"หมอธีระ" เตือน “โอมิครอน EG.5.1” อาจระบาดหนักช่วงปลายปี เหตุมีสมรรถนะในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันมากขึ้นไปกว่าสายพันธุ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ แม้เคยติดเชื้อมาก่อนเชื้อก็ยังดื้อต่อภูมิคุ้มกัน
วันนี้ (6 ส.ค.) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ออกมาโพสต์ข้อความกล่าวถึง “โอมิครอน EG.5.1” ที่คาดว่าจะมาแรงในช่วงปลายปี หลังพบว่าขณะนี้ยอดติดเชื้อทั่วโลกพุ่ง แซงหน้าสายพันธุ์ย่อยชนิดอื่น ทั้งนี้ “หมอธีระ” ได้ระบุข้อความว่า
“ว่าด้วยเรื่อง EG.5.1 ม้าตัวเต็งที่อาจนำการระบาดปลายปีนี้
เป็นสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์ต่อยอดมาจาก XBB.1.9.2 หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า XBB.1.9.2.5.1
เปรียบแล้วก็เป็นเหมือนเหลนของ XBB และเป็นหลานของ XBB.1.9 อะไรประมาณนั้น
สิ่งที่ทำให้ EG.5.1 เป็นที่กังวลของทั่วโลกขณะนี้คือ การที่มีอัตราการตรวจพบเพิ่มขึ้นเร็วกว่าสายพันธุ์ต่างๆ ที่ระบาดมาก่อนหน้า ทั้ง XBB.1.5, XBB.1.16, รวมถึง XBB.1.9.1/1.9.2
จนถึงนาทีนี้ ข้อมูลชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นไปตามที่คาดกันไว้
ข้อมูลจาก US CDC ล่าสุดประเมินว่าจนถึง 5 สิงหาคม 2566 นั้น Omicron สายพันธุ์ย่อย EG.5.1 ครองสัดส่วนการตรวจพบสูงสุดที่ 17.3% แซงหน้าสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ เช่น XBB.1.16 (15.6%), XBB.2.3 (11.2%), XBB.1.5 (10.3%)
ในขณะที่ UK HSA ออกรายงานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า EG.5.1 นั้นก็ครองสัดส่วนการตรวจพบในสหราชอาณาจักร 12% แล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ภาพรวมตอนนี้ พบราว 20% ในเอเชีย 10% ในยุโรป 7% ในทวีปอเมริกาเหนือ (ยกเว้นในอเมริกาที่สูงไปถึง 17.3%)
...เหตุใด EG.5.1 จึงนำตัวอื่นๆ?
ข้อมูลล่าสุดเมื่อคืนนี้ จาก Cao YR มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชี้ให้เห็นว่า EG.5.1 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ตำแหน่ง F456L ซึ่งทำให้มีสมรรถนะในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันมากขึ้นไปกว่าสายพันธุ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้
ที่น่าสนใจคือ แม้ทดสอบด้วยภูมิคุ้มกันในซีรัมของคนที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ XBB มาก่อน ก็พบว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันเช่นกัน
นอกจากนี้ Cao YR ยังทำการศึกษาพบว่า สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง F456L ร่วมกับ L455F นั้น ก็ต้องมีการติดตามเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน เพราะมีสมรรถนะทำให้ทั้งดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น และจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายได้แน่นขึ้นอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น หรือป่วยรุนแรงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ตัวที่น่าจับตามองที่สุดตอนนี้คือ EG.5.1 เพราะชัดเจนว่าระบาดมากขึ้นทั่วโลก
...ปัจจัยทั้งเรื่องไวรัสที่พัฒนาสมรรถนะมากขึ้น ประกอบกับเงื่อนเวลาที่เรามักมีแนวโน้มเหมือนประเทศอื่นๆ ใน 6-10 สัปดาห์ และตารางกิจกรรม เทศกาลต่างๆ ช่วงปลายปี
หลังจากตุลาคมเป็นต้นไป ก็อาจมีโอกาสที่จะเกิดปะทุขึ้นมาได้
ควรดำรงชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ
ระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
สุขสันต์วันสุดสัปดาห์ครับ”