xs
xsm
sm
md
lg

โจทย์ยากกว่าน้ำท่วม รัฐบาลใหม่ ต้องเร่งติดตามแก้ไขภัยแล้ง ก่อนเกิด “สงครามแย่งชิงน้ำ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ ... ภัยแล้งประเทศไทย 2566-2567 EP.2

“ถึงตอนนี้ เราเหลือเพียงความหวังเดียวสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เราต้องหวังให้ช่วงปลายเดือนสิงหาคมไปถึงเดือนกันยายน เราจะได้ฝนมากพอที่จะทำให้มีน้ำสะสมใน 4 เขื่อนหลักเพิ่มไปถึง 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากตอนนี้ที่มีอยู่แค่ประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะนี่เป็นน้ำต้นทุนที่เราต้องใช้ยาวไปถึงเดือนปลายเดือนเมษายน 2567 เป็นอย่างน้อย ยังไม่นับว่าในปีหน้าจะยังมีปรากฏการณ์เอลนีโญต่อไปอีกหนึ่งปี”

“ถ้าจะพูดกันตรงๆนะครับ ตอนนี้เราคาดการณ์ว่า แม้จะมีฝนหรือพายุเข้ามาพิ่มในอีก 2 เดือนที่เหลือของฤดูฝน เราอาจจะได้น้ำสะสมใน 4 เขื่อนหลักอย่างมากที่สุดแค่ประมาณ 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งนั่นถือเป็นวิกฤต เพราะแค่จะใช้ให้พอไปถึงเดือนเมษายนปีหน้า ก็ทำได้ยากมากๆ อยู่แล้ว”


อ่านประกอบ : ภัยแล้งประเทศไทย 2566-2567 EP.1 “แล้ง” กลาง “ฤดูฝน” ประเทศไทยเตรียมเจอภัยแล้งหนัก “น้ำในเขื่อน” เหลือน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

การคาดการณ์ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำคนหนึ่ง ชี้ให้เห็นความน่ากังวลของสถานการณ์น้ำในประเทศไทย ซึ่งเขามองว่า จะเกิดวิกฤตภัยแล้งรุนแรงในปี 2567 เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566-2567 และสามารถเก็บกักน้ำในช่วงเวลาตั้งต้นปี 2566 ที่ผ่านมาได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ดังนั้นเขาจึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนแผนรับมือภัยแล้งรุนแรงที่กำลังจะมาถึง ก่อนที่จะเกิดการแย่งชิงน้ำกันระหว่างน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคกับน้ำเพื่อการเกษตร

“อย่างที่บอกไปว่า เอลนีโญทำให้ปีนี้อินเดียประกาศงดส่งออกข้าวไปแล้ว และชาวนาไทยในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางก็เริ่มปลูกข้าวรอบที่ 2 กันแล้ว เนื่องจากข้าวมีราคาสูงขึ้นมาก แต่เรากำลังอยู่ในภาวะที่มีน้ำไม่เพียงพอยาวไปจนถึงปีหน้า มีคำถามใหญ่ๆตามมาด้วยว่า ถ้ามีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นมาเร็วๆนี้ รัฐบาลจะกล้าประกาศบอกชาวนาว่าห้ามปลูกข้าวมั้ย และถ้าปล่อยให้ปลูก จะบริหารจัดการน้ำที่มีน้อยมากๆอยู่แล้วได้อย่างไร”

นักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เปิดเผยด้วยว่า ในขณะนี้หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ กำลังจัดทำแผนจัดการน้ำใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงช่วงหน้าแล้งของปี 2567 ต่อไปถึงต้นปี 2568 โดยจะมีข้อเสนอว่าต้องควบคุมปัจจัยการใช้น้ำอะไรบ้าง ต้องออกมาตรการอย่างไรที่เข้มข้นกว่าเดิมบ้าง จะลดการสูญเสียน้ำไปโดยไม่จำเป็น เช่น น้ำที่เสียไปจากประปาที่รั่วได้อย่างไร จะมีวิธีการในการเก็บน้ำเพิ่มากฝนที่ตกท้ายเขื่อนต่างๆไว้ใช้ได้อย่างไร รวมถึงจะต้องไปเจรจาหาทางออกร่วมกับเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกและหาตลาดมารองรับผลิตผลอื่นๆที่ไปส่งเสริมให้เขาปลูกได้อย่างไร โดยจะเชิญทุกภาคส่วนมาหารือร่วมกันในวันที่ 1 กันยายนนี้ เพราะการจะดำเนินการตามมาตรการข้อเสนอเหล่านี้ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่หนน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องน้ำเท่านั้น และที่สำคัญ คือ ต้องมีข้อสรุปเรื่องแนวทางการใช้งบประมาณด้วย

