1."แม่แตงโม" ยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาลหลังกู้คลิปกล้องหน้ารถแตงโมสำเร็จ ยัน ก่อนเกิดเหตุ ทุกคนอยู่หัวเรือ ไม่มีใครไปปัสสาวะ!
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ศาลจังหวัดนนทบุรีได้นัดพร้อมฝ่ายโจทก์และจำเลย คดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ตกเรือสปีดโบ๊ท เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 เพื่อตรวจเอกสารหลักฐานและสอบคำให้การเพิ่ม
นายพรศักดิ์ วิภาสอาภานนท์ ทนายความส่วนตัวของนายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือแซน 1 ในจำเลยคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ตกเรือสปีดโบ๊ท เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 เผยว่า วันนี้ในส่วนของนายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือปอ และนายไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ หรือโรเบิร์ต จำเลยที่ 1 และ 2 ได้กลับคำให้การ โดยรับสารภาพทุกข้อกล่าวหาตามที่อัยการสั่งฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3-6 ยังคงให้การปฏิเสธทุกข้อหา ศาลจึงพิจารณาให้แยกสำนวนสั่งฟ้องเป็นคดีใหม่ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาใหม่ทั้งหมด และว่า การรับสารภาพของปอและโรเบิร์ต จะส่งผลดีต่อจำเลยที่เหลือ เนื่องจากจะไม่ได้มีความเกรงใจกันในการต่อสู้คดี ส่วนหลักฐานชิ้นใหม่ที่พยานฝ่ายโจทก์ขอยื่นวันนี้ ทนายจำเลยยังไม่เห็นหลักฐาน
ขณะที่นายวิศาพัช หรือแซน ยืนยันว่า ไม่รู้มาก่อนว่าปอและโรเบิร์ตจะกลับคำให้การเป็นรับสารภาพในชั้นศาลวันนี้ เพราะที่ผ่านมาทั้งสองไม่เคยบอกมาก่อน และเพิ่งมารู้วันนี้เช่นเดียวกัน จึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี จากนี้ก็จะสู้คดีโดยไม่เกรงใจกัน ถึงเวลาจะใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย โดยเตรียมจะฟ้องกลับแม่แตงโมกรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ และแม่ได้ฟ้องแซน ในข้อหาฆาตกรรม ซึ่งมีลายเซ็นแม่แตงโมในเอกสาร จึงต้องการฟ้องกลับและเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 40.8 ล้านบาท ส่วนจะเป็นข้อหาอะไร จะกลับไปปรึกษากับทีมทนายก่อน และว่า วันนี้ก็ได้พูดคุยกับแม่แตงโมตามปกติ
ด้านนางภนิดา ศิระยุทธโยธิน แม่แตงโม กล่าวว่า รู้สึกเซอร์ไพรส์และรู้สึกดีใจและพอใจที่ปอกับโรเบิร์ตรับสารภาพ ไม่คิดว่าทั้งสองจะรับสารภาพ เพราะเป็นลูกมาปีหนึ่งแล้ว ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย แต่มองว่าทั้งสองมาถูกทางแล้วที่รับสารภาพ เพราะถ้าสู้ต่อไปอาจจะแย่กว่าเดิม ส่วนอีก 4 คน อยู่ที่ตัวเขาเลยว่าจะรับสารภาพหรือไม่ในอนาคต ยืนยันวันนี้คุยกับจำเลยทุกคนปกติ
