พระพุทธรูปที่เรากราบไหว้บูชาเพื่อระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีปางต่างๆหลายปางตามพระอิริยาบถที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ ทั้งยังมีพระประจำวันเกิดครบ ๗ วันในรอบสัปดาห์ สำหรับให้ผู้เกิดวันนั้นได้กราบไว้บูชาโดยเฉพาะ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต กษัตริย์ก็มีพระประจำพระชนมวาร แต่ก็น่าแปลกใจที่พระประจำวันเกิดนั้นมีถึง ๘ ปาง องค์ที่ ๘ เป็นพระประจำวันไหน
การสร้างพระประจำวันเกิดเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้กำหนดปางในการบูชาพระเคราะห์ โดยโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระมหาราชเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ชำระปางพระพุทธรูปขึ้นใหม่ เป็นตำราสมุดภาพ “รูปพระสำหรับบูชาพระเคราะห์” มี ๙ ปาง คือ
๑. พระอาทิตย์ ปางถวายเนตร
๒. พระจันทร์ ปางห้ามสมุทร
๓. พระอังคาร ปางไสยาศน์
๔. พระพุทธ ปางอุ้มบาตร
๕. พระพฤหัสบดี ปางชสมาธิ
๖. พระศุกร์ ปางรำพึง
๗. พระเสาร์ ปางนาคปรก
๘. พระราหู ปางป่าเลไลยก์
๙. พระเกษ ปางสมาธิเพชร์
พระพุทธรูปปางต่างๆนี้เป็นสัญลักษณ์แทน “พระเคราะห์” ยังไม่ใช่ “พระพุทธรูปประจำวัน”
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชนิยมสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระราชบุพการี โดยสร้างตามวันพระราชสมภพ เช่น พระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงเป็นพระบรมอัยกา และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระบรมชนกนาถ ที่พระราชสมภพในวันพุธทั้ง ๒ พระองค์ เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพในวันจันทร์ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
พระราชนิยมนี้จึงกลายเป็นคตินิยมบูชาพระประจำวันของสามัญชนด้วย แต่ต่อมากลับมีเพิ่มขึ้นมาอีกปางหนึ่ง เป็น ๘ ปาง ทั้งนี้มีที่มาว่า ตามวิชาโหราศาสตร์ถือว่าดวงดาวสำคัญมีอยู่ ๘ ดวง แต่สัปดาห์หนึ่งมีอยู่ ๗ วันเท่านั้น จึงมีการแบ่งวันกลางสัปดาห์ คือวันพุธ ออกเป็น ๒ ช่วง คือกลางวันและกลางคืน ช่วงกลางวันเริ่มแต่ ๐๖.๐๐-๑๗.๕๙ น. ช่วงกลางคืนตั้งแต่ ๑๘.๐๐-๐๕.๕๙ น. โดยพระประจำวันพุธกลางวันเป็นปางอุ้มบาตร ส่วนวันพุธกลางคืนเป็นปางป่าเลไลยก์
พระพุทธรูปประจำวันต่างๆนั้นมีที่มาว่า...
วันอาทิตย์ ปางถวายเนตร พระอิริยาบถอยู่ในลักษณะประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกัน ทรงอยู่ในอาการสังวร พระเนตรเพ่งไปข้างหน้า มาจากเรื่องราวในพุทธประวัติกล่าว่าที่ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้เสด็จมาประทับยืนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ และเพ่งมองต้นพระศรีมหาโพธิเป็นเวลา ๗ วันโดยไม่กระพริบพระเนตรเลย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทิศเดียวกับดวงอาทิตย์ตามภูมิทักษาในตำราทางโหราศาสตร์ อีกทั้งพระอาทิตย์ยังหมายถึงดวงตาด้วย จึงถือเอาปางนี้เป็นพระประจำวันอาทิตย์
วันจันทร์ ปางห้ามญาติ หรือปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปปางห้ามญาติ จะยกเพียงมือขวาขึ้นถึงบริเวณหน้าอกเพียงข้างเดียว ความเป็นมาจากพุทธประวัติคือห้ามญาติฝั่งบิดาและฝั่งมารดาทะเลาะแย่งแม่น้ำโรหิณีกัน ส่วนปางห้