xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักน้ำไม่พอใช้ เอลนีโญเริ่มแผลงฤทธิ์ วอนชาวนางดทำนาปีต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมชลประทานย้ำ น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยารวมกันแค่ 41% ของความจุอ่างฯ คาด ก.ย.-ต.ค.สถานการณ์เอลนีโญรุนแรงขึ้น หนักสุด เม.ย.ปีหน้า เร่งรณรงค์ชาวนางดทำนาปีต่อเนื่อง และช่วยกันกักเก็บน้ำตามแหล่งธรรมชาติเป็นแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้ง

วันนี้ (5 ก.ย.) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ พบว่าปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,470 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน


เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,153 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 41% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ขณะนี้มีการจัดสรรน้ำทั่วประเทศไปแล้ว 14,238 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 96% ของแผน เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 5,706 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 104% ของแผน ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศไปแล้ว 14.96 ล้านไร่ คิดเป็น 88% ของแผน เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 2.84 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.49 ล้านไร่ คิดเป็น 93% ของแผน เก็บเกี่ยวไปแล้ว 2.53 ล้านไร่ ส่วนสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ






จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าสถานการณ์เอลนีโญจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. ถึง ต.ค. และมีแนวโน้มส่งผลยาวต่อเนื่องไปจนถึงเดือน เม.ย. 2567 โดยคาดการณ์ว่าในวันที่ 1 พ.ย.จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศรวมกันประมาณ 21,160 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,803 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ปริมาณน้ำดังกล่าวนี้จะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต สอดคล้องสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด

ที่สำคัญ ให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงผลกระทบจากสภาวะเอลนีโญและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดทำนาปีต่อเนื่อง ด้วยปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ ตลอดจนรณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันเก็บกักน้ำไว้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แก้มลิง บ่อ อาคารชลประทานที่ได้รับการถ่ายโอนแล้ว หรือแม้แต่ภาชนะสำรองน้ำภายในครัวเรือนไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า กรมชลประทานได้ออกสื่อประชาสัมพันธ์ระบุว่า "จากสถานการณ์เอลนีโญ ปีนี้ น้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีน้อยมาก ขอความร่วมมือเกษตรกร 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย"
กำลังโหลดความคิดเห็น