แบงก์ชาติเผยรายงานแรงงานอีสานคืนถิ่น ชี้แรงงานราว 3.2 แสนคนยังไม่กลับไปแหล่งงานเดิมหลังเปิดประเทศ เหตุแรงจูงใจไม่พอ ค่าครองชีพพุ่ง ขอเลือกใช้ชีวิตในบ้านเกิดเพราะมีโอกาสใหม่ อาชีพใหม่ ต่อยอดอาชีพเดิม ขอมีความสุขกลับมาอยู่กับครอบครัว
วันนี้ (11 พ.ค.) รายงาน Regional Letter แบ่งปันความรู้สู่ภูมิภาค ครั้งที่ 4/2566 หัวข้อ "แรงงานอีสานคืนถิ่น กลับไปพื้นที่เศรษฐกิจเดิมมากน้อยแค่ไหน" เรียบเรียงโดย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงโครงสร้างการเคลื่อนย้ายแรงงานเดิม ณ สิ้นปี 2563 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน พบว่า ตั้งแต่อดีต วิถีชีวิตของคนอีสานมีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมที่มีรายได้ไม่แน่นอน แรงงานอีสานจึงเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกภูมิภาคประมาณ 3 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคกลางประมาณ 2.7 ล้านคน (โดยอยู่กรุงเทพมหานคร 1.2 ล้านคน) ที่เป็นกลุ่มลูกจ้างในภาคผลิต บริการและก่อสร้าง ขณะที่แรงงานภาคอีสานอยู่ในภาคเหนือมีเพียง 1.3 แสนคน และภาคใต้มีเพียง 1 แสนคน ต่างจากแรงงานในภาคอีสานประมาณ 9.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพอิสระ (Self-employed) ถึง 70%
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา คาดว่าแรงงานอีสานคืนถิ่นมาจากกลุ่มลูกจ้างในภาคกลางเป็นสำคัญ เพราะเมื่อเกิดโควิด-19 แรงงานอีสานกลับภูมิลำเนาต่อเนื่อง คาดว่าเป็นประชากรอีสานคืนถิ่น 6.5 แสนคน คิดเป็นแรงงานประมาณ 4 แสนคน หลังเปิดประเทศ แรงงานคืนถิ่นเคลื่อนย้ายกลับบางส่วน โดยแรงงานอีสาน 1.7 แสนคน ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายจากภาคการเกษตรเป็นแรงงานนอกภาคเกษตร 9 หมื่นคน และเคลื่อนย้ายกลับภาคกลาง 8 หมื่นคน เหลือแรงงานอีสานคืนถิ่นอีก 3.2 แสนคน หรือ 80% ของแรงงานคืนถิ่น
สำหรับแรงดึงที่ทำให้แรงงานอีสานคืนถิ่นจำนวน 3.2 แสนคน ยังไม่กลับไปแหล่งงานเดิม มาจาก 5 ปัจจัย ได้แก่
1. แรงจูงใจด้านรายได้ยังไม่เพียงพอ จากช่องว่างรายได้ที่แท้จริงระหว่างแรงงานภาคกลาง (รวมกรุงเทพมหานคร) กับภาคอีสานมีแนวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งจากรายได้ในภาคอีสานที่สูงขึ้นและค่าครองชีพในภาคกลางที่สูงขึ้นกว่าเดิม
2. แรงงานอีสานคืนถิ่นมีความมั่นคงทางรายได้มากขึ้น จากการจ้างงานประจำมากขึ้น ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคอีสานที่ปรับตัวดีขึ้น และการกลับมาต่อยอดการทำเกษตรของเด็กรุ่นใหม่
3. ต้นทุนการย้ายกลับสูงขึ้น (Cost of mobility) สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะหมวดค่าที่พักอาศัย ค่าอาหารบริโภคภายในและนอกบ้าน และค่าโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของผู้ที่จะย้ายถิ่นเข้าไปและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง
4. แรงงานไทยบางส่วนถูกทดแทนด้วยแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะในกลุ่มทักษะต่ำ (Unskilled) เช่น ในภาคก่อสร้าง เกษตรและปศุสัตว์ ค่าจ้างที่ต่ำกว่า เพราะภาคธุรกิจยังเปราะบาง สะท้อนจำนวนแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
5. แรงจูงใจด้านอื่นๆ จากการได้กลับมาอยู่กับครอบครัว ความสบายใจ สุขภาพที่ดีขึ้น และใช้ทักษะเดิมที่มีต่อยอดในงานท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งแรงดึงสำคัญที่ทำให้แรงงานยังไม่กลับไปทำงานยังแหล่งงานเดิม
"แรงงานอีสานคืนถิ่นที่เลือกใช้ชีวิตในบ้านเกิด เนื่องจากมีโอกาสใหม่จากอาชีพใหม่และต่อยอดอาชีพเดิม ซึ่งทำให้แรงงานยังมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพและมีความสุขจากการกลับมาอยู่กับครอบครัว" รายงานระบุ
สำหรับประเด็นที่ได้จากการสำรวจเชิงพื้นที่ ที่สะท้อนแรงดึงกลุ่มแรงงานอีสานคืนถิ่น คือ