นางภนิดา ยังกล่าวถึงหลักฐานใหม่ที่ยื่นต่อศาลเพื่อขอเป็นโจทก์ร่วมในคดีวันนี้ว่า เป็นคลิปกล้องหน้ารถแตงโม ได้ไปยื่นขอของกลางจากตำรวจที่มีการเก็บรักษาไว้กว่า 1 ปี และมีข้อมูลบางส่วนถูกลบไป จากนั้นได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทำการกู้ข้อมูลกลับมา พบว่าในรถมีการสนทนากัน 2 คน ถึงเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแม่เองได้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ รู้สึกมั่นใจกับหลักฐานชิ้นนี้ และจำเสียงบุคคลในคลิปได้อย่างชัดเจน แต่ขอให้เป็นรายละเอียดในสำนวน ส่วนที่แซนจะฟ้องกลับและเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากันกับที่แม่ฟ้องนั้น ตนเพิ่งทราบ เพราะในห้องพิจารณาคดี แซนก็เข้ามากอดแสดงความรัก จึงรู้สึกตกใจที่แซนจะฟ้อง แต่ตนมั่นใจในพยานหลักฐานที่แน่นหนาพอสมควร เชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม
มีรายงานว่า หลังปอและโรเบิร์ตกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ทั้งคู่ได้เดินลงจากศาล และขึ้นรถกลับทันที โดยมีสีหน้าเคร่งเครียดและดูอ่อนเพลีย พร้อมปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
ทั้งนี้ ในส่วนของปอและโรเบิร์ต ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ส่วนวันที่ 28 เม.ย.นัดพร้อมตรวจสอบพยานหลักฐานคดีที่อัยการยื่นฟ้องใหม่และมีนางภนิดา แม่แตงโมเป็นโจทก์ร่วม
ด้าน น.ส.สุภาภรณ์ นิปวณิชย์ หรืออัยการดาว อัยการจังหวัดนนทบุรี กล่าวถึงเรื่องพยานวัตถุชิ้นใหม่ที่นางภนิดา มารดาของแตงโมได้มาว่า ในชั้นพนักงานอัยการยังไม่ได้มีหลักฐานใหม่ใดๆ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 และ 2 กลับคำให้การ เป็นรับสารภาพนั้น ไม่มีผลกระทบกับรูปคดีใดๆ เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพแล้ว ศาลก็มีอำนาจสามารถวินิจฉัยคดีไปได้เลย ศาลจึงนัดจำเลยที่ 1 และ 2 ฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 พ.ค นี้
น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของจำเลยที่ 3-6 ซึ่งยังคงให้การปฏิเสธข้อกล่าวหานั้น ศาลได้สั่งให้ทางอัยการแยกคดีออกจากกันเป็น 2 ส่วน คือในส่วนของจำเลยที่ 1 และ 2 ที่ให้การรับสารภาพไปแล้ว แยกออกจากจำเลยที่ 3-6 ที่ยังคงให้การปฏิเสธต่อสู้คดี โดยทำเรื่องส่งฟ้องเข้ามาใหม่ภายในระยะเวลา 15 วัน โดยทางอัยการจะทำเรื่องส่งฟ้องจำเลยที่ 3-6 ในวันที่ 17 มี.ค.นี้ ในข้อหาเดิมตามที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนและส่งสำนวนมา
น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องการกลับคำให้การของจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์อะไร เพราะก่อนหน้านี้มีการนัดพร้อมทั้งสองฝ่ายมาตกลงพูดคุยกันก่อนแล้ว และว่า ที่มีกระแสข่าวว่า จำเลยที่ 1 และ 2 คุณปอกับคุณโรเบิร์ตรับสารภาพข้อหาฆ่า ยืนยันว่า ที่สองคนรับสารภาพไม่ได้เกี่ยวกับคดีฆาตกรรม จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง ไม่ใช่รับสารภาพนอกฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยหลักคือประมาท และจำเลยที่ 1 และ 2 มีข้อหาเหมือนกันคือ พ.ร.บ.เดินเรือ ข้อหาประมาท ส่วนจำเลยที่ 1 คือมีอีก 1 ข้อหาเรื่องแจ้งความเท็จ และเสพเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์
