1."ไอซ์ รักชนก" ให้ท้าย "หยก" ต้องได้เรียน ด้าน "เตรียมพัฒน์" แถลงย้ำ "หยก" ไม่มีสถานะนักเรียน เหตุไม่มอบตัวตามเงื่อนไขที่กำหนด!
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. น.ส.ธนลภย์ หรือหยก อายุ 15 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ได้ออกมาโพสต์ข้อความเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ พร้อมเผยว่าตนเองแต่งชุดไปรเวตกับย้อมผมไปโรงเรียนมา 3 สัปดาห์แล้ว โดยระบุว่า “สัปดาห์ที่แล้วเป็นสัปดาห์แรกที่เราใส่ชุดไปรเวต และเป็นสัปดาห์ที่สามแล้วที่เราย้อมสีผมและทำทรงผมที่เราสะดวก เราเข้าเรียนตามปกติทุกคาบที่มีเรียน เราคิดว่าการแต่งกายและทรงผมมันไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการเรียนของเรา สิ่งที่เป็นปัญหาคือโครงสร้างของการศึกษาไทยมากกว่า เราอยากให้มีเสรีทรงผมและการแต่งกายภายในโรงเรียนทุกโรงเรียน ไม่ใช่แค่โรงเรียนเอกชน เหตุใดเราจึงต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อแลกกับอิสรภาพและสิทธิพื้นฐานในเนื้อตัวร่างกายของเราที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด
“เราไม่อยากให้มีใครตายเพราะการลิดรอนสิทธิเสรีภาพภายในโรงเรียนอีกแล้ว เราอยากให้กระทรวงศึกษาฯ สนใจแก้ปัญหาและพัฒนาหลักสูตรให้เป็นสากล เราอยากให้โรงเรียนสนใจสภาพจิตใจของนักเรียน พัฒนาการสอนให้นักเรียนมีความสุขกับการไปเรียนมากกว่าการเคร่งกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น การปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพต้องเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียน!”
ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวถูกชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ต่อมาเจ้าตัวได้ออกมาโพสต์ข้อความอีกครั้ง ว่า ตนเองถูกทางโรงเรียนไล่ออกแล้ว โดยระบุว่า “โรงเรียนบอกว่าไล่เราออกแล้ว บอกว่าให้เราจำไว้ว่าต่อไปนี้เราคือบุคคลภายนอก วันนี้เราถูกเรียกเข้าไปคุยหลังจากเข้าคาบเรียน ครูบอกขอคุยแต่เราขอเรียนก่อน (เขาเฝ้าเราหน้าห้อง) พอเลิกเรียนเราก็ไป เขาให้เพื่อนที่เป็นหัวหน้ากับรองหัวหน้าไปด้วย เราเข้าไปมีครูที่เป็นรอง ผอ. 2 คน ครูผู้ชาย 2 คน ครูประจำชั้น 2 คน
ครูผู้ชายว่าเราว่าไปทำอะไรมา ทำไมถึงโดนตาม ทำไมเราถึงไม่ปลอดภัย เราขอให้โทร.หาผู้ปกครองเรา เรากดอัดเสียงเพราะเราอยากจะแจ้งผู้ปกครองเราว่าครูทำอะไร ครูถามว่าเราไลฟ์เหรอ เราบอกว่าไม่ใช่ แต่เราบอกไปตรงๆ ว่าเราอัดเสียง ครูผู้ชายก็พูดขึ้นมาว่า รักษาสิทธิแต่ละเมิดสิทธิคนอื่น เราถามละเมิดสิทธิคนอื่นตรงไหน เขาตอบ ก็อัดเสียง เรารู้สึกอึดอัดรู้สึกไม่ไหวเลยขอออก แต่ครูเขาก็ห้าม เขานั่งขวางทุกทาง เราเลยหาทางออกแต่ไม่มีทางให้ออก ข้างหลังเป็นหน้าต่าง ข้างหน้ามีโต๊ะเราเลยเลือกที่จะคลานมุดโต๊ะออกไป สุดท้าย รอง ผอ.ผู้หญิงหนึ่งในสองคนบอกเราว่า จะคืนค่าเทอมให้ และครูพูดใส่เราว่า จำไว้นะว่าเธอคือบุคคลภายนอก #ใต้เตียงเกียมพัด”
แม้จะโพสต์ว่าถูกไล่ออกจากโรงเรียนแล้ว แต่วันต่อมา (14 มิ.ย.) หยกก็ยังไปโรงเรียน แม้ประตูปิด แต่หยกก็ใช้วิธีปีนรั้วเข้าโรงเรียนและยังคงใส่ชุดไปรเวท หลังจากวันนั้นก็ยังคงปีนรั้วเข้าโรงเรียน บางวันก็ปีนเข้าทางหน้าต่าง
ด้านโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการได้ออกแถลงการณ์กรณีน้องหยกเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ว่า "น.ส.ธนลภย์ สำเร็จการศึกษาชั้น ม.3 ปีการศึกษา 2565 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมาย วันที่ 1 เม.ย. 2566 มารดาของน้องหยกมาบันทึกขอเลื่อนการมอบตัวเพื่อศึกษาต่อระดับชั้น ม.4 ต่อมาวันที่ 19 พ.ค. 2566 โรงเรียนได้รับรายงานตัวนางสาวธนลภย์ไว้ก่อน เพื่อรักษาสิทธิในการศึกษาต่อ (หลังจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จ.นครปฐม ได้ปล่อยตัวในคดี ม.112) ซึ่งในการรายงานตัวดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการมอบตัวตามประกาศการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566
ซึ่งโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนเข้าเรียนก่อน และเน้นย้ำให้นำผู้ปกครอง (มารดา) มามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนจะต้องยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบ DMC ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่นักเรียนไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบ จึงไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการในปีการศึกษา 2566
หลังจากนางสาวธนลภย์ เข้าเรียนในวันที่ 22 พ.ค. 2566 โรงเรียนได้ชี้แจงให้รับทราบระเบียบแนวปฏิบัติตามคู่มือนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านการประชาพิจารณ์โดยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และนักเรียนทุกคนได้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ แต่น้องหยกไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เช่น ไม่แต่งกายชุดนักเรียน การทำสีผม การมาเรียนตามเวลา/รายวิชาตามความพอใจของนักเรียน รวมทั้งขอไม่เข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการไม่ยอมรับกฎระเบียบและไม่เข้าสู่กระบวนการของโรงเรียน
โรงเรียนขอเน้นย้ำให้ทราบว่า ไม่เคยปฏิเสธการรับนักเรียนเข้าเรียน และได้ให้การดูแลตามระบบ ดูแลการช่วยเหลือนักเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ถึงแม้นักเรียนไม่ได้ให้ความร่วมมือในการปรับปรุงพฤติกรรม ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น"
เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.รักชนก ศรีนอก หรือไอซ์ ว่าที่ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เชิงตั้งคำถามและสนับสนุนน้องหยกว่า กฎระเบียบข้อไหนกันที่บังคับให้ต้องเอาพ่อแม่มาเท่านั้นถึงจะมอบตัวได้ แล้วแบบนี้เด็กกำพร้าที่ไม่มีทั้งพ่อและแม่ไม่ต้องมอบตัวไม่ต้องเรียนหนังสือหรือไง ถ้ากลไกสภายังทำงานอยู่ไอซ์จะร้องเรื่องนี้ให้กรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตอบคำถามสังคม
ไอซ์ ขอยืนยันจุดยืน ไม่ควรมีเด็กคนไหนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยความไม่สมัครใจ ไม่ว่าด้วยกฎระเบียบข้อบังคับใดก็ตาม ลองถามใจลึกๆ ดู ว่า ควรมีเด็กคนไหนในประเทศนี้ต้องออกจากระบบการศึกษาไป เพราะสังคมบางส่วนรู้สึกว่าน้อง “ทำตัวไม่น่ารัก” หรือเพราะไม่เคารพกฎระเบียบแบบเดิมๆ หรือเปล่า เรากำลังต่อสู้กับขนบเดิมๆ กันอยู่ไม่ใช่หรือ
ทั้งนี้ การกระทำของหยกถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือคุณปลื้ม ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีหยกว่า "สิทธิเสรีภาพก็ยังอยู่ใต้กฏหมาย คุณมีสิทธิเสรีภาพภายใต้ที่กฎหมายกำหนด นี่เรียกว่าสังคมที่มีกฎระเบียบ ในกรณีนี้สถาบันการศึกษาก็มีกฎของสถาบัน อยู่ในโรงเรียนก็ต้องมีกฎระเบียบของสถานการศึกษานั้นๆ 2. เราจะสอนให้เด็กรุ่นต่อไปไม่เคารพกฎไปเรื่อยๆ หรือ? อย่างนี้ถ้าอนาคตมีคนไม่พอใจ จะเปลี่ยนกฎอะไรก็ได้ ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎนั้นเลยง่ายๆ ทั้งที่โดยส่วนรวมผู้อื่นก็ยังยินดีปฏิบัติตามกฎนั้นอยู่? มันเเฟร์ต่อผู้อื่นซึ่งร่วมศึกษาในสถาบันนั้นๆ ไหม?...”
"...ถ้ารักรุ่นต่อไปจริงๆ ไม่ใช่รักเพื่อให้ตนเองดูเหมือนว่าเป็นฮีโร่ของฝ่ายประชาธิปไตย ก็ควรที่จะสอนให้เขาปฏิบัติตามกฎ ส่วนใครอยากให้ท้ายเด็กไปเรื่อยๆ ก็เชิญ ... แล้ววันหนึ่งก็จะเข้าใจเองว่า ผลต่อตัวเด็กผู้นั้นเเละผลต่อสังคมจะเป็นเช่นไร"
ด้านโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 (17 มิ.ย.) กรณีน้องหยก โดยระบุว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 6 สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ชมรมครูเก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และสภานักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ขอแถลงการณ์ ดังนี้
1.น.ส.ธนลภย์ ไม่มีสภาพการเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เนื่องจากการมอบตัวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการมอบตัวตามประกาศการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ที่กำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องมามอบตัวที่โรงเรียนพร้อมกับผู้ปกครอง (ผู้ปกครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2566) อันเป็นเงื่อนไขสำคัญตามระเบียบและแนวปฏิบัติในการมอบตัว ซึ่งนำมาใช้กับนักเรียนทุกคน ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ในวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (DATA MANAGEMENT CENTER : DMC ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่มีฐานข้อมูลนักเรียนของ น.ส.ธนลภย์ ในระบบตั้งแต่ต้น
2.สิทธิในการศึกษาต่อของ น.ส.ธนลภย์ ยังมีหน่วยงานทางการศึกษาอื่นที่สามารถดูแลการเรียนต่อให้เหมาะสมตามความต้องการได้
3.จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของนักเรียน ครู บุคลากร และผู้ปกครอง รวมทั้งอาคารสถานที่และทรัพย์สินอื่นๆ ของโรงเรียน จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
2.ไอทีวี ออกแถลงการณ์ย้ำ ยังไม่เลิกกิจการ ยังดำเนินการอยู่ตามวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนไว้ ด้าน "เรืองไกร" เปิดหลักฐาน "พิธา" โอนหุ้นไอทีวีให้น้องชาย 25 พ.ค.66!
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวกรณี กกต.มีมติไม่รับ 3 คำร้องให้สอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลว่ามีลักษณะต้องห้ามลงสมัคร ส.ส. กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี แต่ กกต.ให้ตั้งคณะกรรมการสอบความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครแต่ยังคงลงสมัครตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า ที่ กกต. มีมติ 6 ต่อ 0 ตีตกคำร้อง โดยอ้าง พ.ร.ป.ส.ส. มาตรา 51 และมาตรา 60 นั้น พอฟังได้เฉพาะกรณีประเด็นที่ร้องลักษณะต้องห้ามในคราวสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อเมื่อ 4 เม.ย. 66 เท่านั้น
แต่เนื่องจาก กกต. ไปตั้งเรื่องให้สอบทางอาญาตามมาตรา 151 ฐานรู้ว่าไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ว่า กกต. เห็นว่าการถือหุ้นสื่อตามคำร้องเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ส.ส. มาตรา 42(3) ประกอบ รธน. มาตรา 98(3) ดังนั้น ในคำร้องยังมีประเด็นอื่นที่เป็นผลมาจากการถือหุ้นสื่อรวมอยู่ด้วย ซึ่ง กกต. ควรดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป เช่น สมาชิกภาพ ส.ส. เมื่อต้นปี 62 สิ้นสุดลงหรือไม่ หรือทำไม กกต. ไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ตาม พ.ร.ป.ส.ส. มาตรา 14 วรรคสอง ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 89 วรรคสอง ให้ถือว่า ไม่มีการเสนอชื่อนายกฯ ใช่หรือไม่
วันต่อมา (12 มิ.ย.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ได้ยื่นคำร้องขอให้ กกต. ตรวจสอบการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธาว่า เข้าข่ายมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่ ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องใหม่ หลัง กกต.ไม่รับคำร้องก่อนหน้านี้ โดยระบุว่าเป็นการยื่นเกินเวลา
นายนพรุจ กล่าวว่า การที่ กกต. ปัดตกคำร้อง ไม่ได้แปลว่าเรื่องนี้ตกไป แต่เป็นความปรากฏต่อ กกต. จึงสั่งดำเนินคดีอาญามาตรา 151 ตนจึงมายื่นคำร้องให้ กกต.ตรวจสอบเป็นกรณีใหม่ ซึ่งเป็นการยื่นหลังการเลือกตั้ง และเป็นประเด็นที่นายพิธาโอนหุ้นให้บุคคลอื่นหลังเลือกตั้ง ทั้งนี้ หาก กกต.ไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการล่าช้า ตนจะไปยื่นต่อ ส.ส. ที่จะได้รับการรับรอง พร้อมข้อมูลหลักฐาน เพื่อให้เข้าชื่อ 1 ใน 10 ของ ส.ส.โดยยื่นผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งประธานรัฐสภาไม่มีสิทธิยับยั้ง ต้องส่งตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย และหาก ส.ส.ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามที่ต้องการข้อมูล ตนก็พร้อมที่จะให้ รวมทั้งจะยื่นให้คณะกรรมาธิการวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะคณะกรรมการตรวจสอบหุ้นของวุฒิสภาให้ทำการตรวจสอบถ่วงดุลกับ กกต.
