เปิดสาขาวิชาสุดฮอตระดับปริญญาตรีที่สร้างรายได้งามและสร้างคุณค่าส่งมอบอาหารที่ดีต่อตัวเอง ครอบครัว และ สังคม “หลักสูตรการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ” วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) รับกระแสเทรนด์สุขภาพบูมทั่วโลก
หลังจากที่เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดตลอด 3 ปีที่ผ่านมาส่งผลมากมายต่อชีวิตมนุษย์ หลายต่อหลายคนประสบปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะจากโรคอ้วน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการรับประทานอาหารโดยเฉพาะจากอาหารสำเร็จรูปมากเกินไป พอหลังจากโควิด-19 หมดไป จึงเกิดกระแสหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและแสวงหาวิธีการป้องกันตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยมากขึ้น โดยหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนตระหนักให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือเรื่องของ “อาหาร” ที่ทุกคนต้องรับประทานกันทุกวัน
แต่จะกินอย่างไรให้ได้สุขภาพแข็งแรง และกินด้วยวิธีอะไรจึงจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรค ต้องมาหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ “อาจารย์ธีราพัทธ์ ชมชื่นจิตต์สิน” หัวหน้าหลักสูตรการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผ่านอาหารที่เรียกว่า “อาหารสุขภาพ” หรือ “อาหารเวลเนส”
อร่อยก็ได้ สุขภาพก็ดี
อาจารย์ธีราพัทธ์บอกว่า ความพิเศษของ “อาหารสุขภาพ” หรือ “อาหารเวลเนส” คือความพิถีพิถันในการคัดสรรวัตถุดิบ และสร้างสรรค์วิธีการปรุงรส ทำให้ผู้รับประทานเมื่อรับประทานไปแล้วช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่ดี ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ ส่วนผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย ก็จะได้รับอาหารที่เหมาะสม เพียงพอ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน บำบัดบรรเทาอาการต่างๆ ของโรคต่างๆ ที่เผชิญอยู่ให้ลดน้อยลง สิ่งเหล่านี้ทำให้อาหารสุขภาพนั้นแตกต่างจากอาหารทั่วไป นอกเหนือไปจากเรื่องของรสชาติและความอร่อยที่ยังคงต้องสมบูรณ์ครบถ้วน
“คนยังมีความเข้าใจผิด คิดว่าอาหารสุขภาพต้องไม่อร่อย ไม่น่ารับประทาน แต่เราสามารถทำให้อร่อยได้ไม่ต่างไปจากอาหารทั่วไป ความพิเศษเกิดจากการรู้ในเรื่องของโภชนาการและด้านการแพทย์ควบคู่กับการประกอบอาหาร เราก็จะได้อาหารสุขภาพที่อร่อยและทั้งมีประโยชน์ เช่น ไก่ผัดขิง 1 จาน ใช้ไก่ ขิง หอมใหญ่ เห็ดหูหนู ซีอิ๊วขาว ฯลฯ เราต้องคิด หาความรู้ว่าจะเพิ่มเติมส่วนไหนให้มันมีประโยชน์มากขึ้นหรือดึงวิตามินกับสารต่อต้านอนุมูลอิสระจากผักชนิดอะไรมาให้มันมีความแปลกใหม่แตกต่างจากปกติเดิม มีการตกแต่งจานใช้ศิลปะประกอบอาหารอย่างไรเรียกน้ำย่อย ทำให้ดูน่ารับประทาน มีการเติมผัก 5 สี เพื่อให้ใน 1 มื้ออาหารเกิดคุณค่าครบสร้างสุขภาพที่ดี”
นอกจากนี้ ศาสตร์การประกอบอาหารเพื่อสุขภาพยังสามารถนำมาเป็นจุดเด่นในวิชาชีพ “เชฟ” ทุกระดับทั้ง 4 ระดับ 1. หัวหน้าเชฟ Executive Chef 2. รองหัวหน้าเชฟ Sous Chef 3. เชฟประจำแผนก Chef de Partie 4. ผู้ช่วยเชฟ Commis Chef ในการสร้างจุดเด่นในการทำงานของตัวเอง
“เพราะปัจจุบันมีการใช้งานวิจัย ทั้งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาในการทำอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใช้แต่ยาในการรักษา สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ตลอดเวลาคือการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพราะทุกวันเราต้องกินอาหาร แต่จะกินอาหารอย่างไรและกินอะไรถึงจะป้องกันการเกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งจริงๆ ก็เหมือนกับการรับประทานอาหารเสริม เพียงแต่หากปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการรับประทานอาหารที่ดีในทุกมื้ออาหารก็จะช่วยดูแลสุขภาพร่างกายแข็งแรงได้มากกว่า”