ด้าน“แอนนา" วรินทร วัตรสังข์” หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อ “แอนนา ทีวีพูล” เพื่อนสนิทของแตงโม กล่าวถึงกรณีที่แม่แตงโมยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาล และสามารถกู้คลิปกล้องหน้ารถแตงโมได้แล้วว่า “ต้องบอกว่าเราดูห่างๆ มาตลอด แต่เราก็ทราบแหละว่า มันมีหลักฐานมากมายที่แม่จะนำมาสู้ในชั้นศาล ...เดี๋ยวจะมีหลักฐานออกมาอีกมากกว่านี้เยอะเลย ทางคุณแม่เองได้หลักฐานมาค่อนข้างมาก แอนนาก็ไม่ได้รู้อะไรมาก รู้แค่ที่แม่เล่าให้ฟัง"
"แม่ไม่ได้มาปรึกษาอะไร แต่ถ้าแม่ได้หลักฐานอะไรมา แม่ก็จะบอกว่าเดี๋ยวแม่จะส่งนะ แอนนาก็จะบอกแม่ส่งเลยค่ะ เพื่อนๆ อยากให้แม่เอาหลักฐานไปส่ง เท่าที่ทราบหลักฐานที่ได้มาในช่วงหลังที่ขึ้นไปในชั้นศาล ค่อนข้างจะเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือมาก อยากให้ทุกคนติดตามคดีนี้อีกครั้ง เรากล้าพูดได้เลยว่า มันมีอะไรแน่ๆ เป็นหลักฐานที่สังคมรอ"
"ไม่แน่ใจว่าแม่จะเอามาเปิดต่อสังคมแค่ไหน แต่ถ้าเปิดก็เป็นอะไรที่สังคมจับตารอ แอนนาเองมั่นใจกับหลักฐานที่แม่มีมากๆ เราใจชื้นมานานแล้วนะ เพราะเรารู้ว่าหลักฐานนี้มีอยู่ ตอนนี้ก็ต้องติดตามตอนต่อไปว่าแม่จะทำยังไงต่อ ที่แม่เพิ่งเอาหลักฐานออกมา เพราะมันเพิ่งตรวจสอบแล้วชัดเจน มันต้องตรวจสอบว่าอันนี้จริง อันนี้ปลอม เป็นหลักฐานที่…พูดไม่ได้อีก กระบวนการต่อไปอยากให้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมันยังมีอะไรอีกเยอะ”
“ตอนนี้อยากให้ทุกคนให้กำลังใจแม่ อย่าให้แม่เปลี่ยนใจอีก อยากให้แม่เดินหน้าตรงตามที่แม่มีหลักฐาน ทำตามสิ่งที่แม่คิดว่าถูกต้อง”
ทั้งนี้ นางภนิดา เผยอีกครั้งในรายการ "เปิดปากกับภาคภูมิ" ทางไทยรัฐทีวี เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ถึงคลิปกล้องหน้ารถแตงโมที่กู้คืนเนื้อหาที่ถูกลบได้ว่า เสียงในคลิปที่ได้ยิน เป็นเสียงคนคุยกันระหว่างทางที่ขับรถกลับว่าเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น แตงโมอยู่ตรงไหน คุยเรื่องบนเรือ แต่แม่จำไม่ค่อยได้ จำได้แค่ว่าเป็นเสียง 1 ในจำเลย คุยกันยาว ซึ่งเรื่องนี้ ขอให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลดีกว่า แม่ได้ฟังแล้วก็มั่นใจเป็นเสียงเขา ทำให้รู้ชัดเจน เพราะเขาก็เล่าว่า เกิดอะไรขึ้นบนเรือ ทำให้รู้ว่า ช่วงก่อนเกิดเหตุแตงโมอยู่หัวเรือ เขาอยู่หัวเรือหมดทุกคน ไม่มีใครอยู่ท้ายเรือ ไม่มีใครไปปัสสาวะ
2.ศาล รธน.สั่งให้ "ศักดิ์สยาม" หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมต.ชั่วคราว หลังรับวินิจฉัยปมถือหุ้น ขณะที่เจ้าตัวยัน ถอนหุ้นตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง!