"ขอย้ำว่า ผมจะไม่หยุดดำเนินการ จะนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ยืนยันว่าไม่ได้ทำนิติกรรมสงคราม แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายนิติรัฐ ดำเนินการโดยนิติธรรม เป็นการบังคับใช้กับประชาชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ...ขอให้ทุกพรรคอย่านำมาเป็นเงื่อนไขสร้างความขัดแย้ง สร้างวาทกรรมให้เกิดความสับสน เพราะความผิดปรากฏตามกฎหมาย ...ขอให้ กกต.พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ หากพบเข้าข่ายมีความผิด ก็ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ผมจะยื่นหลักฐานให้ ส.ส."
ส่วนกรณีที่ทีวีช่องหนึ่งมีการเปิดเผยคลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ที่ระบุว่า บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จะรอผลของข้อพิพาทคดีที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ให้จบก่อน นายนพรุจ กล่าวว่า ข้อเท็จจริง แม้แต่การถือหุ้นเดียวหรือบริษัทปิดกิจการเหมือนวีลัคมีเดียของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ศาลจะตรวจดูว่า ถ้าชื่อตรงกับสื่อมวลชนก็จะไม่แปลความเป็นอย่างอื่น แม้แต่ปิดกิจการไปแล้วก็ต้องได้รับโทษ อย่างกรณีนายสุรโชค ทิวากร ผู้สมัครพรรคไทยภักดี ที่ถือหุ้นบริษัท อสมท.จำกัด มหาชน เพียง 1 หุ้น หุ้นละ 5 บาท ซึ่งไม่มีโอกาสครอบงำสื่อเลย และไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ตามกฎหมายเมื่อเข้ามาสมัครแล้ว คุณรู้อยู่แล้วแต่จงใจสมัครก็ต้องได้รับโทษ ส่วนหลักฐานที่ตนนำมาให้ กกต. เป็นคำสัมภาษณ์ของนายพิธา ที่ยอมรับต่อสื่อว่าได้โอนหุ้นให้ทายาท ส่วนเรื่องบริษัทไอทีวีปิดหรือไม่ปิดนั้น จะยื่นหลักฐานเพิ่มเติมหลัง กกต.ประกาศรับรอง ส.ส. เพื่อประกอบการพิจารณา
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา รายการข่าว 3 มิติ ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ประจำปี 2566 ซึ่งมีเนื้อหาใจความไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุมที่ถูกเผยแพร่ตามสื่อก่อนหน้านี้ ซึ่งเอกสารรายงานการประชุม ระบุว่า หลังผู้ถือหุ้นรายหนึ่งถามประธานที่ประชุมว่า ไอทีวียังเป็นสื่อหรือไม่ ประธานตอบว่า ยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ แต่คลิปที่ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นำมาเปิดในรายการข่าว 3 มิติ ประธานตอบว่า บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จะรอผลของข้อพิพาทคดีที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ให้จบก่อน
อย่างไรก็ตาม บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดคลิปดังกล่าว จึงมีการตัดต่อหลังคำถามของผู้ถือหุ้น ก่อนที่ประธานจะตอบ ทั้งที่เป็นช่วงสำคัญ ไม่ควรมีการตัดต่อ เพราะจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ โดยเหตุที่รู้ว่ามีการตัดต่อคลิป เพราะภาพสะดุด-มุมกล้องขยับ ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้คือ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการ ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมเผยว่า เบื้องต้น ฐปณีย์ระบุว่า ลงคลิปเต็ม ไม่ได้มีการตัดต่อ และระบุว่าที่ภาพสะดุดอาจเป็นเพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตขณะประชุม แต่ภายหลังกลับยอมรับว่ามีการตัดต่อ แต่อ้างว่า ตัดออกแค่เสี้ยววินาที และเป็นช่วงเดดแอร์
