สภาการสื่อมวลชนฯ ยกกรณี “แทนไท” ฟ้อง “สนธิ” หารือที่ประชุม ชี้การใช้กฎหมายแทรกแซง-ปิดปากสื่อมีมากขึ้น กระทบต่อการทำหน้าที่ เตรียมจัดเสวนาหาทางออก เล็งยื่นศาล รธน.วินิจฉัยคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามสื่อนำเสนอข่าวขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 34 และ 35 หรือไม่
วันนี้ (14 ก.พ.) มีการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 โดยมีนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นประธาน ภายหลังการประชุม นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งนางสาวนาตยา เชษฐโชติรส เป็นรองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ คนที่ 1 และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ หลังจากมีกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประเภทก่อตั้งลาออก และคณะกรรมการสรรหาได้แจ้งให้องค์กรสมาชิกผู้มีสิทธิเสนอชื่อ ร่วมกันเสนอชื่อระหว่างวันที่ 18-27 มกราคมที่ผ่านมา มีสมัคร 1 คน คือ นางสาวนาตยา ซึ่งกรรมการสรรหาพิจารณาคุณสมบัติแล้วพบว่าเหมาะสมที่จะเป็นกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการจัดเวทีมีเดีย ฟอรัม ครั้งที่ 18 เรื่อง จับไต๋การเมืองช่วงฝุ่นตลบก่อนเลือกตั้ง : บทบาทสื่อและผู้บริโภคที่ควรร่วมมือกัน ที่สถาบันไทยศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ และรับทราบความคืบหน้าโครงการศึกษาดูงานในประเทศไทยของสื่อมวลชนกัมพูชา กรณีศึกษาการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนไทย โดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ และมูลนิธิไทย ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 4 เมษายนนี้
นางสาวนิภาวรรณกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มีการหยิบยกประเด็นที่กรรมการเสนอขึ้นมาพิจารณา โดยแสดงความกังวล กรณีที่มีความพยายามใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยกรรมการได้อภิปรายยกตัวอย่างการแทรกแซงดังกล่าวหลายกรณี เช่น การฟ้องร้องคดีและขอให้สื่อมวลชนยุติการเสนอข่าว เป็นต้น ทั้งนี้เห็นว่ารัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยปราศจากการแทรกแซง จึงเห็นควรจัดเสวนาเพื่อหาทางออกก่อนที่จะมีมาตรการอื่นๆ ต่อไป
ด้านนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมมีการหารือถึงกรณีที่ในระยะหลังสมาชิกของสภาการฯ พบอุปสรรคปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนมากขึ้น เนื่องจากผู้ถูกพาดพิงจากการนำเสนอข่าวมักใช้วิธีการฟ้องร้องเพื่อให้หยุดการนำเสนอข่าว ล่าสุดเป็นกรณีนายแทนไท ณรงค์กูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไททัน แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ในฐานะผู้จัดรายการ “สนธิทอล์ก” ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมเรียกค่าเสียหาย จำนวน 1,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังให้ศาลแพ่งไต่สวนฉุกเฉินขอคุ้มครองชั่วคราว และศาลแพ่งได้มีคำสั่งห้ามมิให้นายสนธิกล่าวพาดพิงถึงนายแทนไทอีก รวมทั้งให้ลบข้อมูลที่กล่าวถึงนายแทนไททั้งหมดออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทุกช่องทาง เป็นการชั่วคราวในระหว่างการพิจารณา จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง และต่อมาวันที่ 13 ก.พ.ศาลได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งห้ามนายสนธิกล่าวพาดพิงนายแทนไทเฉพาะกรณี บริษัทไมนิ่งโปร จำกัด ที่นายแทนไทถือหุ้น ลักใช้กระแสไฟฟ้าหลวง
นายตุลย์กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าเป็นลักษณะของการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากสื่อมวลชน และอาจจะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 และมาตรา 35 หรือไม่ โดยมาตรา 34 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” และในมาตรา 35 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”
นายตุลย์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหาทางออกในเรื่องนี้ โดยนอกจากจะมีการจัดเสวนาแล้ว อาจจะมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า กรณีศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามนายสนธิกล่าวพาดพิงถึงนายแทนไท รวมทั้งส่งให้ลบข้อมูลออกจากระบบนั้น ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และ 35 หรือไม่ รวมทั้งอาจยื่นร้องต่อคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย
นายตุลย์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรณีที่ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ก.พ.เกิดขึ้นหลังจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล พร้อมทนายความ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ไม่ให้นายสนธิวิพากษ์วิจารณ์นายแทนไท ณรงค์กูล ซึ่งภายหลังการยื่นคำร้องของนายสนธิแล้วศาลได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่ก็ยังห้ามนายสนธิกล่าวถึงบริษัท ไมนิ่งโปร จำกัด ที่นายแทนไทเป็นผู้ถือหุ้นลักกระแสไฟฟ้ามาใช้ ทั้งที่ควรจะยกเลิกคำสั่งห้ามทุกกรณี เรื่องนี้ตนไม่ได้คัดค้านคำสั่งศาลแต่ขอไม่เห็นด้วยในเชิงวิชาการ