พระพุทธรูปองค์แรกนี้มีชื่อว่า “พระแสนแซว่” หรือ “แสว้” ซึ่งเป็นภาษาเหนือ หมายถึงสลักหรือเดือยที่เชื่อมต่อส่วนประกอบต่างๆเข้าด้วยกัน พระแสนแซว่จึงหมายถึงพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นหลายชิ้น แล้วใช้สลักหรือแซว่เป็นจำนวนมาก
พระแสนแซว่เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริด สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่มาก ได้พบเฉพาะพระเศียรที่สูงถึง ๑๘๒ เซนติเมตร ส่วนองค์พระไร้ร่องรอย มีการคำนวณจากขนาดพระเศียร องค์พระหากอยู่ในสภาพสมบูรณ์ในอิริยาบถนั่ง จะมีความสูงถึง ๖ เมตร ซึ่งแสดงถึงความเจริญของเทคโนโลยีในการหล่อโลหะในสมัยนั้น พบที่วัดยางกวง ทางทิศใต้ของประตูเมืองเชียงใหม่ ขณะที่พบนั้นเป็นวัดร้าง ปัจจุบันมีการปฏิสังขรณ์แล้ว
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม มีพระราชดำริให้รวบรวมพระพุทธรูปที่ถูกทอดทิ้งไว้ในที่ต่างๆมารวมไว้รอบระเบียงคด สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำเศียรพระแสนแซว่นี้มาจากเชียงใหม่ด้วย แต่ปรากฏว่าขนาดของพระเศียรใหญ่มากจนไม่สามารถเข้าประตูวัดได้ จึงต้องตั้งไว้โคนต้นไม้หน้าประตูทางเข้า ดังในภาพที่มีแหม่มมายืนถ่ายรูปนี้
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งมีการเล่นหวย ก ข กันมาก และหลวงพ่อแสนแซว่ก็เป็นที่นิยมของคนเล่นหวยมาขอเลขเด็ดกัน ปรากฏว่าถูกกันเป็นจำนวนมากจนทำให้เจ้ามือเดือดร้อน ต่อมาก็พบว่ามีคนแอบนำตะปูมาตอกที่พระโอษฐ์ คงจะเป็นเคล็ดห้ามหลวงพ่อให้หวยอีก
ต่อมาในปี ๒๔๖๙ ได้มีการย้ายเศียรพระแสนแซว่มาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร ซึ่งก็คือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน ต่อมามีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงใหม่ในปี ๒๕๑๕ จึงย้ายเศียรพระแสนแซว่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน
อิทธิฤทธิ์ของเจ้ามือที่ทำอุบาทว์เช่นนี้ไม่ได้มีรายเดียว ที่วัดไทรใหญ่ หรือมีชื่อเป็นทางการว่า วัดมหานิโครธาราม ซึ่งแปลว่าไทรเช่นกัน อยู่ริมคลองพระพิมลราชา อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ใกล้ๆกับตลาดน้ำไทรน้อยแหล่งท่องเที่ยววันเสาร์อาทิตย์ มีหลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะสมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง ๑.๖๙ เมตร เป็นที่นับถือของชาวบ้านในย่านนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่ออย่างหนึ่งก็คือให้หวย ซึ่งแม่นเสียจนขุนบาลหวยคนหนึ่งโกรธมาก จ้างคนให้เอาตะปูมาตอกที่แก้ม เรื่องนี้หลวงพ่อวิชิต หรือพระครูพิทักษ์นนทเขต อดีตเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะอำเภอด้วย ได้เล่าไว้ว่า
“สมัยอาตมาบวชใหม่ๆ ยังเคยเห็นหัวตะปูฝังอยู่ที่แก้มหลวงพ่อทองคำ ๓ ตัว และเหมือนมีกับมีเลือดไหลเป็นทางอยู่ด้วยเมื่อครั้งยังอยู่โบสถ์เก่า พออาตมาสร้างโบสถ์ใหม่เสร็จก็ย้ายท่านมาเป็นพระประธานในโบสถ์หลังใหม่”
เลือดที่เห็นเป็นทางนั้นอาจจะเป็นสนิมของตะปูก็ได้ แต่ท่านก็ยืนยันว่าเห็นตะปูตอกอยู่ในแก้มพระพุทธรูป...ดูช่างทำกันได้
แต่ถ้าจะไปขอหวยหลวงพ่อทั้ง ๒ องค์นี้อีก ไม่ถูกก็อย่าไปหาว่าท่านคลายความศักดิ์สิทธิ์เลย ท่านอาจจะเข็ดไม่อยากจะโดนตะปูอีกก็ได้