xs
xsm
sm
md
lg

“แล้ง” กลาง “ฤดูฝน” ประเทศไทยเตรียมเจอภัยแล้งหนัก “น้ำในเขื่อน” เหลือน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ ... ภัยแล้งประเทศไทย 2566-2567 EP.1

“9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คือ เป้าหมายที่เราต้องมีน้ำเหลือใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้มีน้ำใช้ถึงเดือนเมษายน 2567 แต่ตอนนี้เรามีน้ำอยู่แค่ประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร”

“ปริมาณน้ำฝนแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เยอะเลยครับ ทั้งที่ปรากฏการณ์เอลนีโญเพิ่งเข้ามาได้เพียง 2 เดือน ทำให้เรามีน้ำเหลือในเขื่อนน้อยกว่าที่คิดไว้ค่อนข้างเยอะ อาจจะพอบริหารได้แค่ในหน้าแล้งรอบนี้ แต่อย่าลืมนะครับว่า เราจะยังต้องเจอเอลนีโญต่อไปอีกหนึ่งปี”

บทสนทนานี้มาจากนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำคนหนึ่ง ที่ยอมรับว่า ภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญไปอีกหลายเดือนหลังจากนี้ อาจจะอยู่ในสถานะที่เลวร้ายกว่าที่เคยคาดกันไว้มาก

นักวิเคราะห์รายนี้ ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปีนี้ ส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะโดยปกติแล้ว ช่วงต้นของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ จะยังมีเวลาประมาณ 2 เดือนที่สภาพอากาศค่อยๆเปลี่ยนไป แต่ปีนี้ (2566) นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทะเลเปลี่ยนจากลานีญาเป็นเอลนีโญอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ฝนทิ้งช่วงไปเร็วมาก มีฝนน้อยกว่าที่คิด แม้แต่พายุฤดูร้อนซึ่งเนความหวังว่าจะเข้ามาช่วยเติมน้ำในเขื่อนได้บ้าง ก็เกิดขึ้นน้อยมาก และแทบไม่ช่วยเพิ่มน้ำในเขื่อนใหญ่เลย

“เรายังไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังนะครับว่า ที่มีฝนน้อยมากในปีนี้เป็นเพราะลานีญาเปลี่ยนเป็นเอลนีโญอย่างรวดเร็วตามที่เราตั้งข้อสังเกตกันไว้หรือไม่ แต่หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในอดีต เราจะพบว่า หากในปีก่อนหน้านั้นมีสถานการณ์น้ำท่วม เราจะยังคงมีน้ำต้นทุนที่อยู่ในมวลดินไหลลงมาเติมในเขื่อนต่างๆมากพอสมควร เช่น หลังน้ำท่วมปี 2554 หรือ 2560 แต่พอมาดูในปี 2566 ซึ่งมีสถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 เช่นเดียวกัน เรากลับมีน้ำไหลลงมาเติมในเขื่อนแค่ในช่วงเดือนมกราคมเท่านั้น หลังจากนั้นก็แทบไม่เลย”

“ส่วนที่เราหวังน้ำฝนจากพายุฤดูร้อนในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ก็ปรากฎว่า มีพายุฤดูร้อนพัดเข้ามาในไทยน้อยมาก คือที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่ อ.สบเมย จ.ตาก ที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และที่ จ.นครพนม ซึ่งพายุมีลักษณะมาเป็นวูบๆแล้วก็หายไป ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เหล่านั้น แต่มีเพียงฝนที่ จ.น่าน เพียงจุดเดียวที่ทำให้เราได้น้ำมาเติมในเขื่อนสิริกิติ์ อยู่มระมาณ 2 วัน วันละประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร”

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่นักวิเคราะห์คนนี้ พยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยได้รับน้ำฝนน้อยมาก ก็คือ แทบไม่มีฝนที่ภาคตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ทั้งที่โดยปกติแล้ว จะเป็นพื้นที่ที่อาจมีสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงฤดูฝน โดยเขาค้นพบว่า มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงเส้นทางของลมมรสุม

“โดยปกติแล้ว ที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด จะได้ฝนจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นักอุตุนิยมวิทยาจะรู้กันดีว่า เมื่อมีฝนตกที่ จ.ระนอง ลมมรสุมก็พัดผ่านอ่าวไทยเข้ามาถึงที่จันทบุรีและตราด แต่พอเราไปศึกษาเส้นทางของลมมรสุมในปีนี้ เรากลับพบว่า เมื่อลมตะวันตกเฉียงใต้พัดมาถึงอ่าวไทยแล้วกลับเลี้ยวออกไปเข้าที่ประเทศเวียดนาม บริเวณแหลมญวน เพราะปัจจัยเดิมที่ช่วยดึงลมตะวันตกเฉียงใต้มาที่จันทบุรี คือ หย่อมความกดอากาศต่ำที่เคยเกิดขึ้นทุกปีที่บริเวณอ่าวตังเกี๋ยกลับหายไปเลยในปีนี้ ทำให้เราไม่ได้น้ำที่ภาคตะวันออกในปีนี้อีกด้วย”

