รมว.ทรัพย์ แจ้ง เอฟซีช้าง คลายกังวล จ่อส่งทีมแพทย์ และ “กัญจนา” บินศรีลังกา ลงนาม MOU ไทย-ศรีลังกา แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีรักษาช้าง
วันนี้ (5 ก.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มแฟนคลับพลายศักดิ์สุรินทร์ และบรรดาคนรักช้าง มีความห่วงใย ช้างอีก 2 เชือกของไทย ที่ยังอยู่ที่ประเทศศรีลังกา และมีการสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ต่อความเป็นไปได้ที่จะนำกลับมาประเทศไทยด้วยหรือไม่ ว่า ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้นิ่งนอนใจ จะส่งทีมสัตวแพทย์ ไปพร้อมกับ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในต้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้ดูแนวทางความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานของไทย และหน่วยงานของศรีลังกา ในการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลช้าง เพราะศรีลังกาเป็นประเทศที่มีช้างเลี้ยง และช้างป่า อยู่เป็นจำนวนมาก
นายวราวุธ กล่าวว่า สอดคล้องกับการที่มีคณะสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองที่พลายประตูผาอยู่ ได้ติดต่อมายังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแสดงเจตจำนงว่ามีความพร้อมที่จะช่วยดูแล และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ดังนั้นจากนี้ไปการทำงานด้านสุขภาพช้างระหว่างไทยกับศรีลังกาจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับประเด็นของพลายประตูผา เป็นเรื่องที่แตกต่างจากพลายศักดิ์สุรินทร์ เพราะพลายศักดิ์สุรินทร์ อายุเพียง 30 ปี ยังหนุ่ม ขณะที่พลายประตูผา อายุเกือบ 50 ปีแล้ว ซึ่งสัตวแพทย์มีความเห็นว่า การเคลื่อนย้ายพลายประตูผาข้ามประเทศมีความเสี่ยง และเป็นอันตรายกับตัวช้างเอง
นายวราวุธ กล่าวว่า ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้ประตูผาได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ด้วยการทำโครงการความร่วมมือกันระหว่าง ไทยกับศรีลังกา ในการแลกเปลี่ยนความรู้ บุคลากร เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ซึ่งการทำเช่นนี้จะสามารถแก้ไขปัญหา การดูแลช้างในระยะยาว ในประเทศศรีลังกาได้ และเชื่อว่า จะทำให้ประชาชนคนไทยคลายความห่วงกังวลต่อ ช้างไทยที่ยังอยู่ในศรีลังกาได้
“โครงการแลกเปลี่ยนดังกล่าว อาจมีการทำ MOU ขึ้น ซึ่งต้องให้กรมอุทยานฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เป็นผู้ลงนาม MOU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศศรีลังกา เพื่อทำความตกลงแลกเปลี่ยน เทคโนโลยี และความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลช้าง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้การดูแลช้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่องยาวนาน” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับพลายศรีณรงค์ นั้น จากการที่ น.ส.กัญจนา ได้ไปเยี่ยมมาด้วยตัวเองนั้น ก็ยังเห็นว่า มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพปกติดีอยู่ และการเดินทางไปศรีลังกาในต้นเดือนกันยายนนี้ น.ส.กัญจนา ก็จะไปเยี่ยมพลายศรีณรงค์อีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการกลับเมืองไทยของพลายศักดิ์สุรินทร์ และ รมว.ทส. ได้รายงานให้ที่ประชุมครม. ทราบรายละเอียดเพิ่มเติม นายวราวุธ กล่าวว่า มีการรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับพลายศักดิ์สุรินทร์ ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นที่ปลื้มปีติของพวกเราชาวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีมงานทุกคน และปวงชนชาวไทย และต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติ และช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวง ทส.จนทุกอย่างราบรื่น
นายวราวุธ กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ตนได้รายงานนายกฯ ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้พระบรมราชานุเคราะห์เช่นนี้ ทำให้ความกังวลเรื่องที่จะต้องส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับศรีลังกาหรือไม่นั้น หายไป ส่วนทีมแพทย์ ก็จะรักษาอาการบาดเจ็บ ของพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างเต็มที่