหนือของเกาะลอย ซึ่งในรายงานระบุว่าไม่พบ และที่สำคัญคือการระบุพื้นที่ในการสำรวจแตกต่างกัน โดยชาวประมงยืนยัน การสำรวจซึ่งนั่งไปด้วยเรือลำเดียวกัน เป็นการสำรวจไปทางทิศเหนือของเกาะลอย คือ บางพระ บางแสน ไปถึงหาดวอนนภา ตามกระแสลมตะวันตกเฉียงใต้ตามฤดูกาล แต่ในรายงานที่ถูกส่งออกไป กลับระบุว่า พื้นที่สำรวจคือบยริเวณทิศใต้ของเกาะลอย ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุแถบศรีราชา อ่าวอุดม ซึ่งไม่ใช่จุดที่ไปสำรวจเพราะคลื่นลมจากทางนี้ไปทางทิศเหนือหมดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น