xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 23-29 ก.ค.2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1. "อุ๊งอิ๊ง" เผย "ทักษิณ" จะกลับไทย 10 ส.ค.นี้ "วิษณุ" ชี้ ยื่นขออภัยโทษได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าห้องขัง ด้าน "ชูวิทย์" อ้าง ทักษิณจะยังไม่กลับ เหตุผิดแผน "อุ๊งอิ๊ง" ตอกกลับ เพ้อเจ้อ!

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้โพสต์ภาพคู่กับนายทักษิณ ชินวัตร บิดา ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว พร้อมระบุว่า “26 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของลูกเสมอ แต่ปีนี้ลูกยังไม่อยากเชื่อตัวเอง ในสิ่งที่ลูกกำลังจะพิมพ์ พ่อจะกลับมาแล้ว วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่สนามบินดอนเมือง

17 วันเกิดที่ต่างประเทศของพ่อ ลูกพลาดไปแค่ 2 ครั้ง ถ้ารวมครั้งปีนี้คือครั้งที่ 3 เพราะต้องเตรียมหลายอย่างที่เมืองไทย ใจของลูกและทุกคนในครอบครัวเราหนักอึ้ง ทั้งดีใจ ทั้งเป็นห่วง แต่ก็เคารพการตัดสินใจของพ่อเสมอ ลูกขอให้บุญรักษานะคะ ให้พ่อของลูกแข็งแรงปลอดภัย ได้มาส่งหลานๆ ไปโรงเรียนบ่อยๆ เหมือนที่พ่อตั้งใจไว้ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายใจดีกับพ่อของลูก เหมือนที่พ่อใจดีกับทุกคนเสมอ รักพ่อที่สุดในโลก

สำหรับพี่น้องที่อ่านมาถึงตรงนี้ คุณพ่อเป็นคนไทยคนหนึ่ง เป็นนายกฯ ที่ถูกพูดถึงว่ามีผลงานมากที่สุด และประสบชะตากรรม ถูกกระทำแสนสาหัส การตัดสินใจกลับบ้านครั้งนี้ เป็นสิ่งที่คุณพ่อพูดอย่างจริงจังต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2565 แม้จะอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และในฐานะคนไทยคนนึง แต่คำนึงถึงอย่างที่สุด ต่อความสบายใจ และกังวล ห่วงใย ของทุกคนค่ะ พร้อมแฮชแท็ก #74yearsyoung ##tonywoodsome”

วันต่อมา (27 ก.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายทักษิณ จะเดินทางกลับไทย ขั้นตอนจะเป็นอย่างไรว่า ตนยังตอบไม่ถูก ต้องถามกระทรวงยุติธรรม เพราะเขาต้องเตรียมดําเนินการในเรื่องนี้ แต่ถ้าตนทราบอะไรแล้วจะแจ้งให้ทราบ

เมื่อถามว่า เมื่อนายทักษิณเดินทางมาแล้ว ก็มีโอกาสที่จะขอพระราชทานอภัยโทษใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของผู้ต้องขังทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่เงื่อนไขคือ ต้องอยู่ระหว่างการรับโทษ เมื่อรับโทษแล้ว สามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ตั้งแต่วันแรก เพียงแต่ต้องรับโทษเข้าห้องขังก่อน โดยตามขั้นตอนแล้ว เมื่อนายทักษิณเดินทางมาถึง กรมราชทัณฑ์จะมารับตัวและนําไปรับหมายศาลที่ศาล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปฟังคำพิพากษาที่ศาล เพราะศาลตัดสินไปแล้ว จบไปแล้ว

ส่วนคดีที่เหลือก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งคดีที่นายทักษิณต้องคำพิพากษาที่ถึงที่สุดไปแล้ว 3 คดี คดีหนึ่งจําคุก 2 ปี อีกคดีหนึ่งจําคุก 3 ปี ส่วนอีกคดีจําคุก 5 ปี รวมทั้งหมดเป็น 10 ปี แต่จะเหลืออีกกี่คดีตนไม่ทราบ และไม่ทราบว่ามีคดีไหนที่หมดอายุความไปแล้วบ้าง เพราะทราบว่ามีทั้งคดีที่หมดอายุความไปแล้ว และมีที่ยังไม่ได้ฟ้องอีก แต่เป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างกรณีหลบหนีออกนอกประเทศ ก็ต้องถูกฟ้อง ซึ่งเป็นอีกข้อหาหนึ่ง แต่ยังไม่ได้มีการฟ้อง ซึ่งเขาอาจจะฟ้องหรือไม่ก็ได้หลังจากที่ได้ตัวกลับมา

ผู้สื่อข่าวถามถึงขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อนายทักษิณเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ถ้าพร้อม ก็สามารถดำเนินการขอได้เลย ซึ่งต้องมีการเขียนฎีกา อธิบายกันยืดยาวพอสมควร เพราะถ้ายื่นไปแล้วไม่โปรดเกล้าฯ ลงมา ก็จะไม่สามารถยื่นได้อีกภายใน 2 ปี เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดี

เมื่อถามว่า ครอบครัวมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของนายทักษิณ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนได้กำชับเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ว่า ให้ดูแล 3 เรื่องเป็นพิเศษ ได้แก่ 1.ความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้อาจทำให้นายทักษิณได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากนักโทษคนอื่น เพราะนักโทษคนอื่นไม่มีปัจจัยเสี่ยงตรงนี้

2.ให้มีความสะดวกตามสมควร ไม่ถึงขนาดสะดวกมากจนเป็นอภิสิทธิ์อะไร แต่ต้องสะดวก เพราะจะมีคนเข้าเยี่ยม โดยคาดหมายว่าจะมีองค์การระหว่างประเทศ หรือองค์กรสิทธิมนุษยชน มีแฟนคลับและมวลชนเยอะ ดังนั้นก็ให้มีความสะดวกพอสมควร 3.ให้มีความสบายพอสมควร ไม่ถึงขนาดให้สบายมากนัก แต่สบายในที่นี้เพราะอายุเกิน 70 ปี และป่วย ก็ต้องมีอะไรที่ไม่เหมือนคนอายุ 25-30 ปี

เมื่อถามอีกว่า การที่นายทักษิณอายุ 74 ปี จะมีสิทธิพิเศษอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มี 1.พวกอายุ 70 ปีขึ้นไป 2.พวกที่ป่วย ก็จะมีสิทธิพิเศษอะไรบางอย่าง ซึ่งตรงนี้นักโทษทุกคนจะเสมอกันหมด

ด้านนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองและเจ้าของธุรกิจอาบอบนวด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อคืนวันที่ 28 ก.ค.ทำนองว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ได้ยกเลิกแผนการเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 ส.ค.นี้แล้ว เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยน และสัญญาณอันตรายเกินคาดเดา

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย บุตรสาวนายทักษิณ ได้ตอบคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กในลักษณะตอกกลับนายชูวิทย์ว่า “เพ้อเจ้อ”

ล่าสุด (29 ก.ค.) นายชูวิทย์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับนายทักษิณอีกครั้ง โดยยังคงยืนยันว่า นายทักษิณยกเลิกการกลับไทยในวันที่ 10 ส.ค.นี้ เนื่องจากผิดแผน ใครที่คิดว่านายทักษิณจะกลับในวันดังกล่าวถือว่าคิดผิด ไม่รู้ใจนายทักษิณ หากจะกลับจริงคงคิดได้ไปนานแล้ว ไม่รอ 15-16 ปี

ทั้งนี้ นายชูวิทย์อ้างว่า สาเหตุที่นายทักษิณยกเลิกการเดินทางกลับในวันที่ 10 ส.ค. เพราะไม่มั่นใจว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ แม้ว่านักโทษเด็ดขาดทุกคนมีสิทธิยื่นขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคลได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีใครได้ ยกเว้นคดีกระทำผิดต่อพระองค์ เช่น คดีตามมาตรา 112 เท่านั้น ส่วนคดีทุจริต ปล้น ฉ้อโกง ทุกคดี ไม่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคล หากมีใครไปบอกนายทักษิณว่าทำได้ ก็ต้องเป็นแผนหลอกให้นายทักษิณเคลิ้ม ตอนนี้จึงขอถอยไปตั้งหลักก่อน ยกเลิกแผนกลับไทยไม่มีกำหนด จนกว่าจะตั้งรัฐบาลลงตัว

ส่วนกรณีที่ น.ส.แพทองธารบอกว่าเพ้อเจ้อนั้น นายชูวิทย์ ระบุว่า ตนไม่โกรธ เข้าใจดีว่า น.ส.แพทองธารอยากให้พ่อกลับบ้าน เป็นเรื่องของความกตัญญู แต่ตนพูดในฐานะคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น

2."วันนอร์" นัดโหวตนายกฯ รอบสาม 4 ส.ค.นี้ หลังรู้ผลศาล รธน. 3 ส.ค. จับตาประชุม 8 พรรคร่วมฯ หลัง สส.-สว.ไม่หนุนแก้ ม.112-ไม่เอาก้าวไกล!


เมื่อวันที่ 24 ก.ค. พ.ต.ท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่า หลังการประชุมสมาชิกรัฐสภาเพื่อพิจารณาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 แต่ที่ประชุมรัฐสภามีมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวถือเป็นญัตติซ้ำ ตามที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 41 กำหนดห้ามไว้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกรัฐสภาและประชาชนรวม 17 คำร้องเรียน โดยผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

ซึ่งที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการประชุมปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันว่า รัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย ถือเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ และการกระทำของรัฐสภาในการลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

"การกระทำของรัฐสภาในการลงมติวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรง โดยผู้ร้องเรียนเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามหมวด 3 ว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หากการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ และมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน"


พร้อมกันนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญประกอบมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561

วันต่อมา (25 ก.ค.) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ก่อนมีคำสั่งงดการประชุมรัฐสภาวันที่ 27 ก.ค. ซึ่งเดิมกำหนดให้เป็นวันที่จะโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งใดๆ ในภายหลัง

ทั้งนี้ วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยได้เลื่อนการประชุมแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เผยว่า ได้รับแจ้งจากเพื่อไทยว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมาย มีไม่มากเท่าที่ควร ส่วนจะมีการนัดหมายกันอีกครั้งเมื่อไร ทางพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้แจ้ง นายชัยธวัช ยังเชื่อด้วยว่า "ตราบใดที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจับมือกันแน่น รัฐบาลเสียงข้างน้อยจะไม่มีทางเกิดขึ้น และถึงที่สุด สว.อาจจะมีวิจารณญาณทำตามเสียงประชาชน"

เมื่อถามว่า หากถึงที่สุดพรรคก้าวไกลต้องเสียสละไปเป็นฝ่ายค้าน จะเลือกเดินออกไปเองหรือให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เชิญออก นายชัยธวัช ตอบว่า หากเมื่อถึงสถานการณ์นั้นจริง เป็นสิทธิ์ของพรรคเพื่อไทยที่จะต้องเลือก ส่วนสิ่งที่พรรคก้าวไกลเลือก พยายามทำให้ดีที่สุด ให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ตามเสียงของประชาชน

มีรายงานว่า แกนนำคนสำคัญของพรรคก้าวไกล ที่เคยมีบาทบาทช่วยหาเสียงให้พรรค ได้เดินทางไปเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฮ่องกง โดยมีรายงานว่า การพบครั้งนี้ พรรคก้าวไกล จะปิดสวิตช์การแก้ไขมาตรา 112 ในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยจะร่วมเป็นรัฐบาลภายใต้แกนนำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคาดว่าวิธีนี้จะทำให้ สว. ยอมรับและลงคะแนนเสียงให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยได้ ซึ่งสื่อบางสำนักได้มีการเปิดชื่อเที่ยวบินที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางไปฮ่องกงและกลับจากฮ่องกงกลับไทย ขณะที่นายธนาธร ไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธการเดินทางไปพบนายทักษิณแต่อย่างใด

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์คลิปให้สัมภาษณ์สดสำนักข่าว CNN ในอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 26 ก.ค. โดยยังเชื่อมั่นว่า รัฐบาลสามารถจัดตั้งได้ ส่วนประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขที่หลายพรรคการเมืองไม่ต้องการร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล และอาจทำให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน นายพิธา ยืนยัน การแก้ไขมาตรา 112 เพราะอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่สังคมไทย เป็นไปตามมาตรฐานสากล

