xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นไอเอ ปั้นผู้นำรุ่นใหม่ ผ่านหลักสูตร “PPCIL รุ่น 5” พร้อมเปิดข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายสู่การขับเคลื่อนประเทศทุกมิติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมปิดหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐเละเอกชน หรือ PPCIL รุ่นที่ 5 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาและสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้บริหารระดับกลางที่จะเติบโตไปเป็นผู้นำระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ความมั่นคง การเมือง และสื่อมวลชน เพื่อวางรากฐานการคิดนวัตกรรมนโยบาย และส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่าย รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในอนาคต นำไปสู่การขับเคลื่อนและผลักดันนวัตกรรมระดับประเทศ โดยปีนี้มีผู้นำการเปลี่ยนแปลงสำเร็จหลักสูตรฯ จำนวน 84 ราย จาก 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคความมั่นคง ภาคสื่อสารมวลชน และสมาคมวิชาชีพองค์กรอิสระ ซึ่งนอกจากการได้รับความรู้เพื่อนำไปต่อยอดแล้ว ยังก่อให้เกิด “ต้นแบบข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย” ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนใน 4 ประเด็น ได้แก่ นวัตกรรมด้านกำลังคน นวัตกรรมสังคม นวัตกรรมด้านสาธารณสุข และนวัตกรรมเศรษฐกิจ


ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “หลักสูตร PPCIL 5 มุ่งเป้าในการพัฒนาและสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้บริหารระดับกลางที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้นำในระดับสูง เพื่อสร้างทักษะและแนวทางในการวางรากฐานการคิดนวัตกรรมนโยบาย และส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายรวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของกระทรวง อว. ที่มีหน้าที่ผลักดันให้เกิดนโยบายนวัตกรรม และส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมจากการรวมตัวกันของเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้สามารถสร้างสรรค์ผลผลิตที่เป็นนโยบายนวัตกรรมพร้อมผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาเชิงระบบ ตลอดจนสร้างให้มีนวัตกรรมต่อได้ในอนาคต 

ทั้งมิติความต่อเนื่องของนวัตกรรม และมิติเครือข่ายความร่วมมือในการช่วยกันคิด วิเคราะห์ ทดลอง แบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ ความชำนาญ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนบทเรียนกันอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานในประเทศมีทรัพยากรที่ต่างกัน จึงจำเป็นต้องร่วมกันพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนโยบายให้เกิดขึ้นได้ และพร้อมที่จะขับเคลื่อนกันต่อไป ข้อเสนอนวัตกรรมนโยบายที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้ในหลักสูตร ถือเป็นผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรนี้ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนและสามารถนำไปช่วยแก้ปัญหาสำคัญของประเทศได้ด้วยนวัตกรรม”


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “ระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็งนั้นจะต้องมีเครือข่ายนวัตกร และองค์กรแห่งนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพนวัตกรรมของเครือข่ายและสมาชิกจากภาคส่วนต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Changemaker) จากทุกภาคส่วนทั้ง ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคความมั่นคง ภาคการเมือง และสื่อมวลชน ในระดับนโยบาย ผ่านหลักสูตรที่ใช้แนวคิดนวัตกรรมเพื่อออกแบบและวางแผนการจัดการเชิงนโยบาย โดยอาศัยแนวทางการคาดการณ์และการคิดเชิงอนาคต ร่วมกับหลักการออกแบบนโยบายที่เข้าใจบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อสร้างแนวปฏิบัติของความร่วมมือรูปแบบใหม่”

“หลักสูตร PPCIL เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2562 มีผู้ผ่านการเข้าร่วมอบรมแล้วทั้งสิ้น 391 ราย จาก 234 หน่วยงาน นับว่าหลักสูตรได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยในปีนี้มีผู้นำจากภาคส่วนต่าง ๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมหลักสูตรจำนวนทั้งสิ้น 84 ราย แบ่งเป็น ภาครัฐ จำนวน 31 ราย ภาคเอกชน จำนวน 39 ราย ภาคความมั่นคง จำนวน 3 ราย ภาคการเมือง จำนวน 3 ราย ภาคสื่อสารมวลชน จำนวน 4 ราย และสมาคมวิชาชีพองค์กรอิสระ จำนวน 4 ราย ซึ่งนอกจากผู้เข้าอบรมจะได้รับองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมในมิติต่าง ๆ แล้ว ยังได้โอกาสในการพัฒนาและสร้างศักยภาพให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีแนวความคิดเชิงนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านการร่วมรังสรรค์ข้อเสนอนวัตกรรมนโยบาย ซึ่งได้ผลสัมฤทธิ์ออกมาจำนวน 5 ข้อเสนอนวัตกรรมนโยบาย


ครอบคลุม 4 ประเด็น ประกอบด้วย (1) นวัตกรรมกำลังคน – การสร้างกลไกให้ภาคอุดมศึกษา ได้ส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้เชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน (2) นวัตกรรมสังคม – ลดความเหลื่อมล้ำช่วยส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในกลุ่มคนจนเมืองในหลากหลายมิติ (3) นวัตกรรมด้านสาธารณสุข – เพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากโรคไม่ติดต่อ เพราะการป้องกันโรคดีกว่าการรักษาโรค ใช้เทคโนโลยีให้ความรู้ด้านสุขภาพ แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ และ (4) นวัตกรรมเศรษฐกิจ – มุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาเชิงพื้นที่ ยกระดับเมืองด้วยการสร้างโอกาส กระจายอำนาจ พัฒนาท้องถิ่นให้การเติบโตและมั่งคงทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน”

“จะเห็นได้ว่า ทั้ง 4 ประเด็นนี้ล้วนสะท้อนถึงประเด็นความท้าทายของประเทศไทย ทั้งนี้ NIA ภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมนโยบายจากทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับพัฒนาการของประเทศไทย ซึ่งจะมีผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อการส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติที่แข็งแกร่ง ตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และนำไปสู่เป้าหมายในการผลักดันประเทศไทยไปสู่อันดับ 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก NIA คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากผู้เข้าร่วมอบรม PPCIL รุ่นที่ 5 จะถูกนำไปต่อยอดและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป” ดร.กริชผกา กล่าวสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น