กรรมการมูลนิธิ เอเอฟเอส ประเทศไทย นายกสมาคมผู้ปกครองและครูสตรีวิทยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระราชูปถัมภ์
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ผศ.ดร.สุวัฒน์ วิวัฒนานนท์ กรรมการมูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานเอเอฟเอสเขตกรุงเทพฯ พระนคร ณ โรงเรียนสตรีวิทยา โดยมี คุณอภิศักดิ์ เทพผดุงพร นายกสมาคมผู้ปกครองและครูสตรีวิทยา ดร.ขจิตพันธ์ สุวรรณสิริภักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา ผศ.ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการใหญ่ มูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย กรรมการมูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย คณะผู้บริหารและครูโรงเรียนสตรีวิทยา คณะผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนเครือข่าย และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเอเอฟเอส ร่วมงาน
ผศ.ดร.สุวัฒน์ วิวัฒนานนท์ กล่าวขอบคุณและกล่าวถึงการดำเนินงานอย่างทุ่มเทของโรงเรียนสตรีวิทยาสร้างพลังขับเคลื่อนให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล (World - Class Standard School) ที่มีระบบบริหารจัดการที่ดี คล่องตัว มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้นักเรียนพัฒนาศักยภาพ มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งมีความพร้อมในการเป็นศูนย์ประสานงาน เอเอฟเอสเขตกรุงเทพฯ พระนคร ภายใต้การบูรณาการการทำงานร่วมกับ 23 โรงเรียนเครือข่าย เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระราชูปถัมภ์ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนวัดราชบพิธ โรงเรียนโยธินบูรณะ และ The Essence School เป็นต้น ที่จะสานต่อภารกิจสำคัญในการพัฒนาพลเมืองโลก ขยายโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันมูลนิธิเอเอฟเอสมีศูนย์ประสานงานเอเอฟเอสเขตเพื่อการรับสมัครและสอบคัดเลือกทั่วประเทศ จำนวน 81 เขต
บทบาทที่สำคัญของมูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย คือ การสร้างพลเมืองโลกที่มีคุณค่า (Active Global Citizens) ได้อย่างยั่งยืน ผ่านการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และยอมรับความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม อันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของบุคคลได้อยู่ตลอดเวลา “การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมตลอดชีวิต หรือ Intercultural Lifelong Learning คือเป้าหมายสำคัญของเอเอฟเอส ประเทศไทย เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ในด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเป้าหมายที่ 4.7 จะเห็นได้ว่าเป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการบูรณาการให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในสังคมโลกปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ที่จะไม่มีกำแพงกั้นระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้น ผู้เรียนทุกคน ซึ่งหมายถึงคนในทุกช่วงวัยที่ต้องการเรียนรู้จะต้องสามารถเข้าถึงความรู้และทักษะที่จำเป็นในการเป็นพลเมืองโลก และเข้าใจความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมได้ เอเอฟเอส ประเทศไทย จะขยายโอกาสการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งจะไม่ถูกจำกัดสำหรับกลุ่มเยาวชนหรือการเดินทางระหว่างประเทศเท่านั้น สำหรับกลุ่มเยาวชน จะมีการขยายโครงการครอบคลุมตั้งแต่ระดับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงมหาวิทยาลัย ทั้งรูปแบบกิจกรรมในประเทศและโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระยะสั้น เช่น AFSer Junior Camp โครงการค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน หรือค่ายจอหงวน ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ รวมไปถึงโครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน เช่น ประเทศเดนมาร์ก ประเทศเวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ที่จะเดินทางในช่วงเดือนกรกฎาคม อีกทั้งการขยายโอกาสไปยังบุคลากรวัยทำงาน ที่ต้องการจะ Upskill & Reskill เพื่อให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นพลเมืองโลก นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์กร พัฒนาสังคม ตลอดจนพัฒนาประเทศและโลกของเราให้มีความยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมไปถึงการพัฒนาโครงการเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มประชากรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อายุไม่ได้เป็นอุปสรรค หากตั้งใจที่จะเรียนรู้ และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ แน่นอนว่าผู้สูงวัยไม่สามารถกลับไปเป็นหนุ่มสาวได้อีกครั้ง แต่อายุขัยที่ยืนยาวขึ้น ก็มาพร้อมกับโอกาสในการเรียนรู้ที่มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ทำให้วัยที่เพิ่มขึ้นนั้นเปี่ยมล้นไปด้วยคุณค่า” ผศ.ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการใหญ่ มูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย กล่าว
ภายในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยของนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา การเล่าประสบการณ์ของนักเรียนเก่าเอเอฟเอสที่เดินทางไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศฝรั่งเศส สำหรับผู้ปกครองและเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาทักษะความฉลาดทางวัฒนธรรม ผ่านโครงการต่างๆ ของเอเอฟเอส ประเทศไทย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.afsthailand.org