xs
xsm
sm
md
lg

การประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์
นักวิจัยด้านความมั่นคงใหม่และวัฒนธรรมสัมพันธ์เอเชีย
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


การประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลางจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม ณ เมืองซีอาน กำลังเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกจับตา เพราะการประชุมครั้งนี้ช่วยยืนยันความร่วมมือในภูมิภาค ทั้งยังสื่อโอกาสการค้าตามแนวทาง BRI ของจีน น่าสนใจที่เมืองซีอานก็เคยเป็นต้นทางของเส้นทางสายไหมยุคโบราณ สถานที่จัดประชุมจึงแสดงนัยของการริเริ่มความมั่งคั่งร่วมกัน เพียงแต่เพิ่มประเด็นเอกภาพทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมในการประชุม

เอเชียกลางประกอบไปด้วยประเทศจากอดีตสหภาพโซเวียตจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน พื้นที่รวมกันของทั้ง 5 ประเทศเท่ากับ 4,003,451 ล้านตารางกิโลเมตร ขณะที่จำนวนประชากรเท่ากับ 75,897,577 คน ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ปี 2023 ของเอเชียกลางเท่ากับ 446 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าคิดเป็นความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) ตัวเลขจะทะยานไปเป็น 1.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

เอเชียกลางมีความสำคัญต่อจีนในหลายมิติ ประการแรก คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถานมีชายแดนเชื่อมต่อกับจีนเป็นระยะทางยาว 3,000 กิโลเมตร เอเชียกลางจึงเป็นเสมือนปากประตูสู่จีนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประการถัดมา ประเทศในเอเชียกลางคือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติชั้นดี มีขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำคิดเป็น 5.5% ของศักยภาพรวมทั่วโลก แต่ศักยภาพส่วนใหญ่อยู่ในทาจิกิสถานและคีร์กีซสถาน คาซัคสถานและอุซเบกิสถานมีแร่ยูเรเนียมมากกว่า 20% ของปริมาณทั่วโลก คาซัคสถานติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีปริมาณถ่านหินสำรองสูงสุดของโลกรวมทั้งมีน้ำมันดิบจำนวนมหาศาล ขณะที่อุซเบกิสถานติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกในด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ แต่ก๊าซธรรมชาติสำรองพบได้กระจัดกระจายในอุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และคาซัคสถาน


ในทางกลับกัน จีนมีความสำคัญต่อเอเชียกลางในด้านการพัฒนาการค้าและระบบโครงสร้างพื้นฐาน การได้สานสัมพันธ์กับจีนช่วยให้เศรษฐกิจภายในมีความคึกคักและเกิดความตื่นตัวในด้านเทคโนโลยี คมนาคม และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความรู้ จริงๆ แล้วจีนได้เริ่มการลงทุนในภูมิภาคเอเชียกลางไปแล้วจำนวนไม่น้อย กระทั่งช่วงเวลาแห่งความซบเซาอันเนื่องมาจากโควิด-19 เงินลงทุนของจีนหลั่งไหลไปอยู่ที่เอเชียกลางประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อถึงปลายปี 2022 ปริมาณเงินลงทุนพุ่งไปถึง 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จีนจึงไม่ต่างจากประตูทางการค้าการลงทุนของเอเชียกลาง อย่างน้อยการลงทุนจากจีนช่วยสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในยามที่ทุกประเทศต้องการการปรับตัวให้มีศักยภาพสูงขึ้นในระบบตลาดเสรี (เศรษฐกิจที่รัฐลดบทบาทแต่ให้กลไกตลาดและความสามารถในการประกอบการของเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน) เอเชียกลางมีความต้องการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน การควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการ นวัตกรรมความสร้างสรรค์ ฯลฯ การเชื่อมโยงรวมไปถึงแนวปฏิบัติจากจีนทำให้เอเชียกลางพบโอกาสการปรับตัวมากกว่าที่ผ่านมา