“ถ้ามีองค์ความรู้แล้ว อาหารเพื่อสุขภาพนั้นไม่แพง แถมสามารถวางแผนลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย เดิมในหนึ่งวันอาจจะกินอาหารไม่ครบ ขาดวิตามิน ขาดกากใย ต้องไปซื้อวิตามิน อาหารเสริมมากิน แต่ถ้าเรามีความรู้ เราอาจจะวางแผนในการทำอาหาร ในการเตรียมอาหารแต่ละมื้อให้ดี ทั้งครอบครัวได้กินอาหารที่ดี แถมอร่อยและได้สุขภาพที่ดีเพิ่มในจานอาหารนั้นด้วย สามารถเลือกวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยากในบ้านเรา ราคาไม่แพง และถ้ามีความชำนาญก็สามารถทำเป็นอาชีพหรือธุรกิจได้อีก”
รายได้มั่นคง
อาจารย์ธีราพัทธ์บอกต่อว่า ผู้ที่เรียนจบศาสตร์แขนงอาหารสุขภาพสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย “นอกเหนือจากการเป็นเชฟหรือหัวหน้าพ่อครัว โดยสามารถทำงานได้ทั้งการเป็นเจ้าของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม หรือจะทำงานร้านอาหาร ห้องอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม และโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชั้นนำ รวมไปต่อยอดถึงทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอาหาร แบบที่เราเห็นสารพัดบริษัทในงาน THAIFEX-Anuga Asia ซึ่งหลังการเกิดของเมกะโปรเจกต์ EEC ทำให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอาหารมากมาย ทำเอาเงินสะพัดตามมามากมายในประเทศไทย ยิ่งระบบขนส่งโลจิสติกส์ต่างๆ ก้าวหน้าขึ้น อาหารไทยยิ่งเดินทางไปขายทั่วโลกทำให้ตำแหน่งงานของคนมีความรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาพสามารถทำอะไรได้มากมาย และสามารถทำงานสอดรับเทรนด์ความงามและการดูแลตนเองที่เป็นตำแหน่งงานยอดฮิตตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา”
“ที่เขาเรียกกันว่า สวยจากภายใน งามมาสู่ภายนอก มาจากกินอย่างไรได้อย่างนั้น ถ้าเราพึ่งแต่การทำภายนอกอย่างเดียว วันหนึ่งก็ต้องเสื่อมไปหมดไป แต่ถ้าเราเรียนด้านอาหารเพื่อสุขภาพนี้และดูแลสุขภาพด้วยอาหารที่กินเป็นยา ปีหนึ่งเราจะป่วยไม่กี่ครั้งและป่วยก็ฟื้นตัวไว กินเพื่อป้องกันก็ได้ พอป่วยน้อย รายจ่ายก็ลดลงตามมาอย่างเห็นได้ชัด ก็นำมาซึ่งความมั่นคงในครอบครัว นอกจากนี้ หากทำงานวิชาชีพนี้ เงินเดือนเริ่มต้นค่าวิชาชีพนี้บวกค่าเซอร์วิสชาร์จก็อยู่ที่ 20,000 บาทขึ้นไป ตามขนาดขององค์กรและความเก่ง และยิ่งหากมีความสามารถเยอะ ชอบการทำธุรกิจ ยิ่งอัปรายได้ หลักแสนหรือล้านบาทก็สามารถทำได้”
องค์ความรู้ “หลักสูตรการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ” วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ เรียนทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี โดยมีลำดับการเรียนคือ
“ชั้นปีที่ 1 เรียนการปรุงและประกอบอาหารเบื้องต้น การประกอบอาหารวิธีการปรุงหรือปฏิบัติเตรียมอาหารอย่างไรในสถานประกอบการ พื้นฐานการประกอบอาหารที่ต้องพบเจอจริงๆ เช่น การล้าง หั่น สับ ซอย ชื่อเรียกและรูปแบบการทำงานในครัว ตั้งแต่ธรรมดาไปจนถึงมาตรฐานมิชลินสตาร์ 5 ดาว เรียนเรื่องการสุขาภิบาลอาหาร การแพทย์พื้นฐาน เรียนอาหารประเภทไหนกินแล้วแพ้ เรียนอาหารไทยดั้งเดิม อาหารไทยทั้ง 4 ภาค เชื่อมโยงกับสูตรอาหารแบบเพื่อสุขภาพ
ชั้นปีที่ 2 เพิ่มเรียนเรื่องของอาหารไทยขั้นสูงและร่วมสมัย เรียนวิธีการถ่ายภาพ ตกแต่งอาหาร ฟูดสไตลิสต์ กราฟิกดีไซน์ ออกแบบเมนูอาหารประยุกต์เพิ่มมูลค่าและความสวยงาม ต่อมาจึงเรียนอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารมังสวิรัติ อาหารเมดิเตอร์เรเนียนที่คนกินกันทั่วโลก เรียนวิชาอาหารโภชนบำบัด เรียนการประกอบอาหารอย่างไรให้เกิดสุขภาพและความอร่อย อาทิ ข้าวผัดกะเพรา เดิมนิยมใช้น้ำมันหมูผัดถึงอร่อย หากลองเปลี่ยนเป็นน้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว ทำได้ไหม หรือใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาลทราย
ชั้นปีที่ 3 อาหารอร่อยและได้สุขภาพมาแล้ว เรียนเรื่องขนม เครื่องดื่ม ไทยและต่างชาติแบบเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงอาหารเอเชียและตะวันตกที่พบได้ในร้านอาหารทั่วไป เรียนเรื่องของการใช้วัตถุดิบที่แปลกใหม่ การติดตามข่าวสารด้านการแพทย์ สุขภาพ และโครงการจัดการบริหารธุรกิจด้านอาหารสุขภาพเบื้องต้นเพื่อให้มีความพร้อมทำงาน
ชั้นปีที่ 4 สร้างธุรกิจอาหารของตัวเองผ่านองค์ความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาทดลองทำจริงๆ ได้ซื้อขายอาหารจริงๆ ใน 1 วันให้ประสบความสำเร็จ พร้อมกับการฝึกงานสถานประกอบการจริงที่ MOU อย่าง เชฟหมึกแดง ร้านอาหารต้นกล้าฟ้าใส เป็นต้น”
“วันจำลองร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เปิดให้บริการอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ ร้านอาหารต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่กี่คน จัดการเรียกลูกค้าหาลูกค้าอย่างไร การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า น้ำไม่ไหล ไฟดับ ผักหมด ทำแบบไหน ตรงนี้กระแสตอบรับดีมากจากเด็ก อาจารย์ ผู้ปกครอง อยากให้จัดบ่อยๆ เพราะได้องค์ความรู้ครบถ้วน และทำให้เด็กมีความหลากหลายความสามารถ ทั้งร่วมงาน ทำงาน หรือเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง ซึ่งเป็น DNA ที่ทางมหาวิทยาลัยเน้นย้ำ โดยทีมอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการประกอบอาหาร และหลักโภชนาการศาสตร์ประกอบสอนดูแลตลอดเวลาอย่างใกล้ชิด”
“มีพาไปศึกษาดูงานตามรายวิชาที่กล่าวไปทุกที่สลับการเชิญวิทยากรมาสอนให้ความรู้ประสบการณ์ในชั้นเรียน ที่อื่นไม่เหมือนเรา เพราะหากเรียนโภชนาการก็มักจะไม่ได้เน้นเรียนเรื่องทำอาหาร หากเรียนเน้นทำอาหารก็ไม่เรียนโภชนาการมากนัก”
เกิดความภาคภูมิใจ
อาจารย์ธีราพัทธ์บอกอีกว่า สิ่งที่ได้รับไม่เพียงความอิ่มเอม หลังผู้รับประทานอาหารชื่นชมความอร่อยผ่านอาหารที่ปรุงโดยนักศึกษาที่เรียนสาขาการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ ยังก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าต่อตัวเองในมิติครอบครัวและสังคมอีกด้วย
“เราป่วยก็ไม่มีความสุข เห็นคนในครอบครัวป่วยก็ไม่มีความสุข” อาจารย์ธีราพัทธ์กล่าว “นักศึกษาคนหนึ่ง ประกอบไปด้วยคนรอบข้างแวดล้อม พ่อ แม่ ตา ยาย ผู้ปกครอง ซึ่งอยู่ในวัยอายุมาก เจ็บไข้ได้ป่วยมีโรคประจำตัวทุกคน แน่นอนในอนาคตเราอาจจะต้องไปถึงจุดนี้ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราต้องเชื่อว่าเราควบคุมมันได้ เราก็ต้องกลับมาดูแลร่างกายของเราและคนรอบตัวว่าร่างกายพวกเราเป็นอย่างไร วันนี้พวกเรามีสุขภาพที่ดีหรือไม่ ซึ่งเรามักจะได้ยินข่าวเสมอๆ ในปัจจุบันคนทั่วไปเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น เราสามารถเอาความรู้ในการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพมาทำให้คนเหล่านี้รู้จักหรือได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเริ่มจากครอบครัว คนที่เรารักก่อน”
“แม้ผู้บริหาร และคณาจารย์จะเหนื่อยจากการทุ่มเทในการเรียนการสอน แต่พวกเราภูมิใจมาก เราอยากให้ทุกคนได้รับสิ่งที่ดี และตรงวัตถุประสงค์ที่เลือกมาเรียนกับเรา ตอนนี้ศาสตร์ด้านนี้เป็นเพียงกลุ่มฟันเฟืองเล็กๆ ที่กำลังผลิตบุคลากรที่มีคุณค่ามาให้กับสังคม เราผลิตผู้ประกอบอาหาร พ่อครัวแม่ครัวหรือเชฟ ที่มีคุณภาพไปสู่สถานประกอบการ ตลาดงาน เพื่อไปขยายกลุ่มคนที่เล็กๆ ที่ทำอยู่แล้วให้มีจุดเด่นเพิ่มมากขึ้น และทำให้คนไทยมีสุขภาพดีทั่วประเทศ ทีนี้พอคนไทยมีสุขภาพดี จิตใจก็ดี สิ่งต่างๆ ก็จะตามมา เกิดคุณค่าอื่นๆ ตามมาไม่รู้จบ” อาจารย์ธีราพัทธ์สรุปส่งท้าย