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ใช่แค่ข่าวนายธนาธรบินไปพบนายทักษิณที่ฮ่องกง แต่ยังมีแกนนำและ ส.ส.อีกหลายพรรคที่เดินทางไปพบนายทักษิณเช่นกัน เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแม้จะเป็นช่วงวันเกิดนายทักษิณ 26 ก.ค. แต่หลายฝ่ายเชื่อมโยงเรื่องการเมือง การจับมือจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย

สำหรับท่าทีของพรรคต่างๆ ต่อการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ถามว่า พรรค รทสช.กับพรรคเพื่อไทยเคยยืนคนละจุด จะสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า ตนดูว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกัน ถ้ายึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก มันก็ไปด้วยกันได้หมด พร้อมชี้ว่า วันนี้มีบางสิ่งที่อันตรายมากกว่าสำหรับประเทศ อาจเป็นเวลาที่เหมาะสมที่หลายฝ่ายจะต้องมาช่วยกันพาประเทศเดินหน้าไปอย่างมั่นคง

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เผยเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ว่า เบื้องต้นทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว และจะพิจารณาในวันที่ 3 ส.ค.นี้ ดังนั้นอาจจะให้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีรอบที่ 3 ได้ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ พร้อมเผยว่า ตนในฐานะประธานรัฐสภาไทย เตรียมเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนระหว่างวันที่ 5-11 ส.ค. นี้ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย “ผมและ สส.บางท่านไป ช่วงนั้นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมรัฐสภา ถ้ามีวาระก็ประชุมตามปกติ”

ขณะที่พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค กล่าวถึงความคืบหน้าการนัดประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หลังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เตรียมออกวาระการประชุมรัฐสภา เพื่อเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 ส.ค.ว่า เบื้องต้นจะนัดประชุม 8 พรรคร่วมในช่วงต้นเดือน ส.ค.

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทางพรรคเพื่อไทยจะได้รายงานข้อมูลที่พรรคได้ไปพูดคุย เพื่อขอเสียงสนับสนุนจากทั้ง สว. และ สส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งทั้ง สส. และ สว. ต่างมีปัญหาตรงกัน คือห้ามแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงหากพรรคก้าวไกลยังอยู่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พวกเขาก็จะไม่ให้เสียงสนับสนุน นี่คือสิ่งที่เราไปรับฟังมา และจะได้นำไปรายงานต่อที่ประชุม 8 พรรคร่วม ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทางพรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลจะหาทางออกให้เราอย่างไร ซึ่งเราอยากให้พรรคก้าวไกลได้ตัดสินใจในส่วนนี้

3. “ในหลวง” เสด็จออกมหาสมาคม ทรงขอให้ทุกคนปฏิบัติดีและถูกต้อง เป็นประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม เพื่อความเจริญมั่นคงของประเทศ-ประชาชนเป็นสุข!



เมื่อวันที่ 28 ก.ค. เวลา 10.12 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ด้านตะวันออก ในพระบรมมหาราชวัง

จากนั้นเวลา 10.26 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทางพระทวารเทวราชมเหศวร ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เจ้าพนักงานรัวกรับและเปิดพระวิสูตร เจ้าพนักงานชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญาณ ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

ขณะนั้น ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายละ 21 นัด สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประทับยืนเฝ้าฯ ด้านตะวันตกหน้าแถวพระบรมวงศานุวงศ์

ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล ตามลำดับ

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัส ความว่า "ข้าพเจ้ามีความชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ในไมตรีของท่านทั้งหลาย ที่ได้พร้อมกันมาอวยพรวันเกิดแก่ข้าพเจ้าในวาระนี้ ขอขอบพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์ และขอบใจนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ทั้งขอสนองพรและไมตรีของทุกท่านด้วยใจจริงเช่นนี้ การสร้างสรรค์จรรโลงความผาสุกมั่นคงของชาติบ้านเมือง ถือว่าเป็นกรณียกิจอันสำคัญสูงสุด นอกจากต้องอาศัยการบริหารประเทศที่ฉลาดสามารถ และสุจริตเป็นธรรมแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศด้วย

