วันนี้ (8 มิ.ย.) นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า กระแสการเติบโตอย่างน่าจับตามองของ “ดิจิทัลโนแมด” หรือ Digital Nomad ทั่วโลก เป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการกลุ่มท่องเที่ยวไทยที่จะพัฒนาสินค้าบริการ สร้างจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ให้เกิดการกระจายรายได้ในวงกว้าง ทั้งในภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกระจายไปสู่ชุมชนต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ think remote ในปี 2566 พบว่าทั่วโลกมีผู้ที่ทำงานอิสระพร้อมกับเลือกสถานที่ใหม่ๆ หรือดิจิทัลโนแมด ประมาณ 35 ล้านคน โดยเกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 15.5 ล้านคนมาจากสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นถึง 4.5 ล้านคน เมื่อก่อนการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 และคาดการณ์ว่าภายในสองปีสหรัฐอเมริกาจะมีดิจิทัลโนแมดถึง 35.7 ล้านคน หรือประมาณ 22% ของแรงงานทั้งหมด
ชาวดิจิทัลโนแมด หรือถูกนิยามว่า พลเมืองโลก คือกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตและเลือกทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดี ทำงานทางไกลผ่านระบบออนไลน์ มักจะพำนักระยะยาว ใช้ร้านกาแฟ ห้องสมุดสาธารณะ และ Co-working Space เป็นสถานที่ทำงาน และจากสถิติพบว่าชาวดิจิทัลโนแมดจะอยู่ประจำที่เดียวราว 9 เดือน มีส่วนน้อยที่อาจพำนักที่ใดที่หนึ่งได้นานถึง 1 ปี
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้นโยบายของบริษัทต่างๆ ปรับไปสู่การ Work From Home หรือ Work From Anywhere โดยเฉพาะบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีฐานในสหรัฐอเมริกา เช่น AMAZON, Google, Apple Computer Inc, Microsoft ,Twitter, META Facebook, American Express, Siemens, Lift, Airbnb, Spotify หรือแม้แต่ Ford เป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเฟื่องฟูของกระแสคนทำงานที่สามารถเดินทางได้อย่างอิสระ
และอัตราการเติบโต สร้างรายได้เป็นเหตุผลที่ทำให้ 46 ประเทศทั่วโลกปรับเปลี่ยนนโยบายมาตรการวีซ่าที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดเหล่าดิจิทัลโนแมด โดยล่าสุดอินโดนีเซียประกาศพัฒนาวีซ่าแบบใหม่สำหรับ 5 ปี นานกว่าวีซ่านักเดินทางดิจิทัลอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ผลสำรวจความคิดเห็นของชุมชนชาวดิจิทัลโนแมดเอง ก็เห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Top destination ด้วยข้อดีมากมาย คือ ค่าครองชีพที่ต่ำ, อินเทอร์เน็ตไวไฟความเร็วสูง, บรรยากาศของเมืองที่สวยงาม, อากาศดี มีแสงแดดยาวนาน, มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ, มีที่พักหลากหลาย, มี Co-Working Space หรือ Coffee shop น่านั่งทำงาน, มีกิจกรรมท่องเที่ยวให้เปิดประสบการณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น, มีปาร์ตี้สนุกๆ ให้เข้าร่วม, มี Workshop class ให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ, Wellness Activity ที่ดีเพื่อดูแลสุขภาพกายและใจ, มีความสะดวกในการขอวีซ่า และเหตุผลด้านความปลอดภัย
แนวโน้มขยายตัวของกลุ่มดิจิทัลโนแมด จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะต่อยอดภาคการท่องเที่ยวไทยพัฒนาธุรกิจรองรับชาวดิจิทัลโนแมด เช่น ที่พักเพื่อชาวโนแมด, ทัวร์วัฒนธรรม/อาหาร, กิจกรรมผจญภัย, คลาสเรียนภาษา, Workshop ศิลปะ งานคราฟต์ ทำอาหาร, กิจกรรมเวลเนสเพื่อสุขภาพ, จัดอีเวนต์/ปาร์ตี้
“ชาวดิจิทัลโนแมดไม่ได้มาทำงานอย่างเดียว แต่จะออกเดินทางท่องเที่ยว สำรวจวัฒนธรรม ทำความรู้จักกับผู้คนในท้องถิ่น และใช้เวลาในพื้นที่มากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะพัฒนาธุรกิจเดิมหรือสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองครั้งนี้” รองผู้ว่าการ ททท. กล่าวสรุป