1.อัยการ เลื่อนสั่งคดี "ดีเจแมน-ใบเตย" คดีแชร์ Forex-3D หลังใบเตยอ้างไส้ติ่งอักเสบ ส่วนดีเจแมน หลักทรัพย์ไม่พร้อม-ต้องดูแลลูกเมีย อัยการนัดอีกครั้ง 9 พ.ค.นี้!
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. พนักงานอัยการได้นัดฟังคำสั่งคดีนายพัฒนพล กุญชร หรือดีเจแมน และ น.ส.สุธีวัน กุญชร หรือใบเตย นักร้องสาวชื่อดัง สองสามีภรรยาผู้ต้องหากับพวกรวม 8 คน ฟังคำสั่งคดีฉ้อโกงแชร์ Forex-3D โดยผู้ต้องหาชุดนี้ มี 8 คน นายอดัม โพการี สัญชาติฮังการี 1 ในผู้ต้องหา หลบหนีไปประเทศฮังการี ส่วนนายแดริล ยัง ชาวสิงคโปร์ แฟนหนุ่มของ ซาร่า คาซิงกินี นางแบบสาว ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงเหลือผู้ต้องหาเพียง 6 คน คือ นายพัฒนพล น.ส.สุธีวัน นายฉัตรชัย หรือเสือ คชทิน, นายธีร์ภัสกร หรือมาร์ค กิมวังตะโก, นายสุรนาถ นาคมุสิก, นายอายุวัต ชัยเมธนากูล ที่ต้องมารายงานตัว
ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า ตัวแทนของดีเจแมนและใบเตยได้ยื่นคำร้องของเลื่อนฟังคำสั่งคดีออกไป โดยอ้างเหตุผลว่า ใบเตยมีอาการเครียดหนักจนต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะนี้ทางพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องควบคู่ไปกับใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลว่า มีเหตุผลสมควรเพียงพอว่าสามารถเลื่อนฟังคำสั่งคดีออกไปหรือไม่
หากพิจารณาแล้ว ไม่มีเหตุผลเพียงพอให้เลื่อนออกไป ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการทางกฎหมายทันที โดยจะแจ้งให้ตัวแทนของผู้ต้องหาทั้งหมดทราบ เพื่อประสานนำตัวผู้ต้องหามาฟังคำสั่งศาล หากไม่สามารถนำตัวมาฟังคำสั่งได้ ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ แต่ในกรณีที่สามารถนำตัวมารับฟังคำสั่งได้ และอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา ก็จะนำตัวไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทันที
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ช่วงเช้า ใบเตย ได้ส่งตัวแทนยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำสั่งคดีฉ้อโกงแชร์ Forex-3D ออกไป โดยอ้างเหตุผลพร้อมยื่นใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลนวเวช โดยแพทย์ระบุว่า ใบเตยมีอาการไส้ติ่งอักเสบและมีความเครียดสูง ขณะที่ดีเจแมนได้ยื่นคำร้องเลื่อนฟังคำสั่งออกไปเช่นเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า อยู่ระหว่างหาหลักทรัพย์ยื่นขอประกันตัวและเรื่องภาระที่ต้องดูแลลูกกับภรรยาที่กำลังป่วย
ด้านพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนพิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งฟ้องนายแดริล ยัง ก่อน 1 ราย และอนุญาตเลื่อนฟังคำสั่งคดีของดีเจแมน และใบเตยกับพวกอีก 3 คน ไปเป็นวันที่ 9 พ.ค. นี้
สำหรับคดีนี้ แบ่งผู้ต้องหาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ นายอภิรักษ์ โกฎธิ อดีตผู้บริหารแชร์ Forex-3D และพวกรวม 5 คน กลุ่มที่ 2 คือ น.ส.สาวิกา ไชยเดช หรือพิ้งกี้ นักแสดงสาวชื่อดัง และพวกรวม 19 คน ซึ่งพิ้งกี้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล กลุ่มที่ 3 คือดีเจแมน ใบเตยกับพวก 8 คน โดนดำเนินคดี 3 ข้อหา ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 12 และมาตรา 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 มาตรา 14
ทั้งนี้ ดีเจแมนให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ไม่คิดหลบหนี ถึงแม้จะมีการเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องออกไป แต่ก็เครียดเหมือนเดิม แต่หากวันที่ 9 พ.ค. อัยการสั่งไม่ฟ้อง ตนจะบวชทันที "เรื่องเตรียมหลบหนี ไม่จริง ถ้าหลบหนี คงไม่มาวันนี้ (10 เม.ย.) เมื่อคืนหลังกลับไปจากสัมภาษณ์ ใบเตยไม่สบายและเครียดมากๆ เครียดมาหลายวัน ไม่กินข้าว เขากลัวว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น เขาก็คิดไปได้ต่างๆ นานา ความดันขึ้นสูง เมื่อวานฉีดสีเข้าไปพบเนื้อที่งอกมาเป็นติ่ง ก็รอว่าต้องผ่าหรือเปล่าจนถึงตอนเช้า เลยส่งทนายมาก่อน ส่วนผมมาอยู่แล้ว แต่รอคำสั่ง ถ้าสั่งจริงก็ต้องมา แต่ต้องเอาใบเตยมาด้วย ผ่าตอนนี้มาไม่ได้ ก็เป็นข่าวต่างๆ นานาอีก ถ้าจำกันได้ 2 ปีที่แล้วที่ให้ปากคำที่ดีเอสไอ ใบเตยก็เข้า รพ. เขาเครียดจริงๆ เรามีหลักฐานยืนยันหมดทุกอย่าง ไม่ได้คิดหนีไปไหน หนีไม่ได้ เรื่องใหญ่ครับ"
ดีเจแมน กล่าวด้วยว่า "เราแจ้งเลื่อน เพราะติดปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ประกันตัวด้วย เราด้วย วันนี้เราไม่รู้จริงๆ ว่าราคาประกันเท่าไหร่ มาตรฐานไหน ยังไง ต้องเตรียมไว้หมดซึ่งมันหายาก พูดเลย ถ้าดูจากคนที่ผ่านมามันสูง ไม่ต้องพูดถึงว่า 10 ล้าน แค่ 5 ล้านก็สูงแล้ว หรือ 4 ล้าน 2 ล้าน ก็สูงหมด ณ เวลานี้ช่วงนี้ กับการที่ไม่มีงานมา 9 เดือน"
ดีเจแมน กล่าวต่อว่า "เราเครียดทุกวันอยู่แล้ว ถ้าไม่มีลูกกับภรรยา พ่อแม่ที่อายุเยอะจะไม่สนเลย เพราะตอนวัยรุ่นเกเรมาก เรามีครอบครัวก็ห่วงไปหมด ...เงินที่จะมาดูแลครอบครัว ดูแลบ้าน ...เราโชคดีที่ยังมีพระได้ปล่อย ขายของบางอย่าง เช่น มอเตอร์ไซค์ สิ่งที่เรารักก็ขาย ...รถเรา รถคุณแม่ ก็เอาไปเข้ารอบสองรอบ บางคันก็ต้องปล่อยไป ...ถ้า 9 พ.ค. สั่งไม่ฟ้อง จะบวชก่อน ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้เยอะมาก ย่างเข้า 40 ไม่มีเรื่องโชคดีเลย เราเคยบวชแล้ว เราไม่ได้บนหรอก แต่มันเครียด"
2.“จ.ส.ท.” แฮกเกอร์ “9near”คอตกเข้าคุกทหารระหว่างฝากขัง หลังศาลไม่ให้ประกัน เจ้าตัวอ้างไม่ได้แฮกข้อมูล 55 ล้านคนไทย แค่ซื้อจากดาร์กเว็บ!
ความคืบหน้ากรณีมีข่าวว่า จ.ส.ท.เขมรัตน์ บุญช่วย ทหารสังกัดกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับตามความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นแฮกเกอร์ใช้ชื่อบัญชี "9near" โพสต์ขายข้อมูลคนไทย 55 ล้านรายการ จากหน่วยงานรัฐไปเผยแพร่ผ่านบนเว็บไซต์ เตรียมเข้ามอบตัวกับตำรวจไซเบอร์เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ปรากฏว่า ในวันดังกล่าว นายทหารพระธรรมนูญได้นำตัว จ.ส.ท.เขมรัตน์ มาพบพนักงานสอบสวน หลังจากที่ ภรรยา จ.ส.ท.เขมรัตน์ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตั้งแต่ช่วงเช้าวันเดียวกัน
วันเดียวกัน (12 เม.ย.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) พร้อม พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้แถลงผลการจับกุม จ.ส.ท.เขมรัฐ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้นำตัว จ.ส.ท.เขมรัฐ ไปตรวจค้นที่บ้านพักเพื่อตรวจหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ผู้ก่อเหตุไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองหรือการเลือกตั้ง แต่มีกลุ่มทางการเมืองนำไปใช้ในการดิสเครดิต เพราะการเลือกตั้งไม่ได้ใช้ระบบดิจิทัล ขณะนี้ทราบว่าผู้ก่อเหตุยังไม่ได้นำข้อมูลไปขายหรือนำไปใช้ เพียงเป็นการนำมาโพสต์เพื่อสร้างกระแสในโซเชียลมีเดีย และเป็นการกระทำส่วนบุคคลเท่านั้น ทั้งนี้จากการสอบปากคำ ผู้ต้องหาปฎิเสธแฮกข้อมูลส่วนตัวของคนไทย 55 ล้านคน แต่ยอมรับว่า ได้ซื้อข้อมูลจากดาร์กเว็บจำนวน 8 ล้านข้อมูล ในราคา 8,000 บาท และต้องการทดลองตรวจสอบข้อมูลชื่อตัวเองและบุคคลอื่นว่าสามารถสืบค้นข้อมูลได้จริงหรือไม่
เมื่อได้ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นมาจึงนำข้อมูลของบุคคลที่มีชื่อเสียงไปโพสต์และเผยแพร่ทางออนไลน์ ทำให้เกิดเป็นกระแส เจตนาที่ก่อเหตุเพียงแค่อยากรู้เท่านั้น ส่วนข้อมูลที่อ้างว่า มีข้อมูลคนไทย 55 ล้านคนนั้น ไม่เป็นความจริง และข้อมูลยังไม่ได้รั่วไหลไปไหน
ด้าน พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า ผู้ต้องหาอ้างว่า หลังเกิดเหตุได้หลบหนีไปตามที่ต่างๆ เพียงคนเดียว ไม่มีคนช่วยเหลือ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า จ.ส.ท.เขมรัตน์ เรียนจบปริญญาตรี คณะสารสนเทศ จึงมีความรู้เรื่องระบบคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี ส่วนจากการสอบปากคำภรรยา ยังไม่พบความเชื่อมโยงว่าร่วมกระทำความผิด สอดคล้องกับหลักฐานที่พบ เชื่อว่าได้ จ.ส.ท.เขมรัตน์ ก่อเหตุคนเดียว เพราะภรรยาประกอบอาชีพเป็นพยาบาล
ส่วนการเนินคดี เบื้องต้นแจ้งข้อหา จ.ส.ท.เขมรัตน์ ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกำลังรวบรวมหลักฐานพิจารณาแจ้งข้อหา ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อีก 1 ข้อหา
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากคำให้การผู้ต้องหา ยังคงอ้างว่าซื้อข้อมูลมาจากดาร์กเว็บ โดยไม่ได้นำข้อมูลไปขายต่อ ส่วนแรงจูงใจการก่อเหตุมี 3 ประเด็นหลักคือ ต้องการประกาศขายข้อมูลส่วนตัว แต่พอเรื่องไม่โด่งดัง ต่อมา จึงนำไปเผยแพร่ต่อในลักษณะข่มขู่ กระทั่งทราบว่าจะถูกตามจับกุม สุดท้ายจึงเบี่ยงประเด็นไปเชื่อมโยงเรื่องทางการเมือง แต่โดยรวมที่ก่อเหตุไป ผู้ต้องหาต้องการจะลองภูมิ เพราะคิดว่าตัวเองเชี่ยวชาญ ตำรวจคงตามจับกุมไม่ได้
ทั้งนี้ หลักฐานที่ตรวจพบตรงตามแนวทางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ จึงเพียงพอจะขออนุมัติศาลออกหมายจับได้ โดยมีเลขที่อยู่ไอพีคอมพิวเตอร์ ตรงกันกับห้องที่ผู้ก่อเหตุใช้ โดยไม่พบว่า ผู้ต้องหาใช้สถานที่อื่นเพิ่มเติม จากการสอบปากคำผู้ต้องหารับว่า ใช้ห้องที่ไปตรวจค้นในการกระทำความผิด ส่วนสาเหตุที่การจับกุมของเจ้าหน้าที่ล่าช้านั้น เพราะผู้ก่อเหตุทิ้งอุปกรณ์ติดตามตัวทุกสิ่งอย่างไปคนเดียว จนถึงจังหวัดเชียงรายและมีแวะหาเพื่อนระหว่างทาง นอกจากนี้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบความเชื่อมโยงไปถึงภรรยาผู้ก่อเหตุ ที่ไปกดเงินสดมา 400 บาท เพื่อสมัครบริการส่งข้อความ sms ซึ่งภรรยาเองอ้างว่า มีหน้าที่ดูแลคนไข้เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบ
ด้าน พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. เผยผลตรวจค้นที่พักผู้ต้องหาว่า พบฮาร์ดดิสก์ 8 ตัว รีโมตควบคุมทางไกล โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์ซ่อมคอมพิวเตอร์จำนวนมาก รวมถึงเราท์เตอร์เน็ตและพ็อกเก็ตไวไฟ 3 ค่าย ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี จึงต้องรอผลการตรวจทางดิจิทัล เพื่อสืบหาผู้กระทำผิดเพิ่มเติม