จึงขอให้ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ ซึ่งล้วนแต่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ อยู่ในสถาบันอันเป็นหลักของประเทศ รวมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้ตั้งตัวตั้งใจให้มั่นคงที่จะประพฤติปฏิบัติเฉพาะสิ่งที่ควรพิจารณาแล้วด้วยสติปัญญาและวิจารณญาณว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์แท้ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม ผลจากการประพฤติปฏิบัติของทุกคนทุกฝ่าย ก็จะประสานส่งเสริมกัน เป็นความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ และความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชน กรณียกิจสำคัญที่เราทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติ ก็จะสำเร็จผลสมบูรณ์ดังที่มุ่งหมาย ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยทุกหมู่เหล่าเคารพบูชา จงคุ้มครอง รักษาท่าน ให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย และอำนวยสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ให้สัมฤทธิ์แก่ท่านทุกเมื่อไป”

4. ศาลฎีกานักการเมือง วินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก "นริศร ทองธิราช" อดีต ส.ส.เพื่อไทย 16 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีเสียบบัตรแทนกัน!



เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องนายนริศร ทองธิราช อดีต สส.สกลนคร เขต 3 พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย คดีเสียบบัตรแทนกัน

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. และ 11 ก.ย.2556 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา เมื่อประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในขณะนั้น แจ้งให้สมาชิกลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ จำเลยได้นำบัตรประจำตัวและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบัตรจริงของจำเลยและของสมาชิกรัฐสภารายอื่นอีกหลายใบ อันเกินกว่าจำนวนบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยและสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะพึงมีและใช้ได้เพียงคนละ 1 ใบ คนละ 1 เสียง มาใช้แสดงตนและลงคะแนนของจำเลย และแสดงตนและออกเสียงแทนสมาชิกรัฐสภารายอื่น

การกระทำของจำเลยมีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริตบิดเบือนขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาโดยชัดแจ้ง
ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทย อันเป็นการกระทำการในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ และมิอาจถือได้ว่ามติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแต่อย่างใด

อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา อันเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ปวงชนชาวไทยโดยส่วนรวม และเป็นการกระทำโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123/1 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4, 172, 192, 198 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ

คดีนี้ ศาลฎีกาฯ พิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุกกระทงละ 1 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 16 เดือน ทั้งนี้ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยกระทำผิดใดๆ มาก่อน ก็ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษ หลังจากนั้น จำเลยอุทธรณ์

ทั้งนี้ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานยืนยันประกอบคลิปวิดีทัศน์ 5 รายการ โดยเป็นคลิปวิดีทัศน์ที่จำเลยรับว่า บุคคลในภาพเคลื่อนไหวคือจำเลย ซึ่งคลิปวิดีทัศน์ ศาลฎีกาฯ ส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลการตรวจพิสูจน์ไม่พบร่องรอยการตัดต่อของคลิปวิดีทัศน์ ทั้งเสียงที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์นั้น ตรงกับข้อความที่บันทึกไว้ในรายงานการประชุมรัฐสภาตามเอกสาร

พยานหลักฐานตามทางไต่สวนล้วนสอดคล้องเชื่อมโยงกัน เชื่อว่า คลิปวิดีทัศน์เป็นภาพเหตุการณ์ลงคะแนนระหว่างร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2556 ส่วนคลิปวิดีทัศน์อื่นเป็นเหตุการณ์ลงมติอภิปรายที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ภาพของจำเลยที่นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงคะแนน ซึ่งเป็นบัตรจริงของจำเลยและสมาชิกรายอื่นเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนหลายใบ เพื่อลงคะแนนแทนสมาชิกอื่น ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาใน มาตรา 9 และ 10 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. และวันที่ 11 ก.ย. 2556 อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 122 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ ทั้งเป็นการขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนไว้ตามมาตรา 123 และขัดต่อการออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 126 วรรคสาม

การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่ 
ตามบทนิยามของ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 เป็นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ปวงชนชาวไทย ฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกรัฐสภาอื่น ประชาชน และผู้มีชื่ออื่น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

5. ศาลปกครองสูงสุด สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรู "แอชตัน อโศก" เหตุไม่ชอบด้วย ก.ม. ด้านเจ้าของโครงการจ่อเรียกค่าเสียหายหน่วยงานรัฐ!



เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 สั่งเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว ตามที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ถนนสุขุมวิท ซอย 19 แยก 2 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวม 16 ราย ยื่นฟ้อง ผอ.สำนักงานเขตวัฒนา ผอ.สำนักการโยธา กทม. ผู้ว่าการ กทม. ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการผู้ชาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด เป็นผู้ร้องสอด

ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เสียงข้างมากมาก ให้เหตุผลว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีเขตที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารด้านหนึ่งด้านใดกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรยาวต่อเนื่องกันโดยตลอด จนถึงบริเวณที่ตั้งของอาคารเพื่อสามารถใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวก ตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 2 วรรคสอง และวรรคสาม กำหนด

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รฟม.ไม่อาจอนุญาตให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด นำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน ไปในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก อันเป็นประโยชน์แก่กิจการของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนที่ดินได้

การที่ผู้ว่าการ กทม. โดย ผอ.สำนักการโยธา กทม. อนุญาตให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยแอชตัน อโศก
ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดความสูง 51 ชั้น พื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร รวมชั้นใต้ดิน มีจำนวนห้องพัก 783 ห้อง ตั้งในพื้นที่ขนาด 2.3 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการดังกล่าวทุกฉบับ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

ด้านบริษัท อนันดา เอ็ม เอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว ได้โพสต์ชี้แจงผ่านเพจของบริษัทว่า ผลของคำพิพากษาที่เกิดขึ้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายอย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัท เพราะหากหน่วยงานราชการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติโครงการแล้ว โครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรก ซึ่งก็จะไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง

โดยบริษัทฯ จะเร่งรีบดำเนินการในการเรียกร้องค่าเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของอาคารชุดและบริษัทฯ โดยเร็ว
รวมทั้งจะดำเนินการประสานงานกับคณะกรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก และเจ้าของร่วม เพื่อขอเข้าพบว่าผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อทวงถามความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นภายใน 14 วันนับจากวันนี้

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยืนยันด้วยว่า การทำโครงการ แอชตัน อโศก ได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตต่างๆ รวมถึงสภาพที่ดินของโครงการอย่างรอบคอบรัดกุม ผ่านการพิจารณาอนุมัติภายใต้การควบคุมจากหน่วยงานของรัฐไม่ต่ำกว่า 8 หน่วยงาน จึงเป็นที่ประจักษ์และยืนยันได้ว่า บริษัทได้ดำเนินการไปด้วยความสุจริตและชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้งแล้ว จึงขอเรียกร้องความเป็นธรรมจากภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขป้องกันมิให้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังเช่นคดีนี้ได้เกิดขึ้นอีก และเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

วันต่อมา (28 ก.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เผยว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จะนำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นที่สุดและเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายแล้ว ไปยื่นร้องเรียนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันที่ 4 ส.ค. เพื่อให้สั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม. ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งทั้งหมด ตามมาตรา 39 ทวิ รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวต่อไป หากผู้ว่าฯ ยังชักช้าหรือเพิกเฉย สมาคมฯ จะไปร้องเรียนเอาผิดผู้ว่าฯ กทม.กับพวกต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า กรณีดังกล่าว ผู้ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบโดยตรง คือเจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม. ซึ่งมีหลายหน่วย ทั้งในสำนักงานเขตวัฒนา กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. สำนักการจราจรและขนส่ง ประกอบด้วย ผู้รับแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ทั้ง 3-4 ใบ ผู้อนุญาตให้เชื่อมทางสาธารณะ ผู้ให้ใบรับรองเปิดใช้อาคาร คณะกรรมการพิจารณาแบบของสำนักควบคุมอาคาร โดย กทม. ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่ง ตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อไป

ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีนี้ถือว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้บริโภคซื้อห้องแล้วอยู่อาศัยไม่ได้ตลอดไปตามวัตถุประสงค์ที่ซื้อ ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนมีสิทธิ์ยกเลิกสัญญา และขอให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งทางมูลนิธิฯ ยินดีช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ในการเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ประกอบการ โดยติดต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ที่ mail : complaint@consumerthai.org


กำลังโหลดความคิดเห็น