หลังเกิดกรณีดรามา “พิธา” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ติดเชื้อโควิดทั้งที่ฉีดวัคซีน 6 เข็ม และไม่แนะนำฉีดเข็มที่ 7 เพราะเกินจำเป็น ทำให้เกิดคำถามว่าควรหยุดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วหรือยัง ศูนย์จีโนมฯ แจงว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็นต่อประชาชนกลุ่มเปราะบาง 608 มากเพราะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. เพจ "Center for Medical Genomics" หรือศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความ ให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 โดยระบุข้อความว่า “เราควรยุติการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันโควิด-19 กันแล้วหรือไม่
วัคซีนโควิด-19 โมโนวาเลนต์, ไบวาเลนต์, และไตรวาเลนต์ ต่างกันอย่างไร ปรับปรุง 25/6/2566 เวลา 09:58
คำถามที่ว่า “เรายังควรยุติการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster shot) เพื่อป้องกันโควิด-19 หรือไม่” คำตอบชัดเจนจากองค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) และองค์กรด้านสาธารณสุขของจีน รวมทั้งงานวิจัยที่ศูนย์จีโนมฯ ดำเนินการร่วมกับรพ.รัฐและเอกชนเพื่อศึกษาธรรมชาติของโควิด-19 จากอาสาสมัคร 15,171 คนในเขตพื้นที่ความเสี่ยงสูงในประเทศไทย ตลอด 3 ปีภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บ่งชี้ว่า "ยังมีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง 608" กล่าวคือ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ที่มีโรคประจําตัว, และกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะกลุ่มนี้หากติดเชื้อโควิดจะมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายมาก
ทั้งนี้ ในปัจจุบันจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆให้เห็นว่าวิวัฒนาการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมีการชะลอตัวหรือลดลง ยังคงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ร้ายแรงอยู่ตลอดเวลา คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB แบบไม่แสดงอาการ (asymptomatic infection) ส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันในอดีตและมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้คนที่แข็งแรงสุขภาพดีมักจะไม่ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด
โดยเฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อโควิดตระกูลโอมิครอน ทำให้หลายคนขณะนี้เลือกไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster vaccine) เนื่องจากไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องฉีดสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย หรือจากความกังวลใจในเรื่องผลข้างเคียง แต่อาจกลายเป็นแหล่งรังโรคเคลื่อนที่ของโควิด-19 ได้ ฉะนั้นหากผู้ที่แข็งแรงสุขภาพดี และไม่ได้ฉีดวัคซีนเมื่อพบปะกับ "ผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง" จึงควรพิจารณาป้องกันตนเองมิให้แพร่เชื้อด้วยการใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ
วัคซีนโควิดที่มีใช้ในปัจจุบันมีความชัดเจนว่าด้อยประสิทธิภาพในการป้องกัน "การติดเชื้อ" แต่ก็มีความชัดเจนว่ายังสามารถป้องกัน "การเจ็บป่วยรุนแรง" และป้องกัน "การเสียชีวิต" ได้ดี ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทั้งจีนและสหรัฐฯ ยังเร่งผลิตวัคซีนเข็มกระตุ้นออกมาปกป้องพลเมืองของเขาไม่ให้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางให้ทันต่อการระบาดระลอกใหม่ของโควิดในปลายปีนี้ต่อต้นปีหน้า ดังนั้น หากพูดถึงการป้องกันการติดเชื้อโควิดที่ได้ผลดีที่สุดขณะนี้คือ การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ มิใช่การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นประเภท mRNA ถูกตีพิมพ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ พบว่าประสิทธิภาพของเข็มกระตุ้นดั้งเดิมซึ่งเป็นโมโนวาเลนต์ใช้สายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นต้นแบบสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงได้ประมาณ 25% ในขณะที่ประสิทธิผลของเข็มกระตุ้นแบบไบวาเลนต์เพิ่มขึ้นเป็น 62% โดยรวมแล้วการฉีดวัคซีนไบวาเลนต์เข็มกระตุ้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อรุนแรงมากกว่า 37% เมื่อเทียบการฉีดวัคซีนโมโนวาเลต์แบบดั้งเดิมที่มีไวรัสอู่ฮั่นเป็นต้นแบบ (โมโน, ไบ, หรือ ไตร มาจากภาษาละติน monos, bis, and tres แปลว่า 1, 2 และ 3)
องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยาของสหรัฐ อเมริกา (US FDA) ประสานเสียงเสนอให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนมาใช้โอมิครอนสายพันธุ์เดียว XBB เป็นหัวเชื้อหรือต้นแบบในการผลิต “วัคซีนโมโนวาเลนต์” พร้อมแนะนำให้ประเทศต่างๆ ควรเตรียมตัวเปลี่ยนมาใช้วัคซีน XBB เพื่อให้ทันต่อการป้องกันการติดเชื้อ และทันต่อการป้องกันการเกิดอาการรุนแรงหากติดเชื้อกลายพันธุ์ในปีหน้า (พ.ศ. 2567) แทนการฉีดวัคซีน 2 สายพันธุ์ (ไวรัสอู่ฮั่น+โอไมครอน BA.4/BA.5) หรือ “วัคซีนไบวาเลนต์” ซึ่งได้มีการนำมาใช้ในช่วงปีนี้ (พ.ศ. 2566) และเพื่อให้การผลิตวัคซีนถึงประชาชนอเมริกันในเดือนกรกฎาคม 2566 สามบริษัทซึ่งผลิตวัคซีน mRNA และวัคซีนชิ้นส่วนโปรตีนของโควิด-19 (protein subunit) จึงเลือกใช้โอมิครอน XBB.1.5 เป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีนสำหรับใช้ในช่วงฤดูกาล พ.ศ. 2566-2567
จากข้อมูลการทดสอบวัคซีนเบื้องต้นยังแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ สามารถสร้างแอนติบอดีที่ขัดขวางโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นในกลุ่ม XBB เช่น XBB.1.16, XBB.2.3 ไม่ให้จับกับเซลล์ของมนุษย์และแพร่เชื้อได้ ทั้งนี้ จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมก่อนหน้านี้พบว่าในกลุ่มโอมิครอน XBB มีการกลายพันธุ์ต่างกันเพียง 2-3 ตำแหน่งบนส่วนของหนาม ต่างกับการกลายพันธุ์ระหว่างโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ซึ่งแตกต่างกันถึง 28 ตำแหน่ง
นั่นหมายความว่า การฉีดวัคซีน XBB.1.5 จะกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีที่สามารถเข้าจับและทำลายโอมิครอนในกลุ่ม XBB ได้ทั้งกลุ่ม เนื่องจากมีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามต่างกันไม่มาก
องค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาเห็นตรงกันว่าวัคซีนโควิด-19 ในปี 2567 ควรเป็นวัคซีนสายพันธุ์เดียว หรือวัคซีนโมโนวาเลนต์ (covid-19 monovalent vaccine) ที่กำหนดเป้าหมายไปที่โอมิครอน XBB.1.5, XBB.1.16 หรือ XBB.2.3
เนื่องจากปัจจุบันพบสายพันธุ์ย่อย XBB มากกว่า 95% ของสายพันธุ์ไวรัสที่หมุนเวียนระบาดอยู่ในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566
สายพันธุ์ XBB หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากกว่าสายพันธุ์ย่อยโอมิครอนก่อนหน้า และปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 95% ของผู้ป่วยโควิดทั่วโลก
ในสหรัฐอเมริกา พบสายพันธุ์ XBB จำนวน 8 สายพันธุ์คิดเป็นกว่า 98% ของผู้ป่วยทั้งหมดในปัจจุบัน โดยมี 3 สายพันธุ์หลักโอมิครอน XBB.1.5 จำนวน 40% และ XBB.1.16 ประมาณ 18% และ XBB.2.3 ประมาณ 6% ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทยพบสายพันธุ์โอมิครอนจากฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสด (GISAID) ระหว่าง 1 พฤษภาคม-15 มิถุนายน 2566 จำนวน 658 ราย พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน XBB* ประมาณ 95.6%
