xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์ เผยการทดลองใช้เทคโนโลยี “LiDAR” เพื่อศึกษาแนวปะการังครั้งแรกของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ธรณ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เผยประโยชน์ของ "LiDAR" เทคโนโลยีใช้เพื่อวัดระยะ หรือความสูงของพื้นผิว นำมาใช้ศึกษาแนวปะการังครั้งแรกของไทย

วันนี้ (20 ก.ค.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ระบุข้อความว่า “กำลังอยู่ในช่วงข้าวใหม่ปลามัน ขอเล่าเรื่อง LiDAR กับแนวปะการังอีกสักตอน เผื่อมีประโยชน์กับเพื่อนธรณ์ผู้สนใจ ผมพยายามใช้โดรนรูปแบบต่างๆ สำรวจแนวปะการังมาตลอด 3-4 ปี นั่นคือกรรมวิธีสร้างพื้นฐาน จะลองของใหม่ต้องใช้เวลา เรื่องนี้สำคัญครับ เมื่อถึงคราวลงมือ เราต้องบริหารความเสี่ยง สถานที่ต้องใช่ เวลาต้องใช่

LiDAR ต้องทำตอนน้ำลงต่ำมากๆ ปีหนึ่งมีเพียงไม่กี่ครั้ง แนวปะการังต้องโผล่พ้นน้ำเยอะ ต้องมีความสูงต่ำ แนวปะการังหลายแห่งที่มีดงปะการังน้ำตื้น พวกนั้นจะเหมาะมาก ยังต้องเป็นที่คุ้นเคย แทบบอกได้ว่าตรงไหนมีอะไร อีกทั้งยังต้องมีข้อมูลหลายด้านให้มากพอ การลองของใหม่กับสถานที่ใหม่ๆ เป็นเรื่องเสี่ยง คนเราไม่เก่งพอเรียนรู้ทุกอย่างในเวลาเดียวกัน ตอนออกภาคสนาม เราต้องวางแผนให้รอบคอบ รวมทั้งภาวนาฟ้าดินว่าอย่าแกล้งส่งพายุมารังแกฉันนะ

สุดท้ายเราได้ข้อมูลมา 16 Gigabyte เพราะบินเก็บข้อมูลซ้ำไปมา 3 เที่ยว เพื่อความแม่นยำและเพื่อใช้โอกาสให้คุ้ม ครึ่งแรกผ่านไป แต่ครึ่งหลังโหดกว่า เมืองไทยมีข้อมูลมากมาย แต่บางส่วนถูกเก็บไว้เฉยๆ โดยไม่ได้วิเคราะห์ เพราะเราไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร

แนวทางที่ผมทำคือวิเคราะห์แทบทุกแบบ ทำไปช้าๆ โดยคิดให้รอบคอบว่าเราจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร ผมยังอยู่ในขั้นตอนนั้น แต่นำบางเรื่องมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง
ภาพที่ผมชี้จอ คือการสร้างภาพชายฝั่งและแนวปะการังจากข้อมูล LiDAR

เรานำไปโชว์เป็นสภาพทั่วไป หมุนไปมาดูได้หลายมุม เอาไปใช้ได้หลายอย่าง เช่น สร้างความตื่นตาตื่นใจกับคนดูคนฟัง เผื่อจะได้ตังค์มาต่อยอด หากทำซ้ำตามช่วงฤดูกาล สามารถบอกถึงการสะสมทราย นำไปใช้ในงานกัดเซาะชายฝั่ง LiDAR มีประโยชน์เรื่องนี้มาก ตอนนี้กำลังมีโครงการสำรวจชายฝั่ง EEC เพื่อทำแผนที่ base map ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้เพียบ

เอาไว้วันหลังจะเล่าให้ฟังครับ มุมล่างซ้ายคือการแสดงภาพแบบสูงต่ำ สีน้ำเงินคือแอ่งน้ำ สีเขียวหรือฟ้าอ่อนคือพื้นทั่วไป ที่น่าสนใจคือสีเหลืองหรือส้ม หย่อมตรงนั้นคือปะการัง เพราะยกตัวขึ้นมาสูงกว่าพื้นรอบด้าน วิธีนี้จะช่วยให้เราแยกปะการังได้อย่างรวดเร็ว หย่อมปะการังมักอยู่ใกล้กันเป็นโซน เรานำมาใช้ในการอนุรักษ์ เช่น เรือเข้าออกชายหาดควรวิ่งแนวไหน จะสร้างท่อน้ำทิ้งควรปล่อยไปที่ใด

หรือนำมาใช้ในการสำรวจความหลากหลาย หาปะการังที่แน่ชัดเพื่อส่งคนไปเก็บข้อมูลให้ตรงจุด (มี GPS ทุกจุด) ลดเวลาค่าใช้จ่ายได้เพียบ ภาพมุมล่างขวาคือซูมเข้ามาแล้วสร้างเป็น 3 มิติ แถบแดงคือบริเวณที่เราวัดความสูงต่ำเพื่อแสดงเป็นเส้นกราฟ ปะการังมีโตมีตาย เมื่อเวลาผ่านไป รูปทรงเปลี่ยนไป ส่งผลถึงที่อยู่อาศัยของสัตว์ ผลกระทบจากโลกร้อน ฟอกขาว คลื่นลม ยังทำต่อแนวปะการังไม่เท่ากัน บางที่โดนมาก บางที่โดนน้อย

LiDAR จะมีประโยชน์สุดๆ เมื่อนำมาใช้ร่วมกับข้อมูลอื่น เช่น แผนที่ทางอากาศ ข้อมูลภาคสนาม ความยากคือการต่อจิ๊กซอว์ เอาโน่นนี่นั่นมาผสมกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์สูงสุด ณ วันนี้ จิ๊กซอว์ดังกล่าวสำคัญ เพราะธรรมชาติแปรปรวน แทบไม่เหลือเวลาให้เราแล้ว คณะประมงจึงทำงานอย่างเร่งด่วน เพื่อหาทางช่วยทะเลและคนทะเลเท่าที่เราสามารถ หากสามารถไม่พอ ก็ต้องพยายามไขว่คว้าหาสิ่งใหม่ๆ มาทำให้พอ ไม่ว่าสถานการณ์รอบด้านจะเป็นอย่างไร เราจะไม่นั่งทำตาปริบๆ ดูทะเลร้อนตายไปต่อหน้าต่อตาแน่นอนครับ

ขอบคุณกองทุนดิจิทัลและกระทรวงทรัพยากรฯ ที่กรุณาสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่ออนุรักษ์แนวปะการังและรับมือกับโลกร้อนครับ”

คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น