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์รับคำร้องกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งรายชื่อฝ่ายค้านรวม 54 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของ หจก. เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4(1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(9) และให้นายศักดิ์สยาม ผู้ถูกร้อง ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย พร้อมแจ้งให้คู่กรณีและนายกรัฐมนตรีทราบ
ทั้งนี้ วันเดียวกัน (3 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยปมถือหุ้นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง บริษัท บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นว่า หลังได้รับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการแล้ว ตนก็จะชี้แจงข้อกล่าวหาไปตามกรอบเวลาภายใน 15 วัน ตนได้เตรียมคำชี้แจงไว้เรียบร้อยแล้ว ยืนยัน ตนได้ถอนหุ้นจากบริษัทดังกล่าวก่อนเป็นรัฐมนตรีแล้ว อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะปฏิบัติหน้าที่แทน
มีรายงานว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว นายศักดิ์สยาม ได้ยกเลิกภารกิจตรวจราชการที่ จ.นครนายก และ จ.ปราจีนบุรี ในวันที่ 3 มี.ค. ทันที
3. ผบ.ตร.แถลงผลทลายอาณาจักร "ซัว มาเฟียคาสิโนออนไลน์" ยึดทรัพย์ 1.4 พันล้าน ออกหมายจับ "สารวัตรซัว"-รวบคนสนิท!
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้นำทีมแถลงผลเปิดยุทธการทลายอาณาจักร "ซัว มาเฟียคาสิโนออนไลน์" ของ พ.ต.ท.วสวัตติ์ มุครสกุล หรือสารวัตรซัว โดยสามารถจับกุมนายธีรพงศ์ ทองสุวรรณ หรือนายจิ๋ว อายุ 34 ปี คนสนิทสารวัตรซัว ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และผู้ต้องหาบัญชีม้าอีก 5 ราย ประกอบด้วย นายอนุวัฒน์ คงสมพงษ์ อายุ 23 ปี, นางอำภา กระเช้าเพ็ชร อายุ 54 ปี, น.ส.เกศกนก บัวแดง อายุ 29 ปี, นายนรินทร มีคำ อายุ 32 ปี และนายชาตรี ไพศาลชนากิจ อายุ 38 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาร่วมกันจัดให้มีการเล่น หรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาฯ, ร่วมกันฟอกเงิน
และตรวจยึดรถยนต์ยี่ห้อ Lexus, Benz, Audi จำนวน 3 คัน, โฉนดที่ดินจำนวนรวมกว่า 446 ไร่ มูลค่ารวม 700 ล้านบาท, สมุดบัญชีธนาคาร 184 บัญชีพบเงินหมุนเวียนจำนวน 700 ล้านบาท และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวน 100 รายการ รวมมูลค่ารวมกว่า 1,400 ล้านบาท นอกจากนี้ได้มีตรวจค้นเครือข่ายขบวนการดังกล่าวในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เพิ่มเติม โดยยึดเงินสดประมาณ 20 ล้านบาท และยาเสพติด(ยาเค) จำนวน 30 กรัม
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ตำรวจมีข้อมูลทางการสืบสวนชัดเจนว่า นายธีรพงศ์เป็นผู้ถือหุ้นหลายบริษัทที่อยู่ในเครือเป็นต่อกรุ๊ป และยังมีประวัติถูกออกหมายจับคดีฉ้อโกงเงินแอร์โฮสเตสคนหนึ่ง โดยทางการสืบสวนพบว่า นายธีรพงศ์ เข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะมีชื่อเป็นผู้รับเงินจากบัญชีม้า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงเงินจากแอร์โฮสเตสจำนวน 5 ล้านบาท เมื่อขยายผลเส้นทางการเงิน จึงพบความเชื่อมโยงของนายธีรพงศ์ มีการสั่งจ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์กว่า 300 ล้านบาทให้กับกลุ่มบุคคลอื่นๆ
ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. กล่าวว่า กลุ่มบริษัทในเครือเป็นต่อกรุ๊ป ส่วนใหญ่จัดทำบริษัทผลิตเกมส์ , ผลิตโปรแกรม, พัฒนาซอฟต์แวร์, จัดการบัญชี, จดทะเบียนพาณิชย์, จัดการการเงิน และทำการตลาด ซึ่งผลการตรวจสอบเชิงลึกพบว่า มีบริษัทกว่า 30 แห่ง ที่อยู่ในเครือเป็นต่อกรุ๊ป มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ เบื้องต้น ได้ระงับการดำเนินกิจการไว้ทั้งหมดแล้ว