XBB.1.5* ประมาณ 17.5%
XBB.1.16* ประมาณ 35.6%
XBB.1.9* ประมาณ 13.5%
XBB.2.3* ประมาณ 4.7%
โอมิครอน XBB.1.16, XBB.1.9 และ XBB.2.3 คาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นมาและแทนที่ XBB.1.5 ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2566
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ใช้สายพันธุ์เก่ามาเป็นหัวเชื้อร่วมกับสายพันธุ์ใหม่ (วัคซีนไบวาเลนต์) แม้ผลกระทบทางคลินิกจะยังไม่ชัดเจนแต่มีหลักฐานในหลอดทดลองบ่งชี้ว่าหากใช้สายพันธุ์เดิมฉีดกระตุ้นซ้ำๆ จะทำให้การสร้างแอนติบอดีของเม็ดเลือดขาวต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ไปเล็กน้อยลดประสิทธิภาพลง (การประทับตราภูมิคุ้มกัน: immune imprinting*) จึงควรใช้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เท่านั้นในการผลิตวัคซีนในอนาคต
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์และทางการของจีนเห็นต่างที่จะใช้เพียง “โควิด-19 โมโนวาเลนต์วัคซีน” เพราะเกรงว่าจะมีการติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อนหน้าที่มีความรุนแรงคือสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน BA.4/BA.5 จึงเลือกที่จะผลิต “โควิด-19 ไตรวาเลนต์วัคซีน”
โควิด-19 ไตรวาเลนต์วัคซีน” จากจีนอาศัยกระบวนการทางวิศวพันธุกรรมตัดต่อยีนบางส่วนของไวรัสโควิดสามสายพันธุ์ คือ โอมิครอน XBB.1.5 + โอมิครอน BA.5 + เดลตา ไปแสดงออกในเซลล์แมลง (Sf9 Cell) ในรูปของโปรตีนที่นำไปฉีดกระตุ้นภูมิ
โปรตีนแอนติเจนที่ใช้ในวัคซีนไตรวาเลนต์นี้ได้รับการออกแบบโดยอิงโครงสร้างของโปรตีน S-RBD และ HR ของโควิด-19 เดลตา และโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 และ BA.5 โดยประกอบขึ้นเป็นอนุภาคโปรตีนไตรเมอร์ แขวนลอยในน้ำมัน สามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาวประเภททีเซลล์ (T-cell) ในระดับที่สูงขึ้น ทั้งยังพบว่าแอนติบอดีสร้างจากบีเซลล์ถูกกระตุ้นด้วยการฉีดวัคซีนไตรวาเลนต์เข้าไป 14 วัน สามารถจับและทำลาย (neutralization) โอมิครอน XBB.1.5, XBB1.16, XBB1.9.1, XBB.2.3, BA.5, BF.7, BQ 1, BA.2.75. ได้ในหลอดทดลอง และจากการทดสอบยังพบมีประสิทธิภาพในการป้องกัน XBB.1, XBB.1.5, XBB1.9 ถึง 93.28% เป็นวัคซีนที่ป้องกันเชื้อโควิดได้หลายสายพันธุ์ (board spectrum vaccine)
ปลายปี 2566 ต่อไปยังปี 2567 คงจะมีข้อมูลทางคลินิกจากผู้ที่ฉีดโควิด-19 XBB โมโนวาเลนต์และกลุ่มที่ฉีดโควิด-19 XBB ไตรวาเลนต์ ทยอยออกมาให้เปรียบเทียบว่าวัคซีนประเภทใดจะป้องกันการติดเชื้อ ป้องการการเกิดอาการรุนแรง และป้องกันการเสียชีวิตได้ดีกว่ากัน
ประสิทธิภาพของวัคซีน XBB ทั้งโมโนวาเลนต์และไตรวาเลนต์ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและการทดลองทางคลินิก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางชิ้นเสนอว่าหากวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ XBB ไม่ได้ หรือได้ไม่ดี ยาต้านไวรัส เช่น เรมเดซิเวียร์ ยังมีประสิทธิภาพในการต่อต้านทั้ง XBB.1.5 และ XBB ทั้งจากการทดสอบในหลอดทดลองและทางคลินิก
ผลการทดสอบที่ทยอยออกมาแสดงให้เห็นว่า วัคซีนโมโนวาเลนต์ที่มุ่งเป้าไปที่โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพในการสร้างแอนติบอดีต่อโอไมครอน XBB.1.5 ได้สูงกว่าวัคซีนแบบไบวาเลนต์ที่ใช้โอมิครอน XBB.1.5 ร่วมกับโอมิครอน BA.4/5 เป็นต้นแบบ อย่างไรก็ตามประสิทธิผลของวัคซีนทั้งสองชนิดต่อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