นักวิชาการให้ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ดัชนีความร้อน” หลังพบภาพกราฟิกที่ระบุว่าค่าดัชนีความร้อนประเทศไทยพุ่งสูง 50.2 องศาเซลเซียส ชี้คือสิ่งสะท้อนว่าร่างกายของคนเรารู้สึกว่าอากาศร้อนแค่ไหน
จากกรณีกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน พบว่าจังหวัดที่มีค่าดัชนีความร้อนสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร พื้นที่บางนา ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดถึง 50.2 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับอันตราย ซึ่งทำให้มีชาวเน็ตจำนวนมากเกิดความกังวลกับอุณหภูมิของประเทศไทย และสงสัยว่า “ดัชนีความร้อน” คืออะไรกันแน่
ล่าสุดวันนี้ (6 เม.ย.) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “บัญชา ธนบุญสมบัติ” ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ และนักวิชาการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ออกมาให้ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ดัชนีความร้อน” คืออะไรกันแน่ โดยได้ระบุข้อความว่า
“ดัชนีความร้อน เป็นค่าที่ได้จากการนำอุณหภูมิของอากาศมาคิดร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์
พูดง่ายๆ คือ ดัชนีความร้อนจะสะท้อนว่าร่างกายของคนเรา “รู้สึก” ว่าอากาศร้อนแค่ไหน
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าหากความชื้นสัมพัทธ์สูง ก็จะทำให้เหงื่อระเหยยาก ผลก็คือเรารู้สึก “ร้อนกว่า” อุณหภูมิจริงของอากาศ
ตัวอย่างเช่น
ถ้าอากาศมีอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 80% จะพบว่าค่าดัชนีความร้อนคือ 38 องศา ภายใต้เงื่อนไขว่าเราอยู่ในที่ร่ม และไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร (แต่อาจมีลมพัดเบาๆ ได้)
ลองดูค่าในตารางที่ให้ไว้นะครับ
ด้วยเหตุนี้ ดัชนีความร้อนจึงเรียกอีกอย่างว่า humiture ซึ่งมาจากคำว่า humidity (ความชื้น) + temperature (อุณหภูมิ) นั่นเอง”