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า สำหรับพฤติการณ์เชิงลึกของสารวัตรซัว ในอดีตเริ่มจากการเป็นเจ้าของเว็บพนัน จากนั้นได้ซื้อแพลตฟอร์มเว็บพนันจากต่างประเทศมาพัฒนาต่อ และจัดขายให้กับกลุ่มที่ทำธุรกิจเว็บพนันออนไลน์ และมีในลักษณะแบ่งเปอร์เซ็นต์ด้วย ข้อมูลที่พบขณะนี้ มีเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกว่า 400 เว็บไซต์ ซึ่งดำเนินการปิดไปแล้วประมาณ 200 เว็บไซต์ ในจำนวนนี้จะมีเว็บไซต์พนันออนไลน์มาเก๊า 888 หรือไม่ สันนิษฐานว่า อยู่คนละเครือข่ายกัน แต่ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลต่อ
ด้าน พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงการติดตามตัวสารวัตรซัวว่า มีหมายจับร่วมกันฉ้อโกง และร่วมจัดให้มีการเล่นการพนัน แต่ตัวสารวัตรยังอยู่ในต่างประเทศ ขณะที่การสืบสวนกรณีมีตำรวจยศพลตำรวจโทนายหนึ่งเกี่ยวข้องกับสารวัตรซัว อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เบื้องต้น ยังไม่พบความเชื่อมโยงทั้งหลักฐานและเส้นทางการเงินไปยังสารวัตรซัว แต่หากตรวจสอบพบ จะไม่มีละเว้น
ทั้งนี้ ระหว่างการแถลงข่าว นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้เดินทางมาสังเกตการณ์ด้วย พร้อมกล่าวขอบคุณ ผบ.ตร. และ ผบช.ก. รวมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกนายในการปฏิบัติงาน
นายชูวิทย์ กล่าวว่า ในส่วนสารวัตรซัวขณะนี้มีข้อมูลว่า เจ้าตัวได้มีคำสั่งให้เครือข่ายที่อยู่ในไทยเร่งย้ายฐานซอฟแวร์ออกนอกประเทศ เพราะตำรวจกำลังเร่งกวาดล้าง หากใครไม่ยอมทำตาม เมื่อถูกจับก็จะไม่รับผิดชอบ หรือพูดง่ายๆ ว่า คุณโดนทิ้งแล้ว และเจ้าตัวกำลังเสวยสุขอยู่ที่ต่างประเทศ
นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งบุคคลใกล้ชิดสารวัตรซัว หากจะไม่เอ่ยชื่อก็คงไม่ได้ คือ นายจิรวัฒน์ โพธิ์สุวรรณ หรือ เปา ถือหุ้นแทนสารวัตรซัว ที่อาบอบนวด ลาลิซ่า และเชื่อว่ากำลังเตรียมตัวจะหนี แต่ก็มั่นใจว่า พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ก็คงเร่งตามจับตัว เพราะมีความเชื่อมโยงไปถึง แต่อาจต้องใช้เวลา เพราะเครือข่ายสารวัตรซัวค่อนข้างใหญ่มาก และเชื่อว่า รูปแบบการทำงานของตำรวจสอบสวนกลางไม่ใช่แค่จับโชว์ 2-3 วันแล้วเงียบหายอย่างแน่นอน
มีรายงานว่า จากการสอบสวนนายธีรพงศ์ รับสารภาพว่า บริษัททั้งหมด 11 บริษัทที่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นนั้น เป็นของสารวัตรซัว โดยนำชื่อตนไปเป็นกรรมการ อย่างไรก็ตาม นายธีรพงศ์ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สามารถขยายผลไปถึงสารวัตรซัวและเครือข่ายที่เหลือต่อไป
รายงานแจ้งด้วยว่า นายธีรพงศ์เป็นประธานกรรมการ/กรรมการ/ผู้ถือหุ้น/อดีตผู้ถือหุ้น ถึง 11 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท กะเพรา เอ็กซ์เพรส จำกัด, บริษัท เป็นต่อกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท เป็นต่อ ทรานสปอร์ต บายเป็นต่อกรุ๊ป จำกัด, บริษัท เป็นต่อ เอ็กซ์เช้น 2 จำกัด, บริษัท เป็นต่อ เอ็กซ์เช้นจ์ จำกัด, บริษัท เป็นต่อ เอสเตท จำกัด, บริษัท พีทีจี ซอพต์แวร์ จำกัด, บริษัท พีที ซอฟแวร์ บายเป็นต่อกรุ๊ป จำกัด, บริษัท สน็อคโค เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท ไอ แคปบิตอล โฮลดิ้ง จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นต่อกรุ๊ป จำกัด
4. กกต.ประกาศจำนวน ส.ส.พึงมี แต่ละจังหวัดใหม่ หลังศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ การคำนวณ ส.ส. ต้องไม่นับรวมคนต่าวด้าว!
จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ว่า การคิดคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศณวันที่ 31 ธ.ค.ของปีที่ล่วงมา มาใช้ในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ถูกต้องหรือไม่
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86(1) ซึ่งกำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย โดยให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.เป็นต้นไป ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา
วันเดียวกัน (3 มี.ค.) มีรายงานว่า นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ได้ลงนามประกาศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 2566 ลงวันที่ 31 ม.ค. 66 โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการกำหนดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86(1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งว่า คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย ขณะเดียวกัน ก็ได้ลงนามในประกาศ กกต. เรื่อง จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมีแล้ว
หลังจากนั้น ช่วงค่ำวันเดียวกัน มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ กกต. เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยคำนวณจากจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 มีจำนวน 65,106,481 คน ซึ่งจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 162,766 คน ต่อ ส.ส.1 คน สำหรับจำนวน ส.ส.และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดที่คำนวณจากจำนวนราษฎรสัญชาติไทย ทำให้จำนวน ส.ส. เปลี่ยนแปลงใน 8 จังหวัด แบ่งเป็น จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. ลดลง มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ ตาก และสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี ลพบุรี นครศรีธรรมราช และปัตตานี
สำหรับจำนวน ส.ส.และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 33 คน ตามมาด้วยนครราชสีมา มี ส.ส. 16 คน จังหวัดที่มี ส.ส. 11 คน มี 2 จังหวัด คือ ขอนแก่น และอุบลราชธานี, ที่มี ส.ส. 10 คน มี 5 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช ชลบุรี เชียงใหม่ อุดรธานี และบุรีรัมย์, ที่มี ส.ส. 9 คน มี 2 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ และสงขลา, ที่มี ส.ส. 8 คน มี 4 จังหวัด คือ นนทบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ และสุรินทร์
จังหวัดที่มี ส.ส. 7 คน มี 5 จังหวัด คือ เชียงราย ชัยภูมิ ปทุมธานี สกลนคร และสุราษฎร์ธานี, ที่มี ส.ส. 6 คน มี 5 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ นครปฐม นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และมหาสารคาม, ที่มี ส.ส. 5 คน มี 9 จังหวัด คือ ปัตตานี ลพบุรี กาญจนบุรี นราธิวาส พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ระยอง ราชบุรี และสุพรรณบุรี, ที่มี ส.ส. 4 คน มี 8 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ตรัง นครพนม ลำปาง เลย สระบุรี และสุโขทัย
จังหวัดมี ส.ส .3 คน มี 21 จังหวัด คือ ตาก กระบี่ จันทบุรี ชุมพร น่าน บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต ยโสธร ยะลา สระแก้ว หนองคาย หนองบัวลำภู สมุทรสาคร และอุตรดิตถ์, ที่มี ส.ส. 2 คน มี 10 จังหวัด คือ ชัยนาท นครนายก พังงา มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ลำพูน สตูล อ่างทองอำนาจเจริญ และอุทัยธานี ส่วนจังหวัดที่มี ส.ส.1 คน มี 4 จังหวัด คือ ตราด ระนอง สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี
ทั้งนี้ หากคิดจำนวน ส.ส.เป็นรายภาค ตามประกาศ กกต.เรื่องบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด 2560 ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และ 26 จังหวัด จะมี ส.ส. 122 คน, ภาคใต้ 14 จังหวัด จะมี ส.ส. 60 คน, ภาคเหนือ 16 จังหวัด จะมี ส.ส. 37 คน, ภาคอีสาน จะมี ส.ส. 133 คน, ภาคตะวันออก จะมี ส.ส. 29 คน และภาคตะวันตก จะมี ส.ส. 19 คน
5. ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง 5 กสทช. กรณีลงมติควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ชี้ปฏิบัติตาม ก.ม.แล้ว ไม่ใช่อนุญาต แค่รับทราบการควบรวม!