1. โอกาสใหม่จากอาชีพใหม่ในท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานคืนถิ่นที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี การใช้ Digital Marketing ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อต่อการทำธุรกิจในภาคบริการ การค้า จากการสัมภาษณ์แรงงานกลุ่มนี้พบว่า ธุรกิจภาคบริการ โดยเฉพาะร้านอาหารและร้านคาเฟ่เพิ่มขึ้นจากแรงงานหนุ่มสาวที่มีเงินทุน แม้ในช่วงแรกจะมีรายได้ต่ำกว่า
รายได้จากแหล่งงานเดิมในพื้นที่เศรษฐกิจ แต่ยังเพียงพอต่อการยังชีพ คาดว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากการขยายฐานลูกค้า
โดยพบว่าธุรกิจคาเฟ่เปิดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานหนุ่มสาวที่มีเงินทุนนิยมเปิดร้านขนาดเล็ก อาทิ จังหวัดขอนแก่นมีคาเฟ่เปิดใหม่กว่า 100 ร้านหลังช่วงการแพร่ระบาด หรือในจังหวัดอุบลราชธานี จากข้อได้เปรียบด้านใกล้แหล่งผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียงฝั่งลาว
ส่วนธุรกิจร้านอาหารเปิดใหม่ เฉลี่ย 70-80 ร้านต่อเดือนในจังหวัดอุดรธานี ส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากการมีธุรกิจขนส่งอาหารรองรับ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการมีหน้าร้าน และต้นทุนแรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย
ขณะที่จำนวนพนักงานส่งอาหาร (Riders) ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 60% ในพื้นที่อีสานใต้ สร้างรายได้ที่เพียงพอ และสามารถผ่อนชำระค่างวดรถได้
ด้านธุรกิจภาคการค้าเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะการขายสินค้าออนไลน์ในโซเชียลมีเดีย เช่น รองเท้า เสื้อผ้า และอาหารเสริม ซึ่งสามารถทำงานที่บ้านได้ เป็นทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจเสริม ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ธุรกิจคลังเก็บสินค้า เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ และธุรกิจขนส่งที่เป็นสาขาของกิจการขนาดใหญ่ สอดคล้องกับจำนวนการยื่นขอสินเชื่อที่มากขึ้น
2. โอกาสใหม่จากการต่อยอดอาชีพเดิมในท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดจากพื้นฐานเดิมในภาคเกษตรกรรม ต้องการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น แรงงานกลุ่มนี้มีที่ดินหรือเคยทำการเกษตรมาก่อน บางส่วนนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนการผลิตเกษตรเดิม และพัฒนาแปรรูปสินค้า ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นด้วย
จากการที่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถด้านเทคโนโลยีและระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว กลับมาต่อยอดการทำเกษตรแบบเดิม ซึ่งช่วยยกระดับการผลิตและลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ตัวอย่างเช่น การปลูกผักในโรงเรือน สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้ครัวเรือนนอกฤดูเพาะปลูกและกลายเป็นรายได้หลักให้กับบางครัวเรือน
การต่อยอดธุรกิจเลี้ยงสัตว์ โดยการปลูกหญ้าเนเปียร์ โดยแบ่งพื้นที่จากเดิมที่เลี้ยงสัตว์อย่างเดียว เพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ และสร้างรายได้เพิ่มจากการขายให้แก่เกษตรกรรายอื่น และการเลี้ยงไส้เดือนโดยใช้มูลสัตว์สร้างรายได้เพิ่มตามเทรนด์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตร เช่น แป้งกล้วยน้ำว้าชงดื่ม ที่ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม และแก้ไขปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ปัจจุบันสามารถสร้างแบรนด์สินค้าจากกล้วยเป็นของตัวเอง สู่การกระจายรายได้แก่คนในชุมชนได้
"ในระยะสั้น แรงงานอีสานยังเลือกทำงานในท้องถิ่น ประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามต่อไป คือ โครงสร้างของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ยั่งยืนแค่ไหน และสร้างโอกาสแก่ธุรกิจในอีสานได้มากเพียงใด" ในตอนท้ายของรายงานระบุ