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า กระแสบางส่วนเชื่อคลิปดังกล่าว และด่วนตัดสินว่า เอกสารรายงานการประชุมที่ออกมาก่อนหน้าน่าจะเป็นเท็จ ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ให้กระจ่าง ไม่มีการนำคลิปเต็มมาเปิดเพื่อยืนยันว่า ส่วนที่ถูกตัดต่อออก เป็นแค่เสี้ยววินาทีของการเดดแอร์จริงหรือไม่ ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีหลายวาระ และผู้เกี่ยวข้องยืนยันว่า มีการถามทุกวาระ พร้อมยืนยันว่า ประธานที่ประชุมตอบว่าไอทีวียังเป็นสื่ออยู่ ยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์
ด้านนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวกรณีมีการเผยแพร่คลิปภาพการประชุมผู้ถือหุ้น ไอทีวี ซึ่งเกี่ยวข้องกับที่มีการร้องเรื่องการถือหุ้นสื่อของนายพิธาว่า เนื่องจากได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ขึ้นมาพิจารณาคดีคุณสมบัติในส่วนของคดีอาญา ตามมาตรา 151 ของกฎหมายเลือกตั้ง ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ฝ่าฝืนลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน คงจะเรียกข้อมูลดังกล่าว จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาในส่วนนี้ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดหลักฐานการโอนหุ้นบริษัท ไอทีวี ของนายพิธา โดยเป็นหลักฐานจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า นายพิธา โอนหุ้นจำนวน 42,000 หุ้นให้กับนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นน้องชาย ในวันที่ 25 พ.ค. 2566 รวมถึงเปิดงบการเงินฉบับย่อของบริษัทไอทีวี และบริษัทย่อย ที่ระบุว่า 24 ก.พ.2566 มีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เม.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา
โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้เพื่อเตือนความจำนายพิธา และพรรคก้าวไกล ที่ตอบว่าจำไม่ได้ว่าโอนหุ้นไปเมื่อไหร่ ส่วนเอกสารงบการเงินฉบับย่อที่ตนนำมาเปิดเผยเป็นการบ่งชี้ว่า บริษัทมีการดำเนินธุรกิจสื่อ
ด้าคณะกรรมการบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ชี้แจงเกี่ยวกับบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น โดยย้ำว่า บริษัทยังไม่ได้เลิกกิจการ ยังดำเนินการอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ส่วนเหตุที่บันทึกไม่ตรงกับคำพูดในที่ประชุม เพราะเป็นการสรุปสาระสำคัญพื่อความกระชับ มิได้จดเป็นคำต่อคำ พร้อมเผยงบการเงินไตรมาส 1 เป็นเพียงร่างงบการเงินที่ใช้ภายในบริษัท ยังไม่ได้ตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี ไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้
"...สำหรับในส่วนที่มีการบันทึกรายงานการประชุมว่า "ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทและมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ" นั้น บริษัทไม่ได้ต้องการจะสื่อสารว่าบริษัทยังประกอบกิจการสื่ออยู่ แต่หมายถึงบริษัทยังคงดำเนินการอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมิได้มีการเลิกกิจการแต่อย่างใด..."
3. เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 9 คดี "ธาริต" แจ้งข้อหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ" มิชอบ หลังเจ้าตัวอ้างป่วย ศาลสั่งไต่สวนหมอที่ออกใบรับรองแพทย์!
