xs
xsm
sm
md
lg

"อ.คมสัน" ชี้พิลึก กกต.มีอำนาจชี้ขาด "พิธา" แต่กลับข้ามไปใช้ ม.151 ส่อแววผ่านฉลุย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อ.คมสัน" ชี้พิลึก กกต.มีอำนาจชี้ขาดคุณสมบัติ "พิธา" ตามมาตรา 225-226 แต่กลับข้ามไปใช้ ม.151 ซึ่งมีหลายขั้นตอน ว่าที่นายกฯ ผ่านได้สบาย แถมไม่พูดถึงมาตรา 82 ที่ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลังรับรอง ส.ส. เชื่อหากเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญไม่รอดแน่



วันที่ 14 มิ.ย. 2566 อ.คมสัน โพธิ์คง อดีต สสร. และ กมธ.ยกร่าง รธน.2550 ผอ.ฝ่ายวินิจฉัยด้านกิจการสืบสวนสอบสวน กกต. ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "ความเป็นไปได้กรณีหุ้นสื่อ"

อ.คมสันกล่าวว่า กรณี นายพิธา ตอนนี้พิลึกเลย เพราะโดยอำนาจหน้าที่ขณะนี้ กกต.ดำเนินการตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 225-226 ก่อน ชี้ได้เลยว่านายพิธาขาดคุณสมบัติหรือไม่ โดยไม่ต้องพึ่งศาล แล้วค่อยดำเนินการมาตรา 151 และไม่พูดถึงมาตรา 82 ด้วย ซึ่ง กกต.มีอำนาจตามมาตรา 82 วรรค 4 หลังการรับรอง ส.ส. กกต.สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้ ซึ่งอันนี้ประหลาด กระบวนการผิด กกต.ข้ามช็อตไปชี้ว่ามีช่องทางอาญา ขณะที่ยังไม่ชี้ว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือเปล่า

อันนี้เป็นปัญหา แล้วก็ไม่มีแนวทางตอบสาธารณะเลยว่าจะดำเนินการตามมาตรา 82 วรรค 4 ซึ่งไปดำเนินการตามมาตรา 151 ผลก็จะออกมาแบบ นายธนาธร ที่หลุดในชั้นอัยการไม่ส่งฟ้องต่อ

มาตรา 151 ถ้าไปถึงศาลจะหนักกว่า แต่จะไปถึงหรือเปล่าเพราะว่าคือการดำเนินคดีอาญาปกติ เริ่มที่พนักงานสอบสวน กกต.เป็นเพียงผู้กล่าวหา ไม่ใช่ผู้มีอำนาจดำเนินการ เมื่อผ่านพนักงานสอบสวนก็ไปยังพนักงานอัยการ ถ้าสั่งฟ้องถึงไปศาล ศาลก็ยังไปอีก 3 ศาล คือ ชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ฉะนั้นที่บอกว่าหนัก เฉพาะผล แต่กระบวนการเบากว่า เพราะอาจไม่ถึงผล อาจถูกเตะตกก่อนก็ได้

คดีอาญาพิสูจน์เจตนา ข้อเท็จจริงก็คือยังไม่มีใครชี้ว่าขาดคุณสมบัติแล้วคุณไปส่ง พนักงานสอบสวนก็เห็นว่าไม่ครบองค์ประกอบแล้ว นายพิธาสบาย สู้ได้แน่ เพราะไม่มีคนชี้ว่าขาดหรือไม่ขาดคุณสมบัติ หากถึงศาลยุติธรรมก็ไม่มีอำนาจชี้ขาดคุณสมบัติด้วย เพราะเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนเรื่องเทปบันทึกการประชุมไม่ตรงกับเอกสาร ก็ใช้ได้ พิสูจน์เจตนาในคดีอาญา แต่ใช้ในคดีคุณสมบัติไม่น่าจะได้ เพราะว่าหลักการต้องดูเอกสารเป็นหลัก คำพูดคนเปลี่ยนยังไงก็ได้ ที่สำคัญเทปที่ออกมาขานรับโดยศิษย์เก่าไอทีวี แต่ละคนที่บอกไม่มีอำนาจหน้าที่เลยสักคนเดียว

อ.คมสันกล่าวอีกว่า เรื่องนายพิธาถือหุ้นสื่อ จบแล้วว่าถือแน่ แต่ฐานะอะไรเป็นเงื่อนงำ ตัวเองบอกถือในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ก็เป็นทายาทด้วย ฉะนั้นก็ 2 สถานะ คือทายาทคนหนึ่งในฐานะผู้จัดการมรดก ปฏิเสธเรื่องนี้ได้ยาก

กรณีโอนหุ้นให้น้องชาย 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็มีผลแค่ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องสละสิทธิมรดก แต่เรื่องคุณสมบัติ ส.ส. ดูตรงที่วันสมัครรับเลือกตั้งว่าถือหรือไม่ถือ เป็นคนละเรื่องกัน

เรื่องวินิจฉัยถือหุ้นต้องห้ามหรือไม่ ก็ต้องดูบริคณห์สนธิ ดูวัตถุประสงค์ของบริษัท ดูผลประกอบการที่ผ่านมา ว่ามีเกิดขึ้นไหม มีการแสดงเจตจำนงว่าจะเลิกทำสื่อหรือไม่ เคสนี้ไม่ปรากฏชัดเจนว่าเจตจำนงจะเลิกหรือไม่ งบดุลทั้งหลายที่เกิดขึ้นก็ยังเขียนอยู่ว่าเป็นสื่อ ตั้งแต่ปี 63-66 ข้อเท็จจริงตรงนี้ยืนยันว่าไอทีวียังเป็นสื่อ ซึ่งเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้มาแล้ว

อ.คมสันกล่าวด้วยว่า แม้กระแสสังคมกดดัน แต่กฎหมายวางหลักการไว้นานแล้ว นายพิธาทำตัวเองให้เข้าวงจรกฎหมาย แล้วไปว่ากฎหมายผิด เป็นการไม่รับกติกาสังคม

กระแสไหลไปตามความเห็นคน ต้องฟังอย่างมีสติ ข้อเท็จจริงคือถือหุ้นแน่ ไม่ต้องโต้แล้ว ถือมาตั้ง 17 ปี ส่วนบริษัทเป็นสื่อหรือไม่เป็น อย่าตัดสินจากแค่รายงานการประชุมเทปเดียว คนพูดอะไรก็ได้ แต่เอกสารเปลี่ยนไม่ได้ เอกสารจดทะเบียนว่าประกอบกิจการอะไร

อ.คมสันกล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ถ้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่รอด โดนแน่ๆ แต่มาตรา 151 รอด


กำลังโหลดความคิดเห็น