“ผมมีความเป็นห่วงสถานการณ์ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด” นักวิเคราะห์แสดงความกังวล

ดังนั้นหากเรากลับมาดูที่สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เราจะพบว่า ทั้ง 4 เขื่อน เหลือปริมาณน้ำที่ใช้การได้ “น้อยมาก” แม้จะอยู่ในฤดูฝนก็ตาม


นี่เป็นข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งนักวิเคราะห์ข้อมูลน้ำคนนี้ หยิบยกขึ้นมาอธิบายเหตุผลที่เขาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์น้ำของลุ่มเจ้าพระยา เพราะจะเห็นได้ว่า ทั้ง 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำที่ยังใช้การได้เหลืออยู่น้อยมาก และมีเพียงเขื่อนสิริกิติ์แห่งเดียวที่ยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากกว่าปริมาณน้ำที่ต้องระบายออก โดยเฉพาะหากเจาะลึกลงไปยังข้อมูลของเขื่อนที่สำคัญที่สุด คือ เขื่อนภูมิพล จะพบข้อเท็จจริงที่น่าเป็นกังวลอย่างมาก

“ถ้าเราดูเฉพาะที่เขื่อนภูมิพล ตั้งแต่ต้นปี 2566 มาถึงวันนี้นะครับ (20 ส.ค.2566) เราจะเห็นว่า เขื่อนภูมิพล ระบายน้ำออกไปแล้ว 6700 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีน้ำเข้าเขื่อนแค่ประมาณ 900 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง หมายความว่า เขื่อนใหญ่ที่สุดของลุ่มเจ้าพระยา ขาดทุนปริมาณน้ำไปถึง 5600 ล้านลูกบาศก์เมตรในรอบ 8 เดือน”

“ผมไปดูข้อมูลน้ำรายวันย้อนหลังมาตลอด 8 เดือน เห็นเลยครับว่า มีแค่ 2 วัน ที่น้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลเกิน 30 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกนั้นขาดทุนทุกวัน ดังนั้นตอนต้นปีที่มีน้ำอยู่ชิดขอบบนของเขื่อน (Higher Curve) มาถึงตอนนี้ ระดับน้ำในเขื่อนต่ำกว่าขอบล่าง (Lower Curve) ไปแล้ว ทั้งที่เราอยู่ในฤดูฝนนะครับ”

“ข้อมูลที่สำคัญมากๆ คือ เราตั้งเป้าหมายว่า เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน คือ 31 ตุลาคม 2566 เราจะต้องมีปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาให้ได้ถึง 9000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ไปให้ถึง 30 เมษายน 2567 แต่ ณ วันนี้เรายังมีน้ำอยู่แค่ 3571 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง และเหลือความหวังที่จะได้น้ำมาเพิ่มจากพายุในช่วงเดือนกันยายนนี้เท่านั้น ... นี่ยังไม่รวมว่า หลังเมษายนปีหน้า เราจะยังต้องเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ เอลนีโญ ต่อไปอีกหนึ่งปีนะครับ ซึ่งหมายความว่า จริงๆแล้ว ถึงเราจะหาน้ำมาเพิ่มจนถึง 9000 ล้านฯได้จริง ก็มีใช้ถึงแค่เมษายนปีหน้าเท่านั้นเอง”


นักวิเคราะห์รายนี้ ยังเปิดเผยข้อมูลสำคัญอีกหนึ่งเรื่อง ที่อาจทำให้สถานการณ์น้ำในภาคกลางของไทยย่ำแย่ลงไปกว่านี้อีกด้วย

“เพราะมีเอลนีโญ ทำให้ปีนี้ อินเดีย เขาประกาศงดส่งออกข้าวไปในตลาดโลกครับ นั่นทำให้ข้าวเปลือกไทยมีราคาพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปถึงตันละ 9,000-1,0000 บาทแล้ว ข่าวสำคัญก็คือ ในขณะนี้ ชาวนาไทย เริ่มปลูกข้าวรอบที่ 2 กันเต็มพื้นที่แล้วครับ ... แม้จะรู้ว่า เราไม่มีน้ำก็ตาม”


ในสถานการณ์ภัยแล้งเช่นนี้ ประเทศไทย ควรทำอย่างไร ยิ่งในสภาวะที่สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่แน่นอน การจะนำงบประมาณกลางที่เป็นงบฉุกเฉินมาแก้ปัญหาก็กลายเป็นเรื่องยาก ติดตามบทวิเคราะห์ต่อไปใน ภัยแล้งประเทศไทย 2566-2567 EP.2

กำลังโหลดความคิดเห็น