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 9 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบ นปช.เมื่อปี 53 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมา โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษพวกจำเลย ซึ่งศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ด้านจำเลยทั้งสี่ได้ยื่นฎีกา
เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีนี้ ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว 8 ครั้ง แต่นายธาริตก็ไม่เดินทางมาศาล โดยขอเลื่อนฟังคำพิพากษามาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่อ้างว่าป่วย รวมระยะเวลาที่เลื่อนนานกว่า 1 ปีแล้ว
โดยครั้งแรกที่ต้องเลื่อนคือ วันที่ 16 ธ.ค.2564 เนื่องจากนายประกันของนายธาริต อ้างว่า นายธาริตย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไม่สามารถนำตัวมาส่งศาลได้
ครั้งที่สอง วันที่ 10 ก.พ.2565 นายธาริตขอเลื่อนอีก โดยอ้างว่า ป่วย เกิดอาการชักเกร็ง แขนขาข้างซ้ายอ่อนแรง รักษาตัวที่ รพ.พญาไท 2
ครั้งที่สาม วันที่ 21 เม.ย.2565 นายธาริตขอเลื่อนอีกโดยอ้างว่า ป่วยโควิด-19 ขอพักรักษาตัว 3 เดือน
ครั้งที่สี่ วันที่ 22 มิ.ย.2565 เลื่อนอีก เพราะศาลได้รับแจ้งว่า ไม่สามารถส่งหมายแจ้งวันนัดให้นายธาริตได้ เนื่องจากมีการย้าย ไม่ทราบที่อยู่ใหม่ ฃฃ
ครั้งที่ห้า วันที่ 7 ก.ย. 2565 เลื่อนอีก โดยนายธาริตอ้างว่า ป่วยโควิด-19 รอบใหม่ และรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2
ครั้งที่หก วันที่ 9 ธ.ค. 2565 เลื่อนอีก โดยนายธาริตอ้างว่า ป่วยเป็นโรคนิ่วในไต ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ด้วยการผ่าตัด
ครั้งที่เจ็ด วันที่ 2 ก.พ. 2566 เลื่อนอีก โดยนายธาริตอ้างว่า ป่วยโรคนิ่วในไต รักษาที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ครั้งนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แพทย์ไม่ได้ลงความเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีอาการเจ็บป่วยถึงขนาดที่ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุเจ็บป่วยมาแล้วหลายครั้งเป็นเวลากว่า 1 ปี น่าเชื่อว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล เป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า ตามพฤติการณ์จึงมีเหตุให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 หลบหนี จึงให้ออกหมายจับ พร้อมนัดอ่านคำพิพากษาครั้งที่ 8 ในวันที่ 24 มี.ค. 2566
แต่เมื่อถึงกำหนด นายธาริตก็ไม่มาศาล ขณะที่ทนายของนายธาริต ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริต มาตรา 4 ที่ใช้บังคับคดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ทนายยังแจ้งว่า นายธาริตยังขอถอนคำให้การเดิม และขอให้การใหม่ เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ ขณะที่ทนายโจทก์ที่ 1-2 แถลงค้าน ด้านศาลอาญาได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา โดยให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาวันที่ 16 มิ.ย.2566
แต่เมื่อถึงกำหนด (16 มิ.ย.) นายธาริตก็ไม่เดินทางศาล มีเพียงจำเลยอีก 3 คนที่เดินทางมา ขณะที่ทนายความและนายประกันของนายธาริต ได้ยื่นคำร้อง 2 ฉบับต่อศาล ฉบับเเรกยื่นขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาออกไป โดยอ้างว่า มีอาการป่วยบ้านหมุนพร้อมใบรับรองเเพทย์ ส่วนคำร้องอีกฉบับ เป็นคำร้องเพิ่มเติมที่เคยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปก่อนเเล้ว
ด้านศาลอาญาพิเคราะห์เเล้วให้ส่งคำร้องทั้ง 2 ฉบับให้ศาลฎีกา พร้อมนัดฟังคำสั่งของศาลฎีกาในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว เวลา 14.00 น. อย่างไรก็ตาม เวลา 14.00 น. ศาลอาญาได้แจ้งจำเลยว่า ศาลฎีกาอยู่ระหว่างพิจารณาทำคำสั่ง
กระทั่ง เวลา 17.00 น. ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาที่พิจารณาแล้ว เห็นว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ใช้อาการเจ็บป่วยเป็นคำร้องขอเลื่อนการฟังคำสั่งคำพิพากษามาแล้วหลายครั้ง และมีจำนวนหลายครั้งที่มีใบรับรองแพทย์จาก พญ. อยุทธินี สิงหโกวินท์ จากโรงพยาบาลพญาไท 2 แต่พบว่า การลงลายมือชื่อในใบรับรองแพทย์แต่ละครั้งไม่เหมือนกัน
เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นกำหนดนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาภายใน 30 วัน ให้ไต่สวนใบรับรองแพทย์และแพทย์หญิงคนดังกล่าว และอาการป่วยของจำเลยที่ 1 ว่ามีอาการเจ็บป่วยจริง เเละไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ตามกำหนดนัดเป็นข้อเท็จจริงถูกต้องหรือไม่
ซึ่งศาลอาญานัดไต่สวนใบรับรองเเพทย์ในวันที่ 3 ก.ค. นี้ เวลา 09.00 น. โดยจะมีการเบิก พญ.อยุทธินี มาไต่สวน และเลื่อนฟังคำสั่งและคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 10 ก.ค. เวลา 09.00 น.