“ที่ผ่านมาก็มีปัญหานะครับ เพราะโดยปกติแล้วเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น งบประมาณที่จะถูกนำมาใช้แก้ปัญหาก็คือ งบกลาง แต่ในขณะที่เราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลยังไม่สำเร็จ ทำให้เกิดปัญหาในการใช้งบกลางอยู่พอสมควร มีทั้งที่ยังไม่กล้าเสนอให้ใช้ และมีทั้งที่ถูกเสนอขอใช้งบประมาณไปแล้วแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ”

“และที่เป็นปัญหาเช่นนั้น เพราะภัยพิบัติที่เรากำลังเผชิญ คือ ภัยแล้ง ซึ่งมันแตกต่างจากน้ำท่วม จากหลักเกณฑ์ที่เราใช้อยู่การจะประเมินว่าพื้นที่ไหนสมควรจะถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติภัยแล้งจะต้องเห็นผลเป็นภาพกว้างของทั้งลุ่มน้ำ และหากจะขอใช้งบกลางก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ แต่เนื่องจากในตอนนี้ ยังประสบปัญหาแล้งแยกย่อยเป็นจุดๆ เท่านั้น”

แต่หากไปดูหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งอย่างละเอียด นักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำรายนี้ ระบุว่า จริงๆแล้วมีหลักเกณฑ์ที่สามารถขอใช้งบฉุกเฉินได้ โดยหลักเกณฑ์นี้ระบุว่า .... หากมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าจะเกิดภัยแล้งขึ้น คณะกรรมการลุ่มน้ำ สามารถเสนอขอใช้งบฉูกเฉินได้ โดยให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งล่วงหน้า ... แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยถูกนำมาใช้ เพราะต้องเสนอกลับไปให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ

“ที่ไม่มีใครกล้าเสนอขอใช้งบกลาง ก็อาจเป็นเพราะว่า มันเป็นภัยแล้งด้วยครับ โจทย์มันยากกว่าน้ำท่วมที่เราสามารถเอางบประมาณมาทำงานด้านการป้องกันน้ำล่วงหน้าได้ แต่พอเป็นภัยแล้ง ถึงของบประมาณมาได้ บางพื้นที่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาทำอะไร เพราะเนรมิตให้มีน้ำเพิ่มมากขึ้นไม่ได้ บ่อบาดาลก็ขุดกันไปจนพรุนหมดแล้ว ที่ผมเห็นว่าพอจะได้ได้ ก็คือ การจ้างเกษตรกรให้งดเพาะปลูกข้าว เปลี่ยนมาเป็นการทำงานขุดลอกแหล่งน้ำ ให้มีที่เก็บน้ำจากฝนที่ตกลงมาท้ายเขื่อนมากขึ้น หรือทำเอ่งเก็บน้ำเป็นเหมือนหลุมขนมครกจำนวนมาก ซึ่งแม่แต่พื้นที่อย่าง กทม.และปริมณฑลก็พอทำได้”

“จริงๆ งบประมาณกลาง สามารถนำมาใช้สำหรับการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำก็ได้นะครับ แต่ในปีนี้ต้อบอกตรงๆ ว่า ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะไปดึงน้ำจากลุ่มน้ำไหนมาช่วยเจ้าพระยาได้ เพราะลุ่มน้ำอื่นก็ไม่มีน้ำเหมือนกัน”

กำลังโหลดความคิดเห็น