วันเดียวกัน พนักงานสอบสวน บช.สอท. ได้นำตัว จ.ส.ท.เขมรัตน์ ไปขอศาลทหารกรุงเทพฝากขัง เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานบุคคลอีก 7 ปาก พร้อมทั้งรอผลการตรวจสอบสถานะของผู้ต้องหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอศาลฝากขังผู้ต้องหา 12 วัน พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกสูงเกิน 3 ปี ประกอบกับการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องใช้พยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ต้องหาอาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ที่จะมาใช้เป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติม และก่อนหน้านี้ผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี ด้านศาลทหารกรุงเทพพิจารณาแล้ว อนุญาตฝากขัง พร้อมส่งตัวเข้าเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 ทันที
3. ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนประกาศ กทม. ขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เหตุไม่ชอบด้วย ก.ม. ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.!
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานครลงวันที่ 15 ม.ค. 64 เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ออกประกาศดังกล่าว
คดีนี้ สืบเนื่องจากนายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และพวกรวม 6 คน ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ ผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 2 พร้อมขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงวันที่ 15 ม.ค. 64 (กำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 104 บาท) และให้สั่งระงับการดำเนินการใดๆ ตามประกาศฯ คือ การปรับขึ้นค่าโดยสารไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุด
ทั้งนี้ ศาลให้เหตุผลที่พิพากษาเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานครดังกล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติรับรองให้ กทม. ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระ แต่การใช้อำนาจบริหารราชการและการจัดทำบริการสาธารณะของ กทม. โดยผู้ว่าฯ กทม. ก็ยังต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลตามหลักการกระจายอำนาจทางปกครองของรัฐ
ดังนั้น การจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งแม้จะอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. และเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ที่สามารถกระทำได้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ใน กทม. เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่เขตปริมณฑล และเป็นโครงการที่รัฐบาลกำหนดไว้ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางใน กทม.และปริมณฑล
นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนโดยรถไฟฟ้าสายอื่นๆ อันเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์บรรเทาปัญหาการจราจร และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชน ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้การจราจรติดขัด
ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนของรัฐ เกิดการบูรณาการทางด้านการเดินรถให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการในการเดินทาง การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมของโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ การจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม. จึงต้องพิจารณาโดยภาพรวมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
ดังนั้น กทม.จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 26 พ.ย. 61 คือ ต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป ทั้งต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามความเห็นกระทรวงการคลัง รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าโดยสารให้เหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพของผู้ใช้บริการด้วย เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนคดีไม่ปรากฏว่า ก่อนการดำเนินการออกประกาศเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.โดยผู้ว่าฯ กทม.ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลังในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามที่ ครม. มอบหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่ กทม.