"กรมศุลกากร" ตั้งโต๊ะแถลงปมเปิดประมูลนาฬิกาหรูแล้วดันเจอของปลอม เบื้องต้นทำได้แค่ขอโทษสำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น พร้อมสั่งยกเลิกการประมูลและให้คืนเงินแก่ผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด เตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนต่อไป
จากกรณีชายรายหนึ่งร้องเรียนสื่อในประเด็นเข้าร่วมการประมูลสินค้าของกลางที่กรมศุลกากรตรวจยึดมาได้ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ตนเองประมูลนาฬิกา Richard Mille ตัวเรือนสีดำ 1 เรือน ในราคา 2.2 ล้าน ส่วนเพื่อนประมูล Patek Philippe สายสีแดง ส่วนผู้ประมูลอีกรายก็ประมูล Richard Mille สายแดง 1 เรือน และนาฬิกา search Rolex อีก 1 เรือน
ต่อมา เมื่อเดินทางไปรับสินค้ากลับพบความผิดปกติของนาฬิกาที่ได้รับ จึงนำสินค้าเข้าไปตรวจสอบกับทางร้านขายที่สามารถเชื่อถือได้ โดยผู้ตรวจเช็กระบุว่า ตัวเรือนของ Richard Mille สีดำ ออกแบบไม่เนียน ระบบภายในมีการวางซ้อนทับกันอยู่อย่างชัดเจน สามารถยืนยันว่าเป็นเครื่องปลอมแน่นอน ส่วนเพื่อนนำ Patek Philippe สายแดงไปตรวจสอบด้วยพบว่าเป็นของปลอมอีก ผู้ตรวจบอกว่าระบบภายในมีการวางซ้อนทับกันและพบพิรุธหลายจุด
จากนั้นตนจึงรีบโทรศัพท์ไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานในการประมูลสินค้าทันที โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าเขาก็ไม่ทราบว่าสินค้านี้เป็นของจริงหรือของปลอม เขามีหน้าที่เพียงแค่ผู้ประสานงานเท่านั้น แต่จะได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งต่อหัวหน้าผู้บังคับบัญชาอีกครั้งหนึ่ง
ล่าสุดวันนี้ (10 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. กรมศุลกากรออกมาตั้งโต๊ะแถลงถึงประเด็นดรามาดังกล่าว โดย นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากที่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับการประมูลนาฬิกาจากกรมศุลกากร ภายหลังพบว่าเป็นนาฬิกาปลอมเครื่องหมายการค้า กรมศุลกากรได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว มีข้อเท็จจริงดังนี้
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้เข้าตรวจค้นร้านขายนาฬิกาบริเวณศูนย์การค้า Siam Square One พบนาฬิกามีเครื่องหมายการค้า จำนวน 14 รายการ ได้เชิญเจ้าของสิทธิ์มาตรวจสอบ พบว่ามีจำนวน 1 เรือน เป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า และอีก 13 เรือน เป็นของที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์
ต่อมา กรมศุลกากรจึงนำ 13 เรือนประกาศขายทอดตลาด ในวันที่ 28 มิ.ย. 66 โดยเปิดให้เข้าชมของกลาง วันที่ 5 ก.ค. 66 และเปิดซองการประมูล วันที่ 6 ก.ค. 66 มีผู้เข้าร่วมการประมูลทั้งสิ้น 18 ราย
หลังจากได้รับข้อมูลจากผู้ประมูลว่านาฬิกาที่มีการประมูลจากกรมศุลกากรเป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า ซึ่งทั้ง 13 เรือนมีสินค้าปลอม 4 เรือน พร้อมออกคำสั่งยกเลิกการประมูลและให้คืนเงินแก่ผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด โดยในส่วนของกรมศุลกากรจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนต่อไป
ซึ่งกรมศุลกากรดำเนินการตรวจสอบทันที ซึ่งในวันนี้ (10 ก.ค. 66) ได้เชิญเจ้าของสิทธิ์มาหารืออีกครั้ง เจ้าของสิทธิ์แจ้งว่า นาฬิกาทั้งหมดที่ได้ประมูลวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า
พร้อมแนะนำว่าหากต้องการประมูลสินค้าอย่างเช่นนาฬิกาหรูสามารถพาผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบได้ในวันที่เปิดให้เข้าชมของกลาง
ส่วนข้อเสนอว่า ในอนาคตให้กรมศุลกากรตรวจสอบสินค้าก่อนนำออกประมูลนั้น นายพันธ์ทองระบุว่า ความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรจึงขออภัยสำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะดำเนินการอย่างรอบคอบในการประมูลสินค้าครั้งต่อไป