ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการสนับสนุน และขับเคลื่อนงานกองทุนหมู่บ้านฯ มาตลอด ดำเนินงานโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อชาวบ้านชุมชนให้เข้าถึงกองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เข้าถึงง่าย ลดปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อให้ชาวบ้านระดับรากหญ้าได้มีทุนในการต่อยอดธุรกิจของตัวเอง โดยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่หลายครอบครัวในชุมชน
โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต้นแบบภายใต้โครงการเผยแพร่และสื่อสารประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ภายใต้แนวคิด BCG Economy Model เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
ดร.พรสรรค์ โรจนพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนกลยุทธ์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ส่งผลให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในหลายๆ พื้นที่ได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นกองทุนหมู่บ้านต้นแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดราชบุรี
ล่าสุดคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้ไปเยี่ยมชมความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้าน จังหวัดราชบุรี ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านวัดพระศรีอารย์ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นำโดยนายวิเชียร ภู่ระหงษ์ ประธานกองทุนหมู่บ้านวัดพระศรีอารย์ โดยนายวิเชียร กล่าวว่ากองทุนหมู่บ้านวัดพระศรีอารย์นั้น สามารถพัฒนาเป็นสถาบันการเงินชุมชนได้ในอนาคต ซึ่งผลงานที่ผ่านมากองทุนหมู่บ้านแห่งนี้ ประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย และในปี 2565 ที่ผ่านมากองทุนหมู่บ้านวัดพระศรีอารย์ มีจำนวนสมาชิกที่ซื้อหุ้นทั้งสิ้น 436 คน มียอดเงินหุ้นทั้งสิ้น 761,600 บาท และได้รับเงินปันผล จำนวน 436 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 45,696 บาท
โดยกองทุนหมู่บ้านวัดพระศรีอารย์ เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการจัดสรรเงินทุนหมุนเวียนแก่กองทุนหมู่บ้าน เป็นกลไกให้ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้หรือเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายในครัวเรือน หมู่บ้านหรือชุมชน
ทั้งนี้ เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านวัดพระศรีอารย์ สามารถพัฒนาเป็นสถาบันการเงินชุมชนได้ในอนาคต โดยมีกระบวนทัศน์ด้านการบริหารและการพัฒนาที่มุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีรูปแบบ วิธีการคิดและมุมมองที่เปิดกว้าง มีคุณธรรมและมีการเรียนรู้ร่วมกัน โดยอาศัยหลักของการเอื้ออาทรในรูปแบบกัลยาณมิตร ตลอดจนมีการสร้างและพัฒนาความคิดความเข้าใจให้เป็นระบบในลักษณะของการบูรณาการทุกเรื่องเข้าด้วยกันและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายกองทุนในทุกระดับอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง
โดยผลงานที่ผ่านมากองทุนหมู่บ้านวัดพระศรีอารย์ ได้รับรางวัล ดังนี้
• “ระดับดี” การคัดสรรกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองของจังหวัด ประจำปี 2547 จากจังหวัดราชบุรี
• “ชนะเลิศ” กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองดีเด่นขนาดกลาง ประจำปี 2554 จากจังหวัดราชบุรี ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2554
• ได้รับรางวัล “ดีเด่น” กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับอำเภอ ประจำปี 2557 จากจังหวัดราชบุรี ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557
