xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ จากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา สิริอายุ 94 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนือ และนักสังคมสงเคราะห์ชาวเชียงใหม่ จากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา รวมอายุได้ 94 ปี ตลอดชีวิตสืบสานวัฒนธรรมแบบล้านนา และแก้ปัญหาสตรีตกเขียวในอดีต ด้านบุตรหลานเตรียมจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอย่างล้านนา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

วันนี้ (2 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ในสื่อสังคมออนไลน์จังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งข่าวว่า เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนือ และนักสังคมสงเคราะห์ชาวจังหวัดเชียงใหม่ ถึงแก่กรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 07.25 น. รวมอายุได้ 93 ปี 7 เดือน

ขณะที่ครอบครัวเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ระบุว่า "วันที่ 2 มกราคม พุทธศักราช 2566 เวลา 07.25 น. เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนืออาวุโส ผู้เป็นที่เคารพรักของคนทั่วไป ได้สิ้นวัสสา สิริได้ 94 ปี ด้วยอาการสงบ ณ บ้านพัก กลางเวียงเชียงใหม่ ทางลูกหลานจะจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอย่างล้านนา เพื่อแสดงความเคารพรักเจ้ายาย ในเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2566 โดยทางครอบครัวจะแจ้งรายละเอียดให้ท่านที่รักและเคารพเจ้ายาย ทราบต่อไป

เจ้าภาพ ภาคิณี ณ เชียงใหม่ (น้ำอ้อย) ภาคินัย ณ เชียงใหม่ (น้ำผึ้ง) เดือนเพ็ญ และประสิทธิ์ ภวัครานนท์ (น้ำมิ้นและสอ) พ.วงเดือน และณัฐ ยนตรรักษ์ (น้ำตาลและณัฐ) กลิ่นธูป อรุณโชคถาวร (ธูป)"


สำหรับเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เกิดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2472 ตรงกับวันวิสาขบูชา เป็นธิดาคนที่ 3 ในจำนวน 4 คนของเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) กับหม่อมจันทร์เทพย์ ณ เชียงใหม่ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนดาราวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ มิได้เป็นบุคคลสายตรงในครอบครัวของผู้สืบสายสกุล ณ เชียงใหม่ และไม่ได้เป็นบุคคลในครอบครัวของประธานราชตระกูล ณ เชียงใหม่ แต่เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือที่สืบเชื้อสายเจ้านายฝั่ง ณ ลำพูน โดยบิดาคือเจ้าเมืองชื่น ณ ลำพูน แต่ได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น ณ เชียงใหม่ โดยพระราชานุมัติในเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าประเทศราชนพบุรีศรีนครพิงค์ ซึ่งต่อมา เจ้าเมืองชื่น ณ เชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าราชภาคินัย ในเวลาต่อมา

เข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล สภาจังหวัด และสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาเข้าบริหารหนังสือพิมพ์เสียงเชียงใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นอุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ และอุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค กระทั่งมาเป็นนักจัดรายการวิทยุ ได้รับรางวัลนักจัดรายการดีเด่นจากสถานีวิทยุเสียงจากอเมริกา หรือวีโอเอ จากนั้น ปี 2513 สอบเป็นผู้พิพากษาสมทบคดีเด็กและเยาวชนได้ที่ 1 และในปี 2517 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ที่ผ่านมา เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมหลายกรณี ทั้งปัญหาสตรีถูกตกเขียว หมู่บ้านดอกคำใต้ ที่มีคนในหมู่บ้านไปชักจูงให้พ่อแม่นำบุตรสาวของตัวเองไปขายบริการทางเพศ แลกกับสิ่งของมีค่าและทำสัญญาผูกมัด เกิดการรณรงค์ให้สตรีสามารถลุกขึ้นมาสร้างกลุ่ม และพัฒนาตนเองไปสู่ความเข้มแข็ง และช่วยรณรงค์วางแผนครอบครัว ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสำนักงานเขต สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ และยังช่วยเหลือทางคดีแก่เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรม 19 ศพ ที่วัดไทยในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เพราะเห็นว่าถูกจับเป็นแพะจึงรณรงค์ด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ เพื่อหาเงินช่วยสู้คดีนานถึง 16 ปี ศาลจึงตัดสินยกฟ้องว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่วัฒนธรรมแบบล้านนาที่ได้ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก เช่น การพูดภาษาคำเมือง การแต่งกายแบบพื้นเมือง และการจัดเลี้ยงแบบขันโตก ซึ่งเป็นถาดรองสูงที่จัดวางอาหารที่หลากหลาย เช่น ข้าวเหนียว เนื้อสัตว์ แกง น้ำพริกและเครื่องเคียง กลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่จะได้มีโอกาสสัมผัสวัฒนธรรมแบบล้านนาอย่างใกล้ชิด และยังเป็นผู้ริเริ่มจัดงานไม้ดอกไม้ประดับหรืองานพฤกษชาติจังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาม่อนดวงเดือนเป็นโรงทอฝ้ายดวงเดือน ต่อยอดเป็นศูนย์อบรมหัตถกรรมพื้นเมืองจอมทองอีกด้วย

เมื่อปี 2558 ได้รับการประกาศสดุดีเกียรติคุณให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และเมื่อปี 2564 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่อง เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ให้เป็นบุคคลค่าแห่งแผ่นดิน ในด้านการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม

ครั้งหนึ่ง เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เคยให้สัมภาษณ์กับกองบรรณาธิการ Celeb Online ถึงวันคืนเก่าๆ ของเมืองเชียงใหม่ในความทรงจำ ระบุว่า “เมืองเชียงใหม่เมื่อก่อนนี้ รถราไม่เยอะ เป็นเมืองที่เงียบสงบ ผู้คนน่ารัก อ่อนน้อม และภาพที่อยู่ในความทรงจำของเจ้ายายก็คือภาพของคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ที่เจ้ายายอาศัยอยู่ตั้งแต่เด็ก เป็นภาพความอ่อนช้อยของวัฒนธรรมประเพณี มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีมานาน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 แม้ว่าตอนนั้นเจ้ายายยังเด็กอยู่มากแต่ก็ยังทันได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของคุ้มเจ้าหลวงในช่วงหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่หลายสิ่งหลายอย่างที่สืบทอดมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังมีเจ้าครองนคร ก็ต้องเปลี่ยนไป ความเป็นเจ้าครองนครไม่มีอีกแล้ว เมื่อฐานันดรหรือตำแหน่งนี้ไม่มีสืบทอดอีกแล้ว ดังนั้น ผู้คนในคุ้ม นับวันก็ลดน้อยลง เพราะเราไม่มีสิ่งใดเลี้ยงดูเขาได้ดีเหมือนเดิม”

ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับนายพิรุณ อินทราวุธ อาชีพทนายความ เมื่ออายุ 19 ปี มีบุตร 1 คน และธิดา 3 คน ได้แก่ นางภาคินี อัทธพินิจ (น้ำอ้อย), เจ้าภาคินัย ณ เชียงใหม่ (น้ำผึ้ง) บุตรชาย ประธานมูลนิธิเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่, นางเดือนเพ็ญ ภวัครานนท์ (น้ำมิ้น) และนาง พ.วงเดือน ยนตรรักษ์ (น้ำตาล) อดีตนักแสดง ภรรยานายณัฐ ยนตรรักษ์ นักเปียโนชื่อดัง
กำลังโหลดความคิดเห็น