xs
xsm
sm
md
lg

ระดับอันตราย! กรมอุตุฯ เตือน 6 เม.ย.ค่าดัชนีความร้อนพุ่ง 50.2 องศาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน พบว่าจังหวัดที่มีค่าดัชนีความร้อนสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร พื้นที่บางนา ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดถึง 50.2 องศาเซลเซียล ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับอันตราย

กรมอุตุนิยมวิทยาเผยแพร่ข้อมูลการพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ของวันที่ 4-6 เมษายน 2566 พบว่าจังหวัดที่มีความร้อนสูงสุดในแต่ละภาคของวันที่ 5 เมษายน 2566 ประกอบด้วย ภาคเหนือ อยู่ที่ แม่สอด จังหวัดตาก 41 องศาเซลเซียส / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ 38.4 องศาเซลเซียส / ภาคกลาง อยู่ที่เขตบางนา กทม. 45.5 องศาเซลเซียส / ภาคตะวันออก อยู่ที่จังหวัดชลบุรี 45.8 องศาเซลเซียส และภาคใต้ อยู่ที่จังหวัดพังงา 43.3 องศาเซลเซียส

ส่วนวันที่ 6 เมษายน 2566 พบว่าส่วนใหญ่ค่าดัชนีความร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าวันที่ 5 เมษายน ร้อนที่สุดจะอยู่ที่ภาคกลาง ในพื้นที่เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 50.2 องศาเซลเซียส, รองลงมาคือภาคตะวันออก พื้นที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี 49.4 องศาเซลเซียส, ภาคใต้ พื้นที่จังหวัดภูเก็ต 47.9 องศาเซลเซียส, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ 41.5 องศา และภาคเหนือ ร้อนสุดอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ 40.6 องศาเซลเซียส

จากข้อมูลจะพบว่าเกือบทุกภาคของประเทศไทย ค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (41-54 องศาฯ) ประชาชนอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

ทั้งนี้ กรมอนามัยแบ่งระดับค่าดัชนีความร้อน เฝ้าระวังเตือนภัยผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ไว้ดังนี้

สีเขียว - ระดับเฝ้าระวัง ดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ คืออ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อนหรือออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน
สีเหลือง - ระดับเตือนภัย ดัชนีความร้อน 32-41 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion) หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
สีส้ม - ระดับอันตราย ดัชนีความร้อน 41-54 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
สีแดง - ระดับอันตรายมาก ดัชนีความร้อน มากกว่า 54 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ มีภาวะลมแดด (Heat stroke)

หมายเหตุ :: ดัชนีระดับความร้อน (Heat Index Temperature) หมายถึงสภาวะที่ทำให้ร่างกายเรารู้สึกร้อนขึ้นมากกว่าอุณหภูมิของอากาศจริงที่วัดได้จากเทอร์โมมิเตอร์ เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างอุณหภูมิของอากาศกับความชื้น ทำให้ร่างกายรู้สึกสูญเสียความเย็นออกไปจากบริเวณผิวหนัง ส่งผลให้รู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิของอากาศจริง อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยเนื่องจากอากาศร้อนได้ สภาพอากาศที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย เนื่องจากความร้อน คือสภาพอากาศที่มี ค่าดัชนีระดับความร้อนตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป




กำลังโหลดความคิดเห็น