ลำดับถัดไป คือ กองทุนหมู่บ้านห้วยยาง หมู่ที่ 9 ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี นำโดย
นายประพันธ์ อินทรสูต ประธานกองทุนหมู่บ้านห้วยยาง โดยนายประพันธ์กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านห้วยยางเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคม 2544 ด้วยการปล่อยเงินกู้บัญชี 1 ตามนโยบายรัฐบาลโดยมีเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 2,400,000 บาท สำหรับการบริหารงานกองทุน คือคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 10 คน ผู้จัดการสถาบัน จำนวน 1 คน พนักงาน จำนวน 2 คน กองทุนหมู่บ้านมีหลักในการบริหารงาน คือ “หลักธรรมาภิบาล 10 ข้อ” ทางด้านการสวัสดิการ กองทุนได้มีการมอบเงินสวัสดิการแก่สมาชิก ส่วนราชการ ชุมชน การคลอดบุตร ค่ารักษาพยาบาล งานศพ เป็นต้น ส่วนด้านสาธารณประโยชน์ สนับสนุนกองทุนแม่ของแผ่นดิน สนับสนุนกองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้าน และสนับสนุนเสื้อกีฬาหมู่บ้านห้วยยาง หมู่ที่ 9 ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี สำหรับคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านห้วยยาง มีจำนวน 10 คน มาจากการคัดเลือกกันเองโดยเวทีชาวบ้าน (สมาชิก) ผู้จัดการสถาบันการเงิน 1 คน และพนักงาน 2 คน มีหน้าที่ต่างๆ ได้แก่
- บริหารจัดการ ตรวจสอบ กำกับ ดูแล จัดสรรผลประโยชน์ของเงินกองทุน
- ออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารกองทุน และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสมาชิก
- รับสมาชิกและจัดทำทะเบียนสมาชิก สำรวจและจัดทำข้อมูล เกี่ยวกับอาชีพ
- พิจารณาให้สมาชิกกู้เงินตามระเบียบที่กำหนด ทำนิติกรรมกับสมาชิก
- จัดหรือเรียกประชุมสมาชิก จัดทำบัญชี
ดร.พรสรรค์ โรจนพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนกลยุทธ์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม สทบ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ไฮไลต์....เมื่อมาถึงจังหวัดราชบุรีแล้วต้องมาดูต้นกำเนิดตำนานโอ่งมังกร ของดีเมืองราชบุรี รวมถึงได้แวะเวียนไปยัง "โรงโอ่งรัตนโกสินทร์ 1" หนึ่งในโรงงานปั้นโอ่งเก่าแก่ของจังหวัดราชบุรี ที่ส่งขายโอ่งดินเผา-โอ่งเซรามิกในประเทศไทย รวมถึงส่งขายออกไปทั่วโลก ซึ่งที่นี่เปิดมาแล้วกว่า 40 ปี จากพื้นที่เพียง 7 ไร่ในอดีต ก็ขยับขยายสู่ 23 ไร่ในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งส่วนของอาคารโรงงานที่ใช้สำหรับการผลิต ซึ่งการันตีได้ว่าสินค้าที่นี่ผลิตด้วยมือทีละชิ้น และยังมีส่วนแสดงสินค้าที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมความสวยงามของโอ่งปั้นอีกด้วย การมาเยี่ยมชมโรงโอ่งแห่งนี้ ทำให้เราได้รู้ถึงกระบวนการขั้นตอนการปั้นโอ่ง ซึ่งกว่าจะออกมาได้แต่ละใบนั้นมีกรรมวิธีหลายขั้นตอน เช่น การหมักดินถึง 3 วันก่อนจะนำไปใช้งาน ถ้าโอ่งใบใหญ่ก็ต้องปั้นเป็นชั้นๆ หลายรอบ และต้องตบให้เนียน นำไปแกะลาย ลงสี แล้วนำไปตรวจเช็กความเรียบร้อยก่อนเข้าอบแกหลายชั่วโมง ถ้าเป็นโอ่งใบใหญ่ต้องใช้ทั้งแรงคนและเวลาอีก กว่าจะได้มานั้นไม่ง่ายเลย ขึ้นชื่อว่า "โรงโอ่ง" แต่ไม่ได้มีแค่โอ่งมังกรเท่านั้น เพราะที่นี่ใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การเตรียมดิน ขึ้นรูป การเคลือบ และการเผา จนเกิดมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงาม รวมถึงรูปแบบที่ทันสมัย แถมยังมีงานปั้นเซรามิิกสีสันสดใส ทั้งตัวการ์ตูนและสัตว์ตัวเล็กๆ ลวดลายทันสมัย จนต้องเข้าไปถ่ายรูปด้วย ซึ่งแต่ละสินค้าสามารถใช้งานได้จริง เช่น แจกัน โต๊ะ เก้าอี้ กระเบื้อง ของตกแต่งบ้าน พวงกุญแจ ของที่ระลึกต่างๆ เป็นต้น