4. "ศรีสุวรรณ" หอบพยานหลักฐานยื่น กกต. สอบสวนเอาผิด 3 พรรคอยู่เบื้องหลังขบวนนักศึกษาทำประชามติแยกดินแดน "ปัตตานี" ชี้ โทษถึงขั้นยุบพรรค!
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคการเมือง 3 พรรค กรณีพบว่ามีกรรมการบริหารพรรคหรือพรรคการเมือง มีพฤติการณ์สนับสนุนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังขบวนการนักศึกษาที่จัดกิจกรรมเปิดตัวเมื่อ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีการจัดทำประชามติแยกดินแดน อันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามที่แม่ทัพภาค 4 และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) แถลงไปเมื่อวันก่อน
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ภายในงานปรากฏชัดแจ้งว่า มีการทำแบบสำรวจความคิดเห็นอย่างง่าย ระบุข้อความว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” และมีช่องให้ใส่เครื่องหมาย ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยในเอกสารที่ทำคล้ายๆ บัตรลงคะแนน หรือบัตรลงประชามติ มีหมายเหตุตอนท้ายว่า ใช้กับชาวปาตานีผู้ที่ลงทะเบียนว่า “อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ปาตานี หรือ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สงขลา เฉพาะ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย”
นายศรีสุวรรณ ชี้ว่า พฤติการณ์หรือการกระทำดังกล่าว ลำพังขบวนนักศึกษาไม่อาจทำได้ หากไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพราะเป็นการละเมิดต่อหลักกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดนที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 1 ที่บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” ซึ่งความผิดตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดโทษสำหรับบุคคลธรรมดา แต่มีบทลงโทษสำหรับพรรคการเมือง ที่จะถูกยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารได้ ตามมาตรา 92(2)(3) หากพิสูจน์ได้ว่า มีพรรคการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว
ส่วนบุคคลธรรมดาหากอยู่เบื้องหลัง อาจต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา119 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ เพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต กรณีดังกล่าวถือว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและของแผ่นดิน
องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ไม่อาจทนนิ่งเฉยได้ จึงได้นำพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งคลิปวิดีโอในงานดังกล่าว และคลิปวิดีโอการปราศรัยของผู้บริหารพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องมามอบให้ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อดำเนินการไต่สวนวินิจฉัยเอาผิดพรรคการเมืองที่เป็นอีแอบอยู่เบื้องหลังขบวนนักศึกษาโดยเร็ว รวมทั้งต้องรีบแจ้งให้ผู้บริหารพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องได้ยุติการกระทำดังกล่าวเสียก่อน ตาม มาตรา 22 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 แล้วค่อยเสนอศาลรัฐธรรมนูญลงดาบตาม มาตรา92(2)(3) ตามกฎหมายดังกล่าวต่อไป
“ขอให้ กกต. นำพรรคการเมืองที่เป็นอีแอบที่อยู่เบื้องหลังของนักศึกษาเหล่านั้นมาลงโทษตามกระบวนการ ไม่ขอบอกว่าเป็นพรรคการเมืองใด แต่ในคำร้องจะมีอยู่และคิดว่าทุกคนคงจะรู้ว่าใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังตามที่แม่ทัพภาค4 และเลขาฯ สมช.ได้พูดไว้ ซึ่งวันนี้ได้นำคลิปวิดีโอในงานดังกล่าว คลิปปราศรัยของผู้นำ แกนนำ และพรรคการเมืองที่ปราศรัยในช่วงหาสียงเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องการแบ่งแยกดินแดนมาให้ กกต.”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2566 ได้มีการจัดกิจกรรมเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ภายในงานปรากฏว่า มีตัวแทนพรรคการเมือง ทั้งพรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม และมีกิจกรรมรณรงค์ให้ลงประชามติเกี่ยวกับการแบ่งแยกรัฐปัตตานี
โดยมีรายงานว่า ฝ่ายความมั่นคงได้เก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับกิจกรรมของนักศึกษา ไม่ใช่เฉพาะกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.เท่านั้น กิจกรรมวันสัมนา และแถลงการณ์สนับสนุนการทำประชามติ มีการถอดเทปไว้ทั้งหมดว่าใครพูดอะไรบ้าง การหาเสียง และปราศรัยต่างๆ ตลอดจนการร่วมกิจกรรมสัมนา เสวนา เวทีต่างๆ ของตัวแทนพรรคการเมือง มีการบันทึกเทปไว้ทั้งหมดว่าใครพูดอะไรบ้าง
รวมถึงบางส่วนที่หมิ่นเหม่หาเสียงหลอกลวงประชาชน เพราะสิ่งที่ปราศรัยหาเสียง ไม่ได้ส่งเป็นนโยบายให้ กกต. เพราะบางนโยบายต้องแก้ไขกฎหมาย บางนโยบายต้องใช้งบประมาณ เช่น ถอนทหาร ยุบ กอ.รมน. ยุบ ศอ.บต. เป็นต้น โดยสิ่งที่หาเสียงบางส่วนหมิ่นเหม่ไปกระทบความมั่นคง คล้ายๆ ประชามติแยกดินแดนเหมือนกัน
5. "บิ๊กโจ๊ก" แจ้งข้อหา "แอม ไซยาไนด์" เพิ่มสรุปกว่า 80 ข้อหา โทษหนักถึงขั้นประหาร เตรียมแจ้งข้อหาคนใกล้ชิด ฐานร่วมกันฆ่า!
