xs
xsm
sm
md
lg

โรดแมปเงินสกุลร่วม BRICS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทนง ขันทอง

บทบาทของกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางกระแสของการเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกการใช้ดอลลาร์ (de-dollarization) นำโดยกลุ่ม BRICS และประเทศต่างๆ ที่เห็นความเสี่ยงในการถือครองดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สหรัฐฯ ใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธในการแซงชั่นรัสเซีย เพื่อตอบโต้การที่รัสเซียโจมตียูเครน

ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ผู้นำของกลุ่ม BRICS 5 ประเทศจะมีการประชุมซัมมิตที่แอฟริกาใต้ โดยมีหัวข้อที่จะพูดคุย หรือตกลงกันที่สำคัญ 3 เรื่องด้วยกัน คือการขยายสมาชิกของบริกส์ การใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อค้าขายกันเอง โดยไม่ใช้ดอลลาร์ และการสร้างเงินสกุลร่วม (common currency) ของบริกส์ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้างระเบียบเศรษฐกิจและระเบียบการเงินโลกใหม่

1. สำหรับการรับสมาชิกใหม่เพื่อขยายองค์กร BRICS นั้น นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียได้เปิดเผยว่า มีมากกว่า 12 ประเทศที่ต้องการเข้าร่วมกับ BRICS เช่น อัลจีเรีย อาร์เจนตินา บาห์เรน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย อิหร่าน อียิปต์ เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ซูดาน ซีเรีย ตุรกี ยูเออี และเวเนซุเอลล่า

ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมประเทศไทยจะตกสำรวจในการสมัครเป็นสมาชิกของ BRICS หรือไม่ หรือทำใบสมัครตกใต้โต๊ะที่ไหน

2. จะมีการพูดคุยกันในการประชุมซัมมิตของ BRICS เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อค้าขาย หรือทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันของกลุ่มและกับประเทศนอกกลุ่มให้มากขึ้น เช่นการใช้เงินรูเบิลของรัสเซีย เงินหยวนของจีน เงินเรียลของบราซิล เงินรูปีของอินเดีย เงินแรนด์ของแอฟริกาใต้ ในการทำธุรกรรมการค้าขาย โดยไม่ต้องใช้ดอลลาร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเหมือนอย่างในช่วงที่ผ่านมา เพื่อที่จะออกจากอิทธิพลของระบบดอลลาร์สหรัฐ ที่นอกจากจะทำให้มีความยุ่งยากแล้วในการแลกเปลี่ยนเงินสกุลไปมาแล้ว ยังเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกด้วย

3. ผู้นำ BRICS จะหารือลงในรายละเอียดเพิ่มเติมของแผนการสร้างเงินสกุลร่วมของกลุ่ม BRICS หลังจากที่มีการตกลงว่าจะสร้างเงินสกุลร่วมในการประชุมซัมมิตที่จีนในปีที่แล้ว เงินสกุลร่วมของ BRICS จะเป็นเงินดิจิทัล และอาจมีระบบบล็อกเชน หรือระบบชำระเงินอื่นรองรับเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้า หรือการชำระเงินระหว่างประเทศสมาชิก โดยจะหันหลังให้กับระบบดอลลาร์ที่ผูกขาดการเป็นเงินสกุลหลักของโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างสิ้นเชิง

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับ BRICS

BRICS มีประชากรคิดเป็นสัดส่วน 41% ของโลก มีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 23% ของการค้าโลก และมีผืนแผ่นดินรวมกัน 26.7% ของโลก

BRICS เป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาที่ต้องการสลัดอิทธิพลของระบบมหาอำนาจโลกขั้วเดียวของสหรัฐฯ และอังกฤษ เพื่อที่จะสร้างระเบียบโลกใหม่ ที่สะท้อนผลประโยชน์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างยุติธรรม หรือเท่าเทียมกัน

ตัวเลขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่าในปีนี้ เศรษฐกิจของ BRICS จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจโลกในสัดส่วน 31.2% เทียบกับ 29.9% สำหรับ G7 ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น

