โดย ดร.กฤตติกา เศวตอมรกุล รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
การประชุมสภาสิทธิมนุษยชนสมัยสามัญ ครั้งที่ 53 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ประเด็นสำคัญในวาระการจะพิจารณาประเด็นต่างๆ ได้แก่ รสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง ความยากจน การชุมนุมและการสมาคมอย่างสันติ เสรีภาพในการแสดงออก และอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าทั่วโลกต่างก็มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากมาย นักวิชาการที่ศึกษาด้านรัฐศาสตร์ต่างก็ติดตามการประชุมนี้ และค้นคว้าหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลข้อมูลข่าวสารในการศึกษาเรื่องนี้
สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับเลือกให้เข้าร่วมสมัชชาใหญ่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน โดยดำรงตำแหน่งวาระ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 พร้อม 15 ประเทศ ได้แก่ โบลิเวีย จีน โกตดิวัวร์ คิวบา ฝรั่งเศส กาบอง มาลาวี เม็กซิโก เนปาล ปากีสถาน สหพันธรัฐรัสเซีย เซเนกัล ยูเครน สหราชอาณาจักร และอุซเบกิสถาน ซึ่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนจะมีจัดการประชุมไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อปี รวมเป็นเวลาอย่างน้อย 10 สัปดาห์
ในการประชุมสภาสิทธิมนุษยชนสมัยสามัญ ครั้งที่ 53 นี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ส่งตัวแทน คือ นายเฉิน ซวี่ เข้าร่วมในการประชุมในครั้งนี้ โดยนายเฉิน ซวี่ กล่าวว่า ปัจจุบันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรง วิธีส่งเสริมการพัฒนาที่ดีทางสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วยแนวคิดที่มีการเคารพซึ่งกันและกัน ความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม และปัญหาที่เกี่ยวข้อง
เช่น การใช้สิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง สมควรที่ให้ทุกฝ่ายทบทวนอย่างจริงจัง และยังได้แนะนำผลงานสำคัญในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของจีน โดยกล่าวว่า จีนยึดมั่นในหลักการ “ประชาชนต้องมาก่อน” ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนที่เหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริง วันนี้ ซินเจียง ทิเบต และฮ่องกง มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีความปรองดองและความมั่นคงทางสังคม แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาสิทธิมนุษยชนประสบผลสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อน
นอกจากนี้ นายเฉิน ซวี่ ยังระบุว่า ในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของการผ่านปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของโลก จีนยินดีที่จะร่วมกับประเทศต่างๆ และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พยายามเพิ่มกำลังทางบวกให้กับการผลักดันการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของโลก
ในปี 2566 มีกำหนดการจัดประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ทั้งสิ้น 3 ครั้ง ได้แก่ 1. การจัดประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ถึง 04 เมษายน 2566 2. การจัดประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 53 ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ถึง 14 กรกฎาคม 2566 และ 3. การจัดประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 54 ระหว่างวันที่ 11 กันยายน 2566 ถึง 13 ตุลาคม 2566
ในอดีตมีผู้นำเรื่องฮ่องกง เรื่องการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เรื่องซินเจียง ฯลฯ มาเชื่อมโยงเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทั้งหมดนี้เห็นได้ว่าในเวทีการประชุมสิทธิมนุษยชนระดับโลก จีนพร้อมที่จะหักล้างข้อกล่าวหาทางด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งไร้มูลความจริงด้วยข้อมูลหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมระหว่างประเทศ