xs
xsm
sm
md
lg

พระพุทธรูปสวยที่สุด ประทับใจ อ.ศิลป์ พีระศรี! นำไปเป็นต้นแบบพระประธานพุทธมณฑล!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ที่ระเบียงแก้ววัดเบญจบพิตร มีพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ลงรักปิดทองสมัยสุโขทัยองค์หนึ่ง ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุด ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปปางลีลาสวยที่สุดเท่าที่เห็นมา พระอิริยาบถก้าวพระบาทซ้ายไปข้างหน้า พระบาทขวายกส้นพระบาทขึ้นเล็กน้อย ประทับบนฐานรูปดอกบัวหงาย รองรับด้วยฐานแปดเหลี่ยม ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นในท่าประทานอภัย พระหัตถ์ขวาทอดลงข้างพระวรกาย นับเป็นงานสร้างสรรค์

ประติมากรรมอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของศิลปะสุโขทัย เป็นการสร้างสรรค์พุทธศิลป์ตามคตินิยมเรื่อง “มหาบุรุษลักษณะ” ที่มีความงามตามอุดมคติอย่างแท้จริง
พระพุทธรูปในพระอิริยาบถลอยตัวนี้ น่าจะหมายถึงพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากพระพุทธองค์โปรดพระมารดาแล้ว เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงมาทางบันไดสวรรค์
ด้วยความประทับใจในความงามของพระพุทธรูปองค์นี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้นำมาเป็นต้นแบบพระประธานพุทธมณฑล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานนามว่า “พระศรีศากยะทศพลญาณ” สร้างขึ้นในโอกาสการเฉลิมฉลองพระพุทธศาสนาครบ ๒๕๐๐ ปี โดยปรับพระพุทธลักษณะให้เหมือนบุคคลจริงยิ่งขึ้น เน้นให้เห็นสรีระ กล้ามเนื้อ สีหน้า แววตา ท่าทาง ให้ดูเหมือนมีชีวิต ทั้งจีวรก็มีรอยพับตามธรรมชาติ พลิ้วเหมือนจริง มีความสูง ๑๕.๘๗๕ เมตร องค์พระหล่อด้วยโลหะสำริดประกอบกัน ๑๓๗ ชิ้น

พุทธมณฑล สร้างขึ้นเนื่องในวาระที่พระพุทธศักราชเวียนมาครบรอบ ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งตอนนั้นเรียกกันว่า “กึ่งพุทธกาล” เพราะมีคำทำนายมาแต่โบราณว่าพระพุทธศาสนาจะยืนยงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี แต่รัฐบาลขอร้องให้เรียกว่า “ครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ” จะน่าฟังกว่า
การสร้างพุทธมณฑลนั้น เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามมีดำริที่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของโลก สำหรับศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่พุทธศาสนา อีกทั้งให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในบรรยากาศสงบร่มเย็น

ในพื้นที่ ๒,๕๐๐ ไร่ของพุทธมณฑลซึ่งมีพระศรีสากยะทศพลญาณโดดเด่นเป็นประธานแล้ว บริเวณโดยรอบยังประกอบด้วยพื้นน้ำ ๖๐๐ ไร่ สนามหญ้าและสวนไม้ต่างๆ ๑,๕๖๒ ไร่ ถนนและทางเท้า ๒๔๔ ไร่ เป็นอาคารเพียง ๙๔ ไร่

สนามหญ้าและสวน ประกอบด้วย สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ได้แก่ ตำบลประสูติ ตำบลตรัสรู้ ตำบลปฐมเทศนา และตำบลนิพพาน
โดยสวนนั้นได้แก่

สวนเวฬุวัน คือ สวนไผ่ ประมาณ ๑๐๐ ชนิด
สวนอัมพวัน คือ สวนมะม่วง ราว ๑๐๐ พันธุ์
สวนธรรม คือ สวนกระถินณรงค์
สวนไทร มีต้นไทรร่มรื่น
สวนลัฎฐิวัน คือ สวนตาล
และยังมีสวนสมุนไพร ที่มีสมุนไพรกว่า ๒๐๐ ชนิด เพื่อส่งเสริมให้วัดปลูก และขายให้ประชาชนด้วย

พุทธมณฑลนอกจากจะเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในบรรยากาศที่แตกต่างจากสวนสาธารณะทั่วไป อบอวลด้วยบรรยากาศของพุทธประวัติ ทำให้จิตใจสงบร่มเย็น จึงมีประชาชนไปพักผ่อนหย่อนใจนำอาหารไปนั่งกินริมน้ำหรือขับรชมกันไม่ขาดสายในช่วงที่เปิดให้เข้าในเวลา ๐๕.๐๐-๑๙.๐๐ น.ของทุกวัน




กำลังโหลดความคิดเห็น