จันทบุรี - จังหวัดจันทบุรี ประชุมวางกรอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2566 หลังราคากุ้งตกต่ำ คาดส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ได้ข้อสรุปชดเชย กก.ละไม่เกิน 20 บาท
วันนี้ (10 ก.ค.) นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย นายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ พาณิชย์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครือข่ายผู้ค้าและผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ ได้ร่วมกันประชุมเพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และแนวทางการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 ที่ห้องประชุมพลอยจันท์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี
การประชุมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด มีมติเห็นชอบที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่เป้าหมายที่มีการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ โดยส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากการเข้านำเข้ากุ้งจากต่างประเทศของผู้ประกอบการบางราย จนทำให้เกิดการกดราคารับซื้อในประเทศไทย
ขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้มีมติคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ลงวันที่ 16 มิ.ย.2566 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2566 พร้อมทั้งจัดทำกรอบแนวทางการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับการจำหน่ายกุ้งภายในโครงการ
โดยขอให้จังหวัดจันทบุรี ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการค้าภายใน เป็นเงินจ่ายขาด จำนวน 12,450,000 บาท เพื่อสนับสนุนค่าชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในอัตรากิโลกรัมละไม่เกิน 20 บาท (คำนวณได้จากราคาเป้าหมายนำลบด้วย ราคากลาง ซึ่งหากราคากลางหรือราคาตลาดเท่ากับหรือสูงกว่าราคาเป้าหมายนำไม่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนค่าชดเชยส่วนต่างราคา)
ตัวอย่างเช่น หากกุ้งน้ำหนัก 70 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 153 บาท ราคาเป้าหมายนำ 160 บาท จะมีการชดเชยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จำนวน 7 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากราคาตลาดสูงกว่าราคาเป้าหมายนำจะมีการพิจารณาประกาศยุติ หรือชะลอโครงการตามระเบียบกองทุนรวมต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า ที่ผ่านมาปริมาณกุ้งในพื้นที่ จ.จันทบุรี ไม่ได้มีมากจนทำให้ราคาตกต่ำ แต่เป็นเพราะมีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศของผู้ประกอบการบางราย จึงทำให้ราคาซื้อขายกุ้งในปัจจุบันตกต่ำกว่าราคาเป้าหมายนำ
สำหรับคุณสมบัติของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่จะได้รับการสนับสนุนค่าชดเชยส่วนต่างราคา ประกอบด้วย 1.เป็นเกษตรกรที่มีบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมอยู่ในพื้นที่ จ.จันทบุรี 2.เป็นเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (กุ้งทะเล) กับกรมประมง 3.เป็นเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากกรมประมง (GAP/GAP มกษ.7401-2552/CoC อยู่ในระหว่างการดำเนินการต่ออายุใบรับรองมาตรฐาน)
โดยสำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี จะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการชดเชยราคากุ้ง ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และผู้รวบรวมและกระจายกุ้ง ระหว่างวันที่ 17-21 ก.ค.2566