ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ตีพิมพ์บทความหัวข้อ "บทเรียนกรณีเด็กหายบางเลน" กรณีน้องต่อวัย 8 เดือนหายไป ชี้ต้องไม่มองแค่เหตุร้ายในครอบครัว แต่ต้องลงลึกถึงต้นเหตุที่แท้จริง แนะวางแผนครอบครัว อนามัยเจริญพันธุ์ และให้คำปรึกษานั้นจำเป็น
วันนี้ (27 ก.พ.) จากกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าคดีการหายตัวไปของ ด.ช.ต่อศักดิ์ แสงสว่าง หรือน้องต่อ อายุ 8 เดือน หายออกจากบ้าน หมู่ 6 ต.หินมูล อ.บางเลน จ.ปทุมธานี เมื่อเช้าวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ผ่านไป 22 วัน พบว่า น.ส.นิ่ม (นามสมมติ) แม่ของเด็ก ยอมปริปากกับชุดคลี่คลายคดีว่าเป็นคนนำลูกไปทิ้งลงแม่น้ำ สอดคล้องกับผลการเข้าเครื่องจับเท็จ ก็พบว่าให้การเท็จทั้งหมด และผลตรวจสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลตำรวจที่ยืนยันว่าไม่ได้มีการป่วยทางจิตแต่อย่างใด ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ได้ตีพิมพ์บทความหัวข้อ "บทเรียนกรณีเด็กหายบางเลน" ระบุดังนี้
1. กรณีเด็กเล็กหายตัวไป สิ่งที่ต้องประเมินก่อนเป็นลำดับแรกเสมอ คือ 1. ปัญหาแย่งสิทธิปกครองบุตร 2. อุบัติเหตุ 3. ความรุนแรงในครอบครัว 4. ถูกลักพาตัวทั้งจากคนใกล้ชิดและคนภายนอก โดยประเมินจากสภาพครอบครัวและที่เกิดเหตุ
2. แม้จะต้องประเมินปัจจัยภายในครอบครัวก่อนเสมอ แต่กระบวนการจำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน ค้นหา ติดตามประเด็นอื่นๆ ไปพร้อมกัน
3. กระบวนการเก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ จำเป็นต้องทำตั้งแต่ช่วงแรกของการรับแจ้งเด็กหาย และข้อมูลส่วนบุคคลในการสืบสวนไม่ควรถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ
4. เรื่องนี้ต้องไม่มองอย่างผิวเผินแค่เพียงเกิดเหตุร้ายในครอบครัวเท่านั้น แต่ต้องมองให้ลึกถึงต้นเหตุ เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีมาก่อน ปัญหาทางเศรษฐกิจในครอบครัว ปัญหาความกดดันภายในครอบครัว ภาวะซึมเศร้าจากการเลี้ยงดูเด็กเล็กตามลำพัง ทักษะชีวิตและความพร้อมในการดูแลเด็กเล็ก หรือปัญหาอื่นๆ ที่นำมาซึ่งการตัดสินใจก่อเหตุด้วยความรุนแรงหรือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม
5. ไม่ควรมีเด็กคนใดต้องตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้ การวางแผนครอบครัว อนามัยเจริญพันธุ์ การเข้าถึงการให้คำปรึกษา จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการจัดการปัญหาครอบครัว