กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร ได้เผยแพร่ในเวบท่ากรมศิลปากรไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้สร้างพระพุทธรูปที่มีลักษณะเสมือนมนุษย์จริง อาทิ พระเศียรไม่ปรากฏพระรัศมีและอุษณษะ คือส่วนที่นูนขึ้นมาจากพระเศียร แต่แสดงการเกล้าผมขึ้นเป็นมวย พระวรกายแสดงกล้ามเนื้อ และครองจีวรเป็นริ้วแบบธรรมชาติ ซึ่งต่างจากพระพุทธรูปที่สร้างอยู่ทั่วไป
“...อยากเห็นพระเป็นคน อยากให้เห็นหน้าเป็นคน ฉลาด อดทนมีความคิดมาก ไม่ใช่ทำหน้าบึ้ง ไม่ใช่นั่งยิ้มกริ่ม ไม่ใช่นั่งหลับเผลอไผล ให้เต็มอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ...”
ความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขา
นายอัลฟองโซ ทอร์นาเรลลี ประติมากรชาวอิตาเลียนจึงรับสนองปั้นถวาย เป็นพระพุทธรูปปางถวายเนตร ซึ่งมีที่มาจากเรื่องราวในพุทธประวัติว่า สัปดาห์ที่สองหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้เสด็จมาประทับยืนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระเนตรเพ่งไปข้างหน้า
พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกัน ทรงอยู่ในอาการสังวร ทอดพระเนตรไปที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่เสด็จมาทรงยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นได้นามว่า อนิมิสเจดีย์ พระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปประจำคนเกิดวันอาทิตย์
เมื่อปั้นเสร็จแล้ว ในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีหล่อพระพุทธรูปปางถวายเนตรองค์ใหญ่ ๑ องค์ และองค์เล็กอีก ๒ องค์ ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ในพระราชวังดุสิต เป็นประติมากรรมปูนปั้นลงสี พุทธลักษณะเสมือนจริง เลียนแบบมาจากพระพุทธรูปในศิลปะอินเดียแบบคันธาระ พระเกศารวบขึ้นเป็นมวย ครองจีวรแบบห่มคลุม จีวรแสดงรอยยับของผ้า นิ้วพระหัตถ์และพระบาทมีลักษณะเหมือนจริง ทรงยืนเหนือฐานบัวมีเกสร
นอกจากนี้ยังปั้นพระพุทธรูปปางขอฝนอีกองค์ ซึ่งมีพุทธศิลป์เช่นเดียวกับพระพุทธรูปปางถวายเนตรองค์นี้
มีพระราชประสงค์ที่จะให้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตรไว้ที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดเบญจมบพิตร อีกทั้งมีพระราชประสงค์จัดสร้างขึ้นเพื่อพระราชอุทิศให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชที่สิ้นพระชนม์ไปเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒
แต่แล้วหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) นักโบราณคดีของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร ได้กล่าวถึงประวัติพระพุทธรูปต้นแบบองค์นี้ว่า ไปอยู่ในบริเวณบ้านพระยาบรรหารที่ถนนดินสอ พระยาบรรหารเคยเป็นผู้กำกับการสร้างพระราชวังดุสิต ต่อมาพระยาไชยวิชิต อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ให้ขุนอภิบาลไปเชิญมาไว้กองลหุโทษ การย้ายคราวนั้นปรากฏว่าฐานแตกชำรุดเสียหาย พระยานนทิเสนฯ ผู้ต้องโทษในคดีโกงลอตเตอร์รีเสือป่า เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ก่อฐานใหม่ด้วยปูนซีเมนต์ ปิดทองที่พระบาทและพระเศียร และทาสีแดงเลือดหมูที่จีวร จากนั้นนำไปประดิษฐานไว้ที่อาคารโถงแห่งหนึ่งในกองลหุโทษ สำหรับให้นักโทษได้กราบไหว้สักการะบูชา
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงมีพระประสงค์ให้ย้ายมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน โดยให้หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์เป็นผู้ดำเนินการติดต่อกรมกองลหุโทษ ในวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๑ พระยาสุรทัณคณิศร เจ้ากรมกองลหุโทษ ได้ส่งพระพุทธรูปองค์นี้ให้กับพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
ปัจจุบันพระพุทธรูปปางถวายเนตรที่มีลักษณะเหมือนคนจริงตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ องค์นี้ จัดแสดงอยู่ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร