สธ.ตอบปม นักวิชาการชี้ฉีดวัคซีนโควิด 6 เข็มอย่าง "พิธา" ยังติดเชื้อ ย้ำหลักการวัคซีนลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ทำให้สถานการณ์ดีกว่าตอนไม่มีวัคซีน การป้องกันติดเชื้อต้องใช้มาตรการอื่นร่วมด้วย
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตอบคำถามกรณีผู้สื่อข่าวถามถึงมีนักวิชาการออกมาพูดถึงข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 มากไปไม่มีประโยชน์ แม้แต่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังติดทั้งที่ฉีดไป 6 เข็ม ว่า โดยหลักการประสิทธิภาพวัคซีนลดอาการป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิต คนที่ฉีดหากติดอาการจะไม่หนัก ลดความรุนแรง ไม่เสียชีวิตก็ถือว่าเป็นประโยชน์ของการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนมี 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยของแต่ละบุคคล และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของประชาชนทุกคนในประเทศ อย่างไรก็ตามการติดเชื้อ พอเชื้อกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ความสามารถป้องกันการติดเชื้อโดยวัคซีนเพียงอย่างเดียวคงไม่เต็มที่ ต้องมีมาตรการอื่นร่วมด้วย
เมื่อถามถึงกรณีออกมาพูดว่าวัคซีนรุ่นไบวาเลนท์ไม่มีประโยชน์ นพ.โอภาสกล่าวว่า คำแนะนำการฉีดมาจากคณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ต่างๆ โดยอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คงต้องฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการฉีดมีคำแนะนำให้ฉีดประจำปี ก็ขอเชิญชวน โดยพาะกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่เชิญชวน ทั้ง 60 ปีขึ้นไป คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือคนที่มีความเสี่ยงที่จะกระทบคนจำนวนมากก็จะมีการฉีดให้ฟรี ที่ผ่านมาคนติดเชื้อรอบนี้ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มลดลง อาการค่อยข้างน้อย มีกลุ่มที่เสียชิวิตที่ประเมินมาตลอดยังเป็นกลุ่ม 608
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวควรสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้เกิดความเข้าใจ เพื่อคนจะได้ไม่ตื่นตระหนก ช่วงโควิดที่ผ่านมาเรื่องบูลลี่ทำให้ประชาชนเสียโอกาสไปเยอะมาก เราคิดแบบไม่เป็นแพทย์ว่า ก่อนมีวัคซีนมีผู้ป่วยโควิดรุนแรงเสียชีวิตเข้าห้องไอซียู มีความสูญเสียต่างๆ มากมาย หลังฉีดวัคซีนตามวงรอบที่กำหนด อัตราเสียชีวิต อัตราการติดเชื้อก็ลงน้อยลง แม้ติดอาการก็ไม่รุนแรงเท่าก่อนที่ไม่มีวัคซีน ต้องดูหลายอย่างประกอบว่า การมีวัคซีนเทียบกับตอนที่ไม่มี ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนหลายโดส 5-6 โดส บางคนติดเชื้อด้วยก็มีภูมิเพิ่มอีก ทำให้การติดเชื้อแม้ยังมีทุกวันนี้ ก็ไม่มีความรุนแรงสำหรับคนที่อยู่ในภาวะสุขภาพปกติ การติดเชื้อรุนแรงและสูญเสียยังอยู่ในกลุ่ม 608
"อีกสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดตอนที่ผมไปประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ผอ.องค์การอนามัยโลกก็พูดว่ากว่าที่องค์การอนามัยโลกประกาศอะไรออกมา ต้องมีการพิจารณาศึกษาอย่างละเอียด แม้ประกาศลดระดับความรุนแรงและยังมีการติดเชื้ออยู่ แต่ไม่ถือว่าอยู่ในสภาวะการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป ฝากผู้สื่อข่าวชี้แจงประชาชนให้รับทราบ เราต้องยึดถือข้อมูลจากองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงที่มีการศึกษาวิจัย ติดตาม เราถึงจะนำมาใช้ให้กับประชาชน มีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ไม่ต้องให้ความสำคัญ หรือแม้แต่ที่บอกฉีดแล้วกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นอาการข้างเคียงที่เกิดได้น้อยมาก ถือว่าเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ" นายอนุทินกล่าว