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดฟังคำพิพากษา (ชั้นตรวจฟ้อง) คดีที่ น.ส.ธนิกานต์ บำรุงศรี ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), นายต่อพงศ์ เสลานนท์, พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต และรองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ซึ่งทั้งหมดเป็นกรรมการ กสทช. เป็นจำเลยที่ 1-5 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า โจทก์เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) AIS หมายเลข จึงเป็นผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. วันที่ 20 ต.ค.65 จำเลยทั้งห้าร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วาระการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค ผลการประชุมปรากฏว่า จำเลยทั้งห้ามีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง ลงมติรับทราบการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และรับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จําเลยที่ 2 ไม่มีความเป็นกลางและมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัททรู ฯลฯ
ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่า 1. พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 28 บัญญัติให้ กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งฯ ที่มีผลเป็นการใช้บังคับทั่วไป แต่การรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค เป็นการพิจารณาเพื่อมีมติหรือมีคำสั่งเกี่ยวข้องหรือผูกพันเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตเฉพาะราย คือ บริษัททรูและบริษัทดีแทคเท่านั้น ไม่ได้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป จำเลยทั้งห้าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการแล้ว
2.จําเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณา จึงไม่มีเหตุต้องห้ามมิให้พิจารณา จึงสามารถเข้าร่วมประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาและมีมติเกี่ยวกับการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคได้
3.การรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค ไม่ใช่เป็นการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด หรือบางส่วนเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น แต่เป็นการรวมธุรกิจที่บริษัทจํากัด (มหาชน) 2 บริษัทขึ้นไปควบรวมกัน แล้วนำไปจดทะเบียนเป็นบริษัทจํากัด (มหาชน) ขึ้นใหม่ โดยบริษัททรูและบริษัทดีแทคสิ้นสภาพจากการเป็นนิติบุคคลเดิม
พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27(11) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และมาตรา 22 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจ กสทช. ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตรวมธุรกิจของผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด กรณีทรูและดีแทค กสทช. ไม่ได้มีมติอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจแต่อย่างใด เพียงแค่ลงมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค
4. การประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วาระการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค กรณีจึงต้องบังคับตามข้อ 41 วรรคสาม ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2555 โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานของคณะกรรมการ กสทช. ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ กสทช.มีเสียงของผู้เห็นด้วยว่า การรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน การลงมติของจําเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทําที่ถูกต้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
5. ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ มิได้มีข้อกำหนดให้กรรมการ กสทช. ต้องออกเสียงทุกครั้งทุกคราวที่มีการประชุม และมิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการงดออกเสียงไว้ การที่จำเลยที่ 3 งดออกเสียงในการประชุมพิจารณาการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค จึงไม่ใช่การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
6.มาตรการเฉพาะที่จําเลยทั้งห้ากําหนดเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูกับบริษัทดีแทค ได้พิจารณาข้อกังวลในหลายประเด็น ได้แก่ อัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ การเข้าสู่ตลาดและประสิทธิภาพการแข่งขัน ฯลฯ เป็นการกระทำที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 (มาตรา 77) วรรคสาม ทั้งยังเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรขึ้นความถี่ฯ และ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำผิดตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ โดยไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องต่อไป พิพากษายกฟ้อง