xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียว ม.ราชภัฏ-สวนดุสิต แต่งครุยรับปริญญาตามเพศสภาพได้เป็นปีแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชมพิ้งค์ จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา อดีตนิสิตข้ามเพศ จุฬาฯ เผย ม.ราชภัฏทั่วประเทศ 38 แห่ง และ ม.สวนดุสิต เปิดโอกาสให้บัณฑิตแต่งกายตามเพศสภาพ ด้วยชุดครุยวิทยฐานะในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้

วันนี้ (29 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก Ince Jirapat ของ ชมพิ้งค์ จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา อดีตนิสิตข้ามเพศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพในรั้วมหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า "ฝากแชร์ข่าวดีถึงน้องๆ  ม.ราชภัฏ 38 แห่ง และน้องๆ สวนดุสิต ของขวัญฉลองเดือน PRIDE จากอดีตนิสิตข้ามเพศ จุฬาฯ ถึงบัณฑิต ม.ราชภัฏ ครั้งแรก และครั้งหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศไทย 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดโอกาสให้บัณฑิตแต่งกายตามเพศสภาพ ด้วยชุดครุยวิทยฐานะในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ แบบไร้เงื่อนไข

ทั้งนี้ บัณฑิตที่มีความประสงค์ในการแต่งกายตามเพศสภาพด้วยชุดครุยวิทยฐานะในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จะต้องทำการติดต่อ กองพัฒนานักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยตนเอง พร้อมยื่นเอกสารแสดงความจำนงขอแต่งกายตามเพศสภาพ และนำบัตรประชาชนไปด้วยเพื่อยืนยันตัวตนในการส่งเอกสาร ซึ่งจะมีระยะเวลากำหนดในการยื่น ขอให้บัณฑิตทุกท่านติดต่อสอบถามกับทางมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยอาจมีระยะเวลาและกำหนดการยื่นเอกสารที่แตกต่างกัน

รวมถึงบัณฑิตที่เคยแจ้งความประสงค์ในการไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียน หากปัจจุบันบัณฑิตเปลี่ยนใจประสงค์เข้าร่วมรับพระราชทานปริญญาบัตร ขอให้บัณฑิตติดต่อมหาวิทยาลัยเพื่อสอบถามและดำเนินการต่อไป และขอให้บัณฑิตทุกท่านถ่ายสำเนาหรือหลักฐานการยื่นเอกสารแสดงความประสงค์ในการแต่งกายตามเพศสภาพด้วยชุดครุยวิทยฐานะในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงต่อเจ้าหน้าที่หรือผู้ตรวจประจำงานพระราชทานปริญญาบัตรด้วยค่ะ"

พร้อมกันนี้ ชมพิ้งค์ จิรภัทร ยังได้กล่าวขอบคุณ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ, อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่เข้าใจความต้องการและความหลากหลายของบัณฑิตในการเปิดโอกาสให้บัณฑิตแต่งกายตามเพศสภาพด้วยชุดครุยวิทยฐานะในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งถือเป็นปีแรก และเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียม รวมถึงเป็นการคุ้มครองและส่งเสริมให้บุคคล, ชุมชนคนข้ามเพศและสังคมไทยก้าวสู่ความเป็นสากลทัดเทียมนานาอารยประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยตระหนักถึงสิทธิการเข้าถึงความยุติธรรมและได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และยังขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น