โดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์
นักวิจัยด้านความมั่นคงเอเชียและวัฒนธรรมสัมพันธ์
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ข้อตกลง RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership มีผลบังคับใช้กับประเทศฟิลิปปินส์คล้อยหลังจากที่ฟิลิปปินส์ได้เสร็จสิ้นการยื่นสัตยาบันไปแล้ว 60 วัน ทำให้ RCEP เดินหน้าสู่การเป็นเขตการค้าอันแข็งแกร่งประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครอบคลุมประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
แท้จริงแล้ว RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2022 ยกเว้นประเทศเกาหลีใต้ (เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2022) มาเลเซีย (เริ่ม 18 มีนาคม 2022) อินโดนีเซีย (เริ่ม 2 มกราคม 2023) และฟิลิปปินส์ เหลือเพียงประเทศเมียนมาที่ได้ลงนามความร่วมมือในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ขาดแต่เพียงการให้สัตยาบัน
พื้นที่ของ RCEP กว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมประชากรและจีดีพีราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก ตัวเลขประชากรเท่ากับ 2.2 พันล้านคน ขณะที่จีดีพีเท่ากับ 29.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ RCEP เป็นข้อตกลงทางการค้าแบบพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุด โดย RCEP เป็นโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมเครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ เกษตร อีคอมเมิร์ซ รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก
เป้าหมายของ RCEP คือการยกเลิกภาษีการค้าอย่างน้อย 90% ของการค้าทั้งหมดในประเทศสมาชิกซึ่งจะทำให้เกิดระบบการค้าเสรีควบคู่กับกระตุ้นการลงทุน RCEP จะส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานอันเนื่องมาจากการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศสมาชิก นี่มาจากข้อตกลงซึ่งมุ่งวิสัยทัศน์ 4 ประการ ได้แก่
1. จัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทันสมัย ทรงคุณภาพ และเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคโดยยึดประโยชน์สูงสุดไม่เว้นแม้ประโยชน์ของประเทศที่ด้อยพัฒนา
2. ให้เสรีภาพรวมทั้งอำนวยการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสมาชิกด้วยการขจัดอุปสรรคที่มาในรูปของภาษีและอื่นๆ
3. ขจัดข้อจำกัดและมาตรการที่จะเป็นอุปสรรคแก่การทำธุรกิจกลุ่มบริการในหมู่สมาชิก
4. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนโดยจะต้องมีการส่งเสริม ปกป้อง อำนวย และให้เสรีภาพแก่การลงทุนในกลุ่มสมาชิก
ความน่าสนใจของ RCEP อยู่ที่ศักยภาพทางการค้า ยกตัวอย่างเช่น 4-5 เดือนหลังจากการบังคับใช้ การค้าจีนกับประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 6.9% ด้วยมูลค่า 448.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับ 30.4% ของปริมาณการค้าจีนกับต่างประเทศทั้งหมด จีนนำเข้าจากกลุ่ม RCEP ราว 203 พันล้านเหรียญสหรัฐและส่งออก 218 พันล้านเหรียญสหรัฐ หากเป็นการค้ากับอาเซียน จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตร 6.79 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 13.7% ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรของจีนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดิม 14.1% แต่ถ้าเป็นตัวเลขรวมของทั้งปี ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับกลุ่มสมาชิกอยู่ที่ 1.92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 7.5% และคิดเป็น 30.8% ของปริมาณการค้าจีนกับประเทศอื่นทั่วโลก ขณะที่ในปัจจุบันการค้ารวมของจีนกับสมาชิกอื่น ๆ ไตรมาสแรกยังคงขยายตัว คิดเป็น 7.3% หรือ 31.2% ของการค้าทั้งหมดของจีนในช่วงเวลาดังกล่าว
ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์เผยว่า การค้าตลอดปี 2022 ขยายตัว 7.11% โดยมีมูลค่าการค้ากับสมาชิก RCEP ที่ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มาจากการส่งออกและนำเข้า 1.4 และ 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ โดยไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงกับประเทศเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่นได้มากที่สุดในการส่งออกสินค้า เช่น ทุเรียนสด น้ำมันหล่อลื่น ปลาแมคเคอเรลกระป๋อง ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำมันรำข้าว เป็นต้น ในเวลาเดียวกันไทยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงในการนำเข้าสินค้าอย่างส่วนประกอบเครื่องยนต์ พอลิเมอร์ ด้ายใยยาวสังเคราะห์ องุ่นสดและแห้ง เป็นต้น นอกจากการลด และ/หรือยกเลิกภาษีแล้ว ประโยชน์ที่มาสู่ฝั่งไทยคือระเบียบการนำเข้า มีการลดเวลาการตรวจสินค้าที่ด่านศุลกากรให้แล้วเสร็จใน 6 ชั่วโมงสำหรับสินค้าอายุสั้นและไม่เกินกว่า 2 วันในกรณีที่เป็นสินค้าทั่วไป
สถิติทิศทางเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศสมาชิกซึ่งบ่งชี้ว่า RCEP ไม่ใช่ข้อตกลงบนโต๊ะเจรจาที่ไร้ผลเชิงปฏิบัติการ แต่ RCEP กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นมหกรรมความร่วมมือที่จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางในอนาคต ต้องไม่ลืมว่าประเทศสมาชิก 5 ชาติของ RCEP อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม G20 เช่นกัน นั่นคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ทั้งหมดมีส่วนสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรมการค้าการเงินของโลก ผลลัพธ์เชิงบวกของ RCEP ยังส่งสัญญาณเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หากเป็นอดีต หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนอาจต้องพึ่งพาการค้ากับฝั่งตะวันตก ทำให้ต้องผจญกับต้นทุนและข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่มากกว่าสินค้าเกษตรกรรมทำให้ลดโอกาสของภาคการเกษตร เป็นต้น แต่เมื่อการค้าในภูมิภาคเติบโต ตลาดเปิดกว้างสำหรับสินค้าหลายประเภทรวมไปถึงภาคบริการ การไหลเวียนของการค้า เงินทุน การป้อนวัตถุดิบ และความร่วมมือจึงทวีความแข็งแกร่งจนเป็นที่จับตา
แม้ RCEP จะเกิดจากความต้องการของกลุ่มอาเซียน ความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นที่มีต่อกันในหมู่สมาชิกโดยจีนทำหน้าที่เป็นปัจจัยผลักดันชิ้นสำคัญ เนื่องจากจีนได้แสดงตัวเป็นตลาดสำหรับสินค้าหลายอย่างนอกเหนือไปจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายใน จีนยังยืนยันเป้าประสงค์เกี่ยวกับการเสริมสร้างความมั่งคั่งในภูมิภาคเสมอมา ดังนั้นการเข้าร่วมของจีนบวกการเจรจาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคจึงดึงดูดความร่วมมือจากอีก 4 ประเทศหลักจนทำให้เกิด RCEP อย่างที่เห็น ภาพประการนี้จะชัดขึ้นหากนำไปเทียบกับ CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership ที่มีสมาชิก 11 ประเทศจากฟากฝั่งอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก CPTPP ปรับตัวมาจาก TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ แต่สะดุดหยุดลงเนื่องจากการถอนตัวของสหรัฐฯ เอง ในขณะที่ RCEP เดินหน้าผ่านการเจรจาหลายชั้นกระทั่งบรรลุเป้าหมาย
ไม่ว่าอย่างไร RCEP จะไม่เพียงแต่เป็นเขตการค้าประจำภูมิภาค แต่จะเป็นตัวอย่างของการสรรค์สร้างการค้าในแบบที่จีนพยายามรณรงค์เสมอมา ได้แก่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และ ประกันการการไหลเวียนของการค้าการลงทุน ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจขนาดกลาง-เล็กมากกว่าจะมุ่งไปยังธุรกิจขนาดใหญ่เหมือนระบบการค้าในอดีต เมื่อระบบมั่นคงและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ความยั่งยืนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ก็จะตามมา