ในปี 2028 ตัวเลขนี้ยิ่งจะทิ้งห่างออกไปอีก โดย BRICS จะมีเศรษฐกิจที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจโลก 35% เทียบกับ 27.8% สำหรับ G7

มันสมองเบื้องหลังเงินสกุลร่วม BRICS ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกในยุคปัจจุบัน นายSergey Glazyev ได้รับการยอมรับว่าโดดเด่นที่สุด แม้ว่าชื่อของเราจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากว่าเขาเป็นชาวรัสเซียน และเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินในการวางแผนทางการเงินและเศรษฐกิจ เพื่อที่จะสลัดอิทธิพลของโลกตะวันตก

สื่อตะวันตกแทบที่จะไม่เคยรายงานเกี่ยวกับนายกลาซีเยฟ แต่เขาเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องจับตามองในเวลานี้ เนื่องจากเขาเป็นมันสมองหลักของรัสเซีย และกลุ่มประเทศ BRICS ในการวางโครงสร้างทางการเงินใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเงินสกุลร่วมของ BRICS เพื่อที่จะออกจากอิทธิพลของดอลลาร์ และนำพา BRICS และประเทศที่กำลังพัฒนาเข้าสู่ยุคเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบเศรษฐกิจโลกใหม่

นายกลาซีเยฟในปัจจุบันนี้มีอายุ 62 ปี เกิดที่ยูเครน เขาเป็นทั้งนักการเมือง และนักเศรษฐศาสตร์ โดยเรียนหนังสือที่ Moscow State University เขาเป็นสมาชิกของสภาการเงินแห่งชาติของธนาคารกลางรัสเซีย เขาเคยร่วมงานกับอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน โดยรับตำแหน่งรัฐมนตรีด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และต่อมาได้เป็นสมาชิกของสภาดูมาอีกด้วย เขาเคยลงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 นับตั้งแต่ปี 2021 เขาเป็นมันสมองหลักของฝ่ายบริหารของ Eurasian Economic Commission องค์กรที่ดูแล Eurasian Economic Union ซึ่งประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย


นายกลาซีเยฟอธิบายการสร้างเงินสกุลร่วมของ BRICS ว่ามีขั้นดอนดังต่อไปนี้ :

เฟส 1 ของการเปลี่ยนถ่ายออกจากอิทธิพลของยูเอสดอลลาร์ เรากำลังเห็นประเทศในกลุ่มบริกส์ และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หันมาใช้เงินสกุลของตัวเองในการค้าขาย หรือทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันมากขึ้น โดยจะมีกลไกทางด้านระบบเคลียริ่งทางการเงิน และการทำการสว็อปทางการเงินในรูปแบบทวิภาคีควบคู่กันไปอีกด้วย ขบวนการนี้เกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

หลังจากที่รัสเซียถูกสหรัฐฯ และยุโรปยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปกว่า $300,000 ล้าน ประเทศต่างๆ จะมีแรงจูงใจน้อยลงในการถือครองดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ หรือเยน ที่เป็นเงินสกุลของมหาอำนาจตะวันตก เพราะไม่รู้ว่าจะถูกยึดทรัพย์แบบรัสเซียเมื่อใดก็ได้

ในเฟส 2 จะมีการสร้างกลไกทางด้านราคาใหม่ โดยไม่เกี่ยวข้องกับยูเอสดอลลาร์ ในปัจจุบันนี้ ราคาของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถูกกำหนดโดยมากโดยตลาดรองต่างๆ ที่โค้ดราคากันเป็นยูเอสดอลลาร์ แม้ว่าการกำหนดราคาใหม่โดยใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะมีค่าโสหุ้ยสูง แต่มันจะคุ้มกว่าการพึ่งพาเงินดอลลาร์ที่ไม่มีทรัพย์สินอะไรหนุนหลัง รวมทั้งเงินยูโร ปอนด์ หรือเยน

ส่วนเงินหยวนจะไม่ทำหน้าที่เป็นเงินสกุลหลักของโลกเหมือนดอลลาร์ เพราะว่าจีนจะยังคงไม่เปิดเสรีทางการเงิน เงินหยวนยังไม่สามารถแปลงค่าเป็นเงินสกุลอื่นอย่างเสรี และรัฐบาลจีนยังควบคุมเงินนอกไม่ให้เข้าถึงตลาดทุนจีน เพื่อป้องกันการเก็งกำไรทางการเงิน