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะพนักงานสอบสวน ได้เดินทางเข้าแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ “แอม” อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาลักทรัพย์ ภายในเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง โดยเผยว่า มาแจ้งข้อหาบางส่วนที่ยังไม่ได้แจ้ง หลังรวบรวมพยานหลักฐานครบทั้งหมดแล้ว เป็นข้อหาซ้ำๆ กันที่ต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งสรุปกว่า 80 ข้อหา พร้อมส่งอัยการเร็วๆ นี้ ยืนยัน ในส่วนความผิดของ น.ส.แอม มีพยานหลักฐานครบถ้วนทั้งหมด อัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต พร้อมเชื่อว่า น.ส.แอม อาจรับสารภาพในชั้นศาลเพื่อลดโทษ จากโทษประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต แต่ตราบใดก็ตามที่ศาลยังไม่พิพากษาถึงที่สุด ถือว่าผู้นั้นบริสุทธิ์
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า พยานหลักฐานมีเพียงพอในการสั่งฟ้องทุกข้อหา และว่า หลังจากส่งสำนวนเสร็จสิ้นแล้ว จะดำเนินคดีผู้ซื้อ ผู้จำหน่าย เทรดเดอร์ และเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าพบว่ากระทำความผิดของกรมโรงงาน และอีกส่วนหนึ่งคือเว็บพนันจะมีการดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บ และผู้เล่นทุกคน เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมเผยว่า การแจ้งข้อหา พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ รองออฟ อดีตสามีนางแอม และ น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณรัตน์ หรือทนายพัช ทนายความของนางแอม จะมีการส่งสำนวนให้อัยการพร้อมกับสำนวนคดีของนางแอมเช่นกัน
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีทั้ง 7 จังหวัดที่เกี่ยวข้องในคดี คือ นครปฐม, สมุทรสาคร, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, มุกดาหาร, อุดรธานี ได้เดินทางมาเข้าแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับนางแอม ในความผิดตามมาตรา 236 ผู้ใดปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้ และการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ หรือจำหน่าย หรือเสนอขายสิ่งเช่นว่านั้นเพื่อบุคคลเสพหรือใช้ (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
มาตรา 289(6) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น (ต้องระวางโทษประหารชีวิต) มาตรา 289(7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ (ต้องระวางโทษประหารชีวิต) มาตรา 339 ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย (ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท) และความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย
3 วันต่อมา (15 มิ.ย.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เผยความคืบหน้าการสรุปสำนวนคดีนางแอมว่า หลังหารือกับอธิบดีอัยการคดีอาญา 2 ครั้ง ขณะนี้สำนวนมีความรัดกุมและสมบูรณ์ เตรียมพร้อมที่จะส่งให้อัยการภายในสัปดาห์หน้า โดยวันที่ 19 มิ.ย.นี้ จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและสนับสนุน กับบุคคลใกล้ชิดนางแอม เนื่องจากพบพยานหลักฐานสำคัญทั้งเส้นทางการเงินอย่างน้อย 4-5 คดี
โดยพบความเชื่อมโยงทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุการเสียชีวิต รวมไปถึงเส้นทางการเงิน พบว่าทุกครั้งที่มีการเสียชีวิต จะมีการโอนเงินเข้าไปยังคนใกล้ชิด โดยในรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีการโอนกี่ครั้ง หรือครั้งละเท่าไร อีกทั้งยืนยันว่า บุคคลดังกล่าวมีส่วนรู้เห็นกับการตายทั้ง 4-5 คดีด้วยหรือไม่
ส่วนสาเหตุที่เพิ่งมาแจ้งข้อหาเพิ่ม เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังไม่พบหลักฐาน แต่หลังจากตรวจสอบบัญชีกว่า 200 บัญชี และนำมาวิเคราะห์กลับพบว่ามีความเชื่อมโยง