อ้างว่า ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.วันที่ 26 พ.ย. 61 แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำให้การของ กทม.และ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นกรณีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานที่มี รมช.คมนาคม เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อทำการศึกษาบูรณาการเกี่ยวกับการรับโอนและบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยไม่ปรากฏว่า กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามที่ ครม. มอบหมายแต่อย่างใด ข้ออ้างดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ระหว่างการพิจารณาคดี กทม.ได้ออกประกาศลงวันที่ 8 ก.พ. 64 ให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปก่อน และปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสารตามประกาศพิพาทก็ตาม แต่กรณีก็ย่อมจะเห็นได้ว่า ประกาศกรุงเทพมหานครฉบับลงวันที่ 8 ก.พ. 64 ดังกล่าว ไม่ได้มีผลเป็นการยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศที่พิพาท ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเป็นเหตุแห่งคดีพิพาท จึงยังไม่หมดสิ้นไป การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนเสียหาย จึงต้องมีคำบังคับของศาล
ส่วนที่ กทม.อ้างว่า การบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กทม. มีภาระหนี้สินจำนวนมากที่ค้างจ่ายกับเอกชน อีกทั้งไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล หากไม่ได้รับการแก้ไข ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต้องหยุดชะงัก จึงจำเป็นต้องออกประกาศเพื่อเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการนั้น
ศาลเห็นว่า แม้ กทม.จะมีอำนาจตามกฎหมายในการเรียกเก็บค่าบริการสำหรับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในส่วนของที่ กทม.รับผิดชอบได้ แต่เมื่อ ครม. มีมติมอบหมายให้ กทม.ต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการเกินสมควร เร่งรัดและพิจารณาการใช้ระบบตั๋วร่วมให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ดังนั้น การดำเนินโครงการรถไฟสีเขียวเฉพาะในส่วนนี้ จึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี
ภาระหนี้สินจำนวนมากที่อ้างนั้น อาจเกิดจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องหรือเชื่อมโยงกัน เช่น การบริหารสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก การเจรจาต่ออายุสัมปทาน การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนผู้รับสัมปทาน การจัดทำร่างสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไข ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาล และ กทม.ต้องพิจารณาแก้ไขร่วมกันต่อไป โดยปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชน โดยคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับ กับภาระหรือผลกระทบที่จะเกิดกับเอกชนประกอบกันด้วย
4. ดีเอสไอ ไม่เชื่อคำอ้าง "แทนไท" ให้ "นอท กองสลากพลัส" กู้ 200 ล้าน เหตุพบอีกหลายร้อยล้าน แจ้งข้อหาแทนไทร่วมจัดให้เล่นการพนัน-ฟอกเงิน"!
ความคืบหน้ากรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายเรียกให้นายแทนไท ณรงค์กูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไททัน แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มาสอบปากคำเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังตรวจสอบพบเส้นทางการเงินของนายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ นอท กองสลากพลัส โอนให้ จำนวน 200 ล้านบาท โดยครั้งนั้นนายแทนไท ชี้แจงว่า เงินดังกล่าว เป็นการกู้ยืมจาก "นอท กองสลากพลัส" ไม่ใช่เงินร่วมทำธุรกิจแต่อย่างใด
ต่อมา นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกดีเอสไอ เผย (4 เม.ย.) ว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ประชุมพิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ให้ออกหมายเรียกบุคคลมารับทราบข้อกล่าวหา 4 ราย ประกอบด้วย นายแทนไท พร้อมกับผู้ร่วมลงทุนให้กู้ยืม 2 คน และมีนิติบุคคล 1 ราย เป็นชื่อบริษัท ไททัน แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ของนายแทนไท ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเช้าวันที่ 10 เม.ย. เพื่อแจ้งข้อหา ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนัน และร่วมกันฟอกเงิน