เฟส 3 จะมีการสร้างเงินดิจิทัลใหม่ผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศของ BRICS เพื่อการชำระเงิน ทำให้เงินสกุลร่วมดิจิทัลของบริกส์จะเป็นเงินที่ใช้ในระบบการชำระเงิน (payment currency) หรืออาจจะเป็นเงิน (reserve currency) ก็ได้ในอนาคต

การสร้างเงินสกุลร่วมเพื่อใช้ในระบบชำระเงินจะอ้างอิงจากตะกร้าเงินของกลุ่มบริกส์ ที่แต่ละประเทศสมาชิกจะลงขันเอาเงินสกุลของตัวเองมากองรวมกันเป็นเงินกองทุน โดยที่ประเทศอื่นๆ อาจจะมาร่วมทีหลังก็ได้ จะมีการกำหนดสัดส่วน หรือน้ำหนักของเงินตราของแต่ละประเทศที่จะใส่เข้าตะกร้าเงิน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมา เช่นขนาดของจีดีพี ส่วนแบ่งของการค้าระหว่างประเทศ ขนาดประชากร หรือขนาดดินแดนของประเทศ แน่นอนเงินหยวนของจีนจะมีบทบาทสำคัญที่สุด เพราะว่าจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด และพัฒนามากที่สุดเมื่อเทียบกับสมาชิกของ BRICS

นอกจากนี้ ในตะกร้าเงินของเงินสกุลร่วมของกลุ่มบริกส์จะมีดัชนีของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่กำหนดโดยตลาดรองที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ โลหะที่มีค่า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ

แต่มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่าใช้ทองคำอย่างเดียว จะสะดวกมากกว่า เพราะว่าถ้าใช้สินค้าโภคภัณฑ์อย่างอื่นด้วยจะทำให้ยุ่งยากในคำนวณน้ำหนัก หรือการบริหารจัดการ

สำหรับรูปแบบการบริหารจัดการเงินสกุลร่วม BRICS จะมีความจำเป็นในการสร้างสถาบันการเงินที่จะทำหน้าที่คล้ายกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่มีเงินในรูปบัญชีSpecial Drawing Rights (SDR) ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเงิน SDR อิงตะกร้าเงินที่ประกอบด้วยดอลลาร์ ยูโร หยวน เยน และปอนด์ ด้วยเหตุนี้ บริกส์จะต้องตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลการบริหารจัดการเงินสกุลร่วม

อย่างไรก็ตาม BRICS จะต้องมีการยกเครื่องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ถ้าหากต้องการจะสร้างระบบการเงินโลกใหม่ โดยจะต้องทยอยขายทิ้งดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ และเยน แล้วหันมาถือเงินสกุลท้องถิ่นที่เป็นคู่ค้ากันและทองคำแทน

นายStephen Jen ซีอีโอของ Eurizon SLJ Capital บอกว่า เงินดอลลาร์กำลังสูญเสียความเป็นเงินรีเสิร์ฟของโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สหรัฐฯ แซงชั่น และยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียในปีที่ผ่านมา

เขาบอกว่า ในปี 2001 ธนาคารกลางทั่วโลกถือดอลลาร์เป็นรีเสิร์ฟในสัดส่วน 73% ของพอร์ตเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในปี 2021 สัดส่วนนี้ลดลงเหลือ 55% แต่ในปี 2022 ที่รัสเซียถูกแซงชั่น สัดส่วนการถือดอลลาร์ในรีเสิร์ฟของธนาคารกลางทั่วโลกลดลงเหลือ 47% ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการถือทองคำที่สูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 ที่ผ่านมาของธนาคารกลางที่ขายดอลลาร์เพื่อซื้อทองคำ 1,136 ตัน คิดเป็นเงิน $70,000 ล้าน เพราะว่าเห็นความเสี่ยงในการถือครองดอลลาร์


กำลังโหลดความคิดเห็น