xs
xsm
sm
md
lg

เอกอัครราชทูตไทยเยี่ยม "พลายประตูผา" พบอยู่ในช่วงตกมัน ยืนยันสื่อศรีลังกาไม่คิดนำกลับไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกาเดินทางเยี่ยม "พลายประตูผา" พบอยู่ในช่วงตกมัน ต้องกั้นอาณาเขต ยืนยันสื่อมวลชนศรีลังกาไม่คิดนำกลับไทย

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา (ออท.) ได้เดินทางไปยังวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี ตามคำเชิญของ นายปราดีป นิลานก้า เดล่า นิลาเม่ ไวยาวัจกรของวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วซึ่งดูแลพลายประตูผา หรือ Thai Rajaa ในปัจจุบัน

โดยนายพจน์ได้แจ้งให้นายปราดีปทราบว่า ทางการไทยมีดำริที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับศรีลังกาในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร เช่น สัตวแพทย์ และควาญ โดยจะมีคณะผู้แทนไทยจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางมาหารือในรายละเอียดกับมหาวิทยาลัย Peradeniya ของรัฐ ที่มีคณะสัตวแพทยศาสตร์เพียงแห่งเดียวในศรีลังกาต่อไป

หลังจากการหารือนายปราดีป และ ดร.อโศกา ดังโกลล่า หัวหน้าภาควิชา Veterinary Clinical Science ได้เชิญ ออท.ไปดูพลายประตูผาที่วัด Suduham Pola ซึ่งอยู่ในเมืองแคนดี ห่างจากวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วประมาณ 3 กม. พบว่าพลายประตูผาอยู่ในบริเวณลานโล่ง เป็นลานปูน และลานดิน มีเชือกกั้นอาณาเขตบริเวณที่อยู่ ล่ามโซ่ขาหน้าสองขาติดกับต้นไม้ใหญ่ สองต้น และล่ามโซ่ขาหลัง 1 ขา จากการสังเกตพบว่าโซ่ขาหลังไม่ได้ตึงมากนัก มีระยะผ่อนได้ จากการที่ช้างพลายประตูผาสามารถขยับตัวได้ในระดับหนึ่ง และสามารถยืนในท่าทางธรรมชาติได้ ไม่ได้ถูกดึงรั้งจนเกินไป

พลายประตูผาอยู่ในช่วงตกมัน แต่ยังสามารถกินอาหาร ได้แก่ ใบปาล์ม kithul หญ้า อ้อย ได้ตามปกติ ในช่วงกว่า 30 นาทีที่สังเกตอาการ แม้มีผู้คนมากมาย พลายประตูผาไม่ได้แสดงอาการดุดัน และควาญประจำตัวป้อนอาหารในระยะปลอดภัยตามปกติ

นายพจน์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนศรีลังกาว่า ทางการไทยมิได้มีความประสงค์ที่จะนำช้างพลายประตูผากลับประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีว่าภารกิจ (การส่งมุธุราชาไปรักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย) ได้สร้างความตระหนักรู้อย่างยั่งยืนในเรื่องสิทธิ การเลี้ยงดูและดูแลรักษาช้างและสัตว์ประเภทอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้นในทั้งสองประเทศ ซึ่งจากนี้ไปเราคงจะต้องเน้นเรื่องความร่วมมือในการทำงานร่วมกันสำหรับอนาคต












กำลังโหลดความคิดเห็น