ภาพสุดว้าว โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่ภาพนักศึกษา 3 คนของคณะประมง กำลังช่วยกันจับปลาในบ่อ ซึ่งสถานที่เรียนอยู่ห่างสถานีรถไฟฟ้าไม่ถึง 500 เมตร ชี้เพื่อเรียนรู้พื้นฐานสำคัญของชีวิต อยากได้ อยากกิน ต้องลงมือทำ
วันนี้ (12 ก.ค.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อนธรณ์เชื่อไหมครับว่า ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าไม่ถึง 500 เมตร เด็กๆ กำลังเรียนวิธีจับปลา แล้วไงล่ะ? แต่หากลองคิดให้ดี มีที่ไหนในประเทศไทยที่เป็นเช่นนี้ คำตอบคือมีที่เดียวครับ เพราะคณะประมง มก. ตั้งอยู่ใจกลางความเจริญรอบด้าน แต่เรามีพื้นที่กว้างใหญ่ มีบ่อปลาเรียงราย
การเรียนการสอนว่าด้วยการเลี้ยงปลาจับปลาจึงเป็นไปได้ แม้อยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย แล้วจับปลาสำคัญอย่างไร? ในยุคที่เต็มไปด้วย AI และไฮเทคโนโลยี AI วาดภาพได้ เขียนรายงานได้ พรีเซ็นต์ต่อที่ประชุมใหญ่ UN ก็ทำได้ แต่จับปลาได้ป่าว?
การเลี้ยงสัตว์เป็นทักษะพื้นฐานของมนุษย์ ผ่านเวลาเนิ่นนานหลายหมื่นปี แม้ตามทฤษฎี AI อาจทำได้ แต่ในภาคปฏิบัติยังอีกไกลนัก ที่คณะประมง เราใช้เทคโนโลยีล้ำยุคในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เราคือหนึ่งในสถาบันการเรียนการสอนการวิจัยด้านนี้ที่ติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย แต่ทุกอย่างเริ่มมาจากพื้นฐาน จับปลาเป็นไหม บางสิ่งที่ดูเหมือนสบาย แต่เมื่อลงมือทำจริงมันไม่ง่าย ปลามันโดดได้ ปลามันเกลียดโดนจับ
นิสิตปี 3 วิชาเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำจืด จึงวี้ดว้ายกระตู้วู้อยู่ในน้ำ เพื่อพยายามจับปลาให้ได้สักตัว แม้จะพยายามบอกคุณปลาว่าไม่ได้จับไปลงหม้อแกง แต่จับไปทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ คุณปลาก็ไม่ยอมเชื่อ
พวกเราโดด แบร่ๆ ระหว่างที่เพื่อนธรณ์ใส่ชุดทำงานนั่งรถไฟฟ้าไปออฟฟิศ หากมีโอกาสผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลองชำเลืองมองมาในรั้วสีเขียว ที่นั่น เด็กๆ กำลังต่อสู้กับปลาอย่างดุเดือด
ไม่ใช่เพียงเพื่อเรียนรู้วิธีเลี้ยงปลาจับปลาให้เป็น แต่ยังเพื่อเรียนรู้พื้นฐานสำคัญของชีวิตในวันหน้า อยากได้ อยากกิน ต้องลงมือทำ”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