ปรากฎว่า นายแทนไทได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากดีเอสไอก่อนกำหนดนัด โดยนางพิชญา โฆษกดีเอสไอ เผยเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นายแทนไท พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบนายพงษธร อินอำนวย ผู้อำนวยการศูนย์คดียาเสพติด ดีเอสไอ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ในคดีร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันและร่วมกันฟอกเงิน พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาให้ทราบ โดยไม่มีการควบคุมตัว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เบื้องต้นผู้ต้องหาได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ต่อมา (10 เม.ย.) พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ ได้นำทีมแถลงคดีฟอกเงินและจัดให้มีการเล่นพนันว่า เราได้รับข้อมูลแจ้งเบาะแสว่ามีกลุ่มดำเนินการเกี่ยวกับการใช้บัญชีม้า กลุ่มบุคคลหลายคนดำเนินการในลักษณะฟอกเงินให้กับกลุ่มอาชญากรรมอื่นๆ เช่น พนันออนไลน์ ค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ เป็นต้น และกลุ่มนี้ก็ใช้วิธีการรับซื้อบัญชีม้า และบางส่วนจ้างคนไปเปิดบัญชี จนสร้างความเสียหายจำนวนมาก ทำให้มีบางส่วนที่รับเงินเข้าบัญชีแล้วกดเงินไปใช้ ก็ถูกบังคับข่มขู่เรียกเงินคืน มีการทำร้ายร่างกาย
อย่างไรก็ตาม จากการสืบสวนของดีเอสไอพบว่า กลุ่มผู้ใช้บริการ หนึ่งในนั้นมีนายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือนอท กองสลากพลัส จึงเป็นที่มาการขยายผลและเเจ้งข้อกล่าวหาฟอกเงินและจัดให้มีการเล่นพนัน แก่นายพันธ์ธวัช นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครือข่ายอื่นๆ ด้วยที่ใช้บริการขบวนการฟอกเงินเหล่านี้ โดยมีการสืบสวนพบว่า มีการใช้ในกลุ่มเว็บพนันออนไลน์เกี่ยวข้องถึง 41 เว็บไซต์ และยังอยู่ระหว่างการขยายผลสืบสวนเพิ่มเติม และในบรรดา 41 เว็บไซต์ดังกล่าว ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ทำการปิดเว็บไซต์ไว้ก่อน
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวถึงพฤติการณ์ของนายแทนไท ที่เป็นเหตุให้ดีเอสไอแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันจัดให้มีการเล่นพนันด้วยว่า ดีเอสไอแจ้งข้อหานายพันธ์ธวัช หรือนอท ปรากฏว่า สังคมบางกระแสมีการโจมตีดีเอสไอว่า มีการอายัดเงินในช่วงเวลาเที่ยงวันและในช่วงบ่ายมีการถอนเงินออกไป กล่าวหาว่าดีเอสไอมีส่วนรู้เห็นถึงการอายัดเงินจำนวนหลักร้อยล้านบาท จริงๆ แล้ว พนักงานสอบสวนมีการวางแผนดำเนินการไว้ตั้งแต่ต้นว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งในจำนวนเงินที่เราอายัดไว้แล้ว พบว่ามีการถอนเงินออกไปนั้น พบเป็นนายแทนไทและบริษัทฯ ของเขา เป็นคนถอนเงินจำนวนนี้
จึงเป็นที่มาของการออกหมายเรียกนายแทนไทและคนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล แม้ว่าจากพยานหลักฐานเขาจะโต้แย้งว่าเป็นการให้กู้ยืมเงิน แต่พนักงานสอบสวนเราพบว่า มันเป็นลักษณะร่วมกันลงทุน ต่างจากการกู้ยืมที่จะมีการรับดอกเบี้ยอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ หลักฐานที่ทั้งนายแทนไทและบริษัทฯ นำมาชี้แจงแสดง มันไม่ใช่การกู้เงินแน่นอน ซึ่งพบว่ามีจำนวนเงินถึงหลักหลายร้อยบาท จึงเป็นเหตุให้ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 2 ข้อหาแก่นายแทนไทและบริษัทฯ
"ส่วนอีก 2 รายที่เหลือเป็นผู้ร่วมให้กู้ยืมเงินแก่นายพันธ์ธวัช (นายทุน) โดยไม่ใช่บุคคลมีชื่อเสียง หรือเป็นที่รู้จักในสังคม แต่เป็นเพียงนักธุรกิจ จึงขออนุญาตสงวนชื่อนามสกุลไว้ก่อน โดยทั้งสองรายนี้ได้ประสานมาว่าจะเข้ารับทราบข้อหาในวันที่ 20 เม.ย.นี้"
ด้านนายพงษธร อินอำนวย ผอ.ศูนย์คดียาเสพติด และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน เผยว่า เป้าหมายหลักของเรา คือ นายสุทิน ใจสนุก ซึ่งเป็นหัวหน้ารายใหญ่ของขบวนการฟอกเงิน เป็นหัวหน้าแก๊งโบรกเกอร์บัญชีม้า และว่า ในคดีพิเศษ 288/2565 ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 23 ราย จากทั้งหมด 41 ราย เหลือเพียงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่มีหมายจับ
และในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ หากผู้ต้องหาที่เหลือเข้ารับทราบข้อหาครบในวันที่ 20 เม.ย.นี้ จากนั้นเราจะนำส่งสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้อัยการ ซึ่งมีนายพันธ์ธวัช รวมอยู่ด้วย คาดว่าจะสรุปสำนวนแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้
5. "ศรีสุวรรณ" เตรียมยื่น ป.ป.ช.ฟัน "6 กกต." บินดูงาน ตปท. ไม่แก้ปัญหา "ระบบลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าล่ม-ไม่วินิจฉัยนโยบายเงินดิจิทัลพรรคเพื่อไทย"!