ณ จุดนี้ การประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลางเป็นเหมือนการถางทางไปสู่โลกใบใหม่ที่ไกลกว่าการทูตตามประเพณีนิยม สุนทรพจน์ของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนบ่งบอกความมุ่งมั่นที่มีต่อชาติหุ้นส่วนในเอเชียกลางเป็นอย่างมาก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงอิงแก่นสารที่เรียกว่า “การทำงานร่วมกันระหว่างจีนและเอเชียกลางเพื่อส่งเสริมประชาคม โดยยึดมั่นแนวทางความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพัฒนาร่วมกัน การรักษาความมั่นคงในภูมิภาค และมิตรภาพอันยืนยาวนาน” ในสุนทรพจน์นี้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเชื่อมโยงระหว่างกัน การผลักดันเส้นทางสายไหม จากนั้นเอ่ยถึงเอกภาพ ความมั่งคั่ง รวมทั้งความมั่นคงของทุกฝ่าย สุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิงยังครอบคลุมใจความสำคัญอันตีความได้ว่า หากจะบรรลุพันธกิจเหล่านี้ จีนและเอเชียกลางจะต้องเติบโตไปด้วยกันในลักษณะของการเกื้อกูลและหลีกเลี่ยงการเอารัดเอาเปรียบ นี่สะท้อนแก่นสารทางการทูตของจีนซึ่งอิงแนวคิด win-win cooperation หรือความร่วมมือที่มีแต่ชัยชนะของทุกฝ่าย นั่นทำให้ผู้นำชาติเอเชียกลางซึ่งมาร่วมประชุมครั้งนี้โดยพร้อมเพรียงเกิดความเชื่อมั่น

ทันทีที่การประชุมเสร็จสิ้น รายงานหลายฉบับแสดงเนื้อหาตรงกันว่า ทุกฝ่ายยอมรับที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างกัน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงและผู้นำประเทศเอเชียกลางประกาศที่จะก่อตั้งกลไกส่งเสริมการประชุมจีน-เอเชียกลาง โดยแต่ละประเทศจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพการประชุมซึ่งจะจัดขึ้นทุก 2 ปี และประกาศจะแต่งตั้งเลขาธิการการประชุมเพื่อดูแลภารกิจ การประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2025 ณ ประเทศคาซัคสถาน ระหว่างนั้นความร่วมมือต่างๆ จะถูกพัฒนาไปตามครรลองแต่เพิ่มความเข้มข้น โดยเน้นความร่วมมือด้านการคมนาคม การค้า การลงทุน อุตสาหกรรม พลังงาน และวัฒนธรรมสัมพันธ์จีน-เอเชียกลางที่จะทำให้เกิดความแนบแน่นในภาคประชาชนมากขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น จีนกับอีก 5 ประเทศประกาศยกระดับการรักษาความมั่นคงกับสันติภาพ มีการวางแผนงานนำร่อง รวมทั้งลงนามในสนธิสัญญา ชื่อ “มิตรภาพ การเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และความร่วมมือสำหรับพัฒนาเอเชียกลางในศตวรรษที่ 21” (Treaty on Friendship, Good Neighborliness and Cooperation for the Development of Central Asia in the 21st Century)

ทั้งหมดนี้แสดงถึงความจริงใจที่จะก้าวไปด้วยกันภายใต้ระเบียบปฏิบัติแบบเกื้อกูลและตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพโดยไม่ให้ความพยายามแทรกแซงใดๆ ก่อผลในภูมิภาค เมื่อภูมิภาคมั่นคง ความเจริญงอกงามก็จะตามมา หากมองในภาพรวม ผลการประชุมนี้เป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับการเปลี่ยนเอเชียกลางให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำหรับอนาคต รวมทั้งต่อยอดแผนการเชื่อมโยงภายใต้กติกาของสองฝ่าย พลวัตของเอเชียกลางจะเด่นชัดขึ้น มีบทบาทในทางการค้าการคมนาคมมากขึ้นจนมีโอกาสเป็นอีกศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโดยใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น พลังงาน การบริการ การเกษตร ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ออกนอกความถนัด ต้องไม่ลืมว่าเอเชียกลางเชื่อมโยงกับรัสเซียและอิหร่านซึ่งกำลังแสดงบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองเช่นกัน เอเชียกลางจึงมีสมรรถนะเป็นสปริงบอร์ดผ่านเพื่อนบ้านซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังตะวันออกกลางและยุโรป ไม่ว่าอย่างไร กรณีจีน-เอเชียกลางตอกย้ำว่าจีนยังคงให้ความสำคัญต่อทุกประเทศเฉกเช่นที่จีนปฏิบัติต่ออเมริกาใต้และแอฟริกา ไม่มีการเลือกปฏิบัติจนทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก

แต่ถ้ามองในเชิงของการอยู่ร่วมกัน จีนกับเอเชียกลางกำลังส่งสัญญาณของการเปิดรับไมตรีและความเชื่อมั่นในภารกิจพิทักษ์สันติภาพ เมื่ออยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ความไว้วางใจ การร่วมมือ และความตระหนักในหน้าที่ที่จะธำรงซึ่งความสงบสุขคือสิ่งสำคัญ ความร่วมมือจีนกับเอเชียกลางอาจจะพัฒนาไปเป็นอีกแบบอย่างให้ประชาคมในพื้นที่อื่นได้ถอดบทเรียน


















กำลังโหลดความคิดเห็น