xs
xsm
sm
md
lg

NIA สร้าง The Next Change Maker นำเสนอ 5 ต้นแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายพร้อมขับเคลื่อนประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดการอบรม PPCIL รุ่นที่ 5 เพื่อพัฒนาและสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้บริหารระดับกลางที่จะเติบโตไปเป็นผู้นำระดับสูง สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ หรือ ‘The Next Change Maker’ พร้อมนำเสนอต้นแบบข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย พร้อมนำไปปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไป

หลักสูตร PPCIL (Public and Private Chief Innovation Leadership) สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาและสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้บริหารระดับกลางที่จะเติบโตไปเป็นผู้นำระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ความมั่นคง การเมือง และสื่อมวลชน เพื่อวางรากฐานการคิดนวัตกรรมนโยบาย และส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่าย รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในอนาคต นำไปสู่การขับเคลื่อนและผลักดันนวัตกรรมระดับประเทศ โดยปีนี้หลักสูตร PPCIL ได้จัดเป็นรุ่นที่ 5 โดยมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงสำเร็จหลักสูตรฯ จำนวน 84 ราย จาก 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคความมั่นคง ภาคสื่อสารมวลชน และสมาคมวิชาชีพองค์กรอิสระ

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “หลักสูตร PPCIL มีเป้าหมายที่จะสร้าง The Next Change Maker ที่สามารถสร้างนวัตกรรมนโยบาย โดยอาศัยแนวทางการคาดการณ์และการคิดเชิงอนาคต (Foresight) ร่วมกับหลักการออกแบบนโยบาย (Policy Design) ที่ต้องเข้าใจบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้สร้างแนวปฏิบัติของความร่วมมือรูปแบบใหม่ (Collaborative) สร้างผลลัพธ์ใหม่ โดยผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ทักษะสำคัญคือ “การคิดเชิงนวัตกรรม” คือความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง สามารถนำไปต่อยอดได้

โดยตลอด 11 สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เข้าอบรมทั้ง 84 รายได้รับการพัฒนาศักยภาพด้วยเครื่องมือและเนื้อหาที่เข้มข้น ซึ่งในวันสุดท้ายของหลักสูตรผู้เข้าอบรมได้นำเสนอข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย ทั้งหมด 5 ข้อเสนอ ที่ครอบคลุม 4 ประเด็น ได้แก่ (1) นวัตกรรมกำลังคน (2) นวัตกรรมสังคม (3) นวัตกรรมด้านสาธารณสุข และ (4) นวัตกรรมเศรษฐกิจ ซึ่ง 5 ต้นแบบข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่แต่ละทีมระดมสมองและสร้างสรรค์ขึ้นมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวง อว.จะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ นอกกระทรวงนำกลไกเหล่านี้ไปขับเคลื่อนต่อไป”

โดย 5 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศ ประกอบด้วย กลุ่ม Chang’e (ฉางเอ๋อ) "NCDs FreeVer" สุขภาพปัง เป๋าตังค์ตุง ประเทศไทยมุ่ง ปลอด NCDs นวัตกรรมเชิงนโยบายที่ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคไม่ติดต่อที่ป้องกันได้ ลดอัตราการป่วยโรค NCDs คนวัยทำงานแข็งแรง ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ ลดภาระการใช้จ่ายงบสาธารณสุขและมี Big Data ด้านสาธารณสุขสำหรับอนาคต ด้วยการบูรณาการจากทุกภาคส่วนร่วมผลักดันนโยบาย พร้อมสร้างเสาหลัก 3 สำคัญ คือ Health Literacy, Behavior Change และ Motivation and Incentive

กลุ่ม Voyager "TIDE: เพื่อนคู่คิด มิตรสร้างเมือง "สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต กระจายเศรษฐกิจทั่วไทย นวัตกรรมเชิงนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาความเจริญ งาน เงินและโอกาสที่กระจุกตัวเฉพาะเมืองใหญ่ เพื่อปลดล็อก 3 ปัญหาการพัฒนาเมือง ได้แก่ ระบบราชการที่เป็น SILO, การรวมอำนาจและงบประมาณที่ส่วนกลาง และการขาดกลไกการพัฒนาเมืองและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

กลุ่ม Apollo "SMEs โต๊โตตตต" โตความรู้, โตรายได้, โตยั่งยืน นวัตกรรมนโยบายที่ให้ SMEs ไทยเข้าถึงการสนับสนุนและความรู้เพื่อการเติบโตของธุรกิจ เพื่อเพิ่ม SMEs ในระบบ และเพิ่มการเติบโต GDP ของ SMEs

กลุ่ม Viking "Teens ไม่เตะฝุ่น" เป็นคนที่ใช่ เรียนแบบที่ชอบ จบไปไม่ตกงาน นโยบายพัฒนาการศึกษา สำหรับแก้ปัญหาการตกงานของนักศึกษาปริญญาตรีจบใหม่ของประเทศไทย ด้วยการผลิตคนแบบ Demand Driven, การเรียนแบบยืดหยุ่น และขยายโอกาสในการจ้างงาน เพื่อลดช่องว่างระหว่างงานที่มีและทักษะเด็กจบใหม่

กลุ่ม Millennium Falcon "Unlocking town เพื่อชาวหมุนเมือง" ปลดล็อกเมือง เพิ่มโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ สู่เมืองที่เท่าเทียม นวัตกรรมนโยบายที่ใช้ประโยชน์สูงสุดจากที่ดินที่ว่างเปล่าในกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนในเมือง ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เมืองเจริญเติบโต ได้แก่ วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ พ่อค้าหาบเร่ สตรีทฟูดและคนงานก่อสร้าง ที่เรียกว่า “คนหมุนเมือง” ด้วยการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้พวกเขามีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

ดร.อรพรรณ แสงสว่าง ผู้จัดการอาวุโส ศูนย์นวัตกรรมไออาร์พีซี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลักสูตรนี้ช่วยเปิดมุมมองที่แตกต่างไปจากจุดที่เรารู้จักในสายงานที่รับผิดชอบ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราตระหนักถึงปัญหาของประเทศ และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งหลังจากนี้จะนำความรู้ที่ได้ไปเป็นกรอบความคิดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาต่างๆ ในองค์กร คำนึงถึงปัจจัยที่จะทำให้นโยบายประสบความสำเร็จ เช่น การรับฟัง และการสร้างความมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

นายก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจใหม่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สามารถเอาความรู้และทักษะที่ได้จากการอบรมไปต่อยอดและปรับใช้กับการบริหารจัดการในองค์กรได้ เริ่มตั้งแต่การดูสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร การวิเคราะห์คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อใช้ในการจัดทำกลยุทธ์และแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมของทีมงาน เพื่อประสานความต้องการ และผลประโยชน์ให้แก่ทั้งองค์กร ส่วนงานและสมาชิกของทีมทุกคน ซึ่งแตกต่างจากแต่ก่อนที่มุ่งเน้นแต่ผลผลิต ผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจขององค์กรอย่างเดียวเป็นหลัก

สำหรับการอบรม PPCIL รุ่นที่ 6 จะจัดขึ้นในปี 2567 โดยจะเปิดรับสมัครเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ https://www.facebook.com/NIAAcademyTH
กำลังโหลดความคิดเห็น