เมื่อวันที่ 13 เม.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 6 คนเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีการเลือกตั้ง จริงๆ กกต. ทั้ง 6 คน ควรอยู่ภายในประเทศ เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีปัญหาแทบจะทุกวัน โดยเฉพาะช่วงนี้มีปัญหาอย่างน้อย 2 ประเด็นใหญ่ ที่ต้องรอการตัดสินใจโดยด่วนของ กกต. คือ 1.เรื่องการขยายระยะเวลาเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งหมดไปตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. แต่ปรากฎว่า ระบบลงทะเบียนเกิดล่มในวันสุดท้ายของการขอใช้สิทธิ์ ทำให้ประชชนจำนวนมากเสียสิทธิ์ในการลงเทียนเลือกตั้งล่วงหน้า หาก กกต.อยู่ ก็สามารถประชุมลงมติขยายเวลาออกไปได้ แต่ กกต.ไม่อยู่ ก็หมดสิทธิขยายเวลา ถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรง
2. ขณะนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยว่า อาจเป็นนโยบายที่ขัดกฎหมายหลายข้อ หลายฉบับ ซึ่งก็ต้องให้ กกต.วินิจฉัยว่า สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามมาตรา 57 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 ที่ต้องอธิบายที่มาของเงิน การได้ประโยชน์ เสียประโยชน์อย่างไร เพื่อให้พรรคที่นำเสนอ สามารถใช้หาเสียงต่อได้หรือไม่ แต่เมื่อ กกต.ไม่อยู่ ก็ไม่รู้ว่าจะให้ใครวินิจฉัย เลขาธิการ กกต. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยได้โดยตรง การที่ กกต.ทั้งหมดไปต่างประเทศ อ้างว่าไปดูงานนั้น ตนว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ กกต. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ น่าจะเข้าข่ายความผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงจะไปร้องต่อ ป.ป.ช. ประมาณวันพุธหน้า (19 เม.ย.) เวลา 10.00 น.
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ที่บอกว่าสามารถประชุมออนไลน์กันได้ จริงๆ ก็ควรรีบประชุมและมีมติกัน เพราะโดยกฎหมายระเบียบ กกต. ว่าด้วยการจัดการเลือกตั้ง ข้อที่ 118 กำหนดว่าการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ต้องจัดการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้า 30 วัน ดังนั้นพอหมดวันที่ 9 เม.ย. ก็ยังมีเวลาอีกตั้ง 1 สัปดาห์ หาก กกต.อยู่หรือมีมติ ก็สามารถขยายต่อไปได้อีก จนถึงวันที่ 14 เม.ย. ทำให้คนเข้าระบบได้ แต่นี่ กกต.ไม่อยู่ เลขาฯ กกต. ก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แล้วจะมาอ้างว่ามีการประชุมออนไลน์ แล้วทำไมไม่จัดประชุม หรือแสดงให้ประชาชนรับรู้เป็นที่ประจักษ์ว่า ได้ดำเนินการแล้วว่ามีการประชุมออนไลน์ มีระบบ แต่ไม่ใช้ระบบ มันก็ไม่เกิดการประชุมอยู่ดี เพราะถ้ามีประชุมจริง ก็ต้องมีมติว่า ตกลงจะขยายเวลาลงทะเบียนหรือไม่ แต่นี่เงียบหายไปเลย แสดงว่าไม่มีการประชุมจริง แล้วถ้าจะทำจริง วันนี้ วันที่ 13 เม.ย. ก็ยังมีเวลาอีก 1 วัน ซึ่ง 1 วันนี้ก็มีประโยชน์มหาศาล ถ้าคนคิดจะไปลงทะเบียนล่วงหน้า
ด้านสำนักงาน กกต. ได้เผยเเพร่เอกสารข่าวชี้เเจงกรณี กกต. เดินทางไปดูงานต่างประเทศว่า เป็นไปตามโครงการการเตรียมการและตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดขึ้นทุกครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักร เพื่อตรวจติดตามการเตรียมความพร้อม รับฟังสภาพปัญหา การบริหารจัดการการเลือกตั้งในแต่ละประเทศ มาใช้เป็นข้อมูลในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรืออาจนำมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายระเบียบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงาน กกต.ยืนยันว่า ก่อนดำเนินการ สำนักงาน กกต.ได้หารือกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ถึงวิธีทำให้การเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศ ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บรรลุตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด ต่อมา กต.ได้มีหนังสือเชิญ กกต. เดินทางไปเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่ง กกต. เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงพิจารณาช่วงเวลาที่ไม่กระทบกับงานตามแผนปฏิบัติการ (ตารางรถไฟ) ที่กำหนดไว้ การเดินทางห้วงเวลาที่จะไม่เป็นภาระการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานทูต หรือสถานกงสุลในประเทศต่างๆ จึงกำหนดให้มีการเดินทางระหว่างวันที่ 4-24 เม.ย. แต่ละเส้นทางไม่ได้เดินทางไปพร้อมกัน และแต่ละเส้นทางที่เดินทาง ประกอบด้วยกรรมการการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น เพียง 4-5 คน เท่านั้น
สำนักงาน กกต. ระบุอีกว่า ช่วงเวลาดังกล่าว กกต.กำหนดแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อให้สำนักงาน กกต. และหน่วยงานสนับสนุนดำเนินการไว้หมดแล้ว แม้เดินทางไปต่างประเทศ ก็ยังมีการนัดหมายการประชุม กกต. ตามปกติผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากมีเรื่องด่วน ก็อาจนัดหมายการประชุมเพิ่มเติมจากการประชุมตามปกติก็ได้
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางไปต่างประเทศของ กกต. ครั้งนี้ ทำให้ไม่สามารถพิจารณาคำร้องเรื่องการหาเสียงตามนโยบายให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท และการขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านั้น ข้อสังเกตดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อน กล่าวคือ 1.กรณีคำร้องนโยบายการหาเสียง การให้เงินทางดิจิทัล 10,000 บาท เป็นการยื่นคำร้องว่า มีการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง เมื่อมีผู้ยื่นคำร้อง สำนักงาน กกต.ได้รายงานให้ กกต. ทราบเบื้องต้นแล้ว และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาดก่อน จึงจะเสนอให้ กกต. พิจารณาต่อไป
โดยต้องเป็นไปตามกรอบระยะเวลาและขั้นตอนที่กำหนด ไม่อาจยกขึ้นมาพิจารณาได้ทันที ประกอบกับขณะนี้ มีพรรคการเมืองรายงานเรื่องนโยบายที่ใช้หาเสียงตาม มาตรา 57 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพียง 6 พรรค จากจำนวนพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 70 พรรค หรือบางพรรคยังอยู่ระหว่างส่งเอกสารเพิ่มเติม จึงยังไม่สามารถพิจารณาได้
2. การขยายเวลาการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า กรณีเกิดปัญหาผู้ลงทะเบียนบางส่วนไม่อาจลงทะเบียนได้ในช่วงเวลา 21.00-24.00 น. ของวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากข้อจำกัดของระบบที่มีศักยภาพในการรองรับการเข้าใช้งานลงทะเบียนพร้อมกันเพียง 5,000 คนต่อ 1 วินาที ถ้าสูงเกินกว่าจำนวนดังกล่าวจะทำให้ระบบล่าช้า สำนักงาน กกต.ได้เรียนให้ กกต. ทราบตั้งแต่เกิดเหตุ ต่อเนื่องมาเป็นลำดับ ได้ประสานงานกับสำนักบริหารการทะเบียนเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข
โดยได้ข้อสรุปว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบสามารถบันทึกข้อมูลผู้ประสงค์จะลงทะเบียน แต่แสดงผลว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จไว้ ซึ่งระบบสามารถดึงข้อมูลผู้ประสงค์จะลงทะเบียนดังกล่าว มาจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้เกือบทั้งหมด สำนักงาน กกต. จึงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องขยายเวลาลงทะเบียนออกไป และได้รายงานให้ กกต. ทราบด้วยแล้ว และว่า กกต.จะทยอยกลับไทยในวันที่ 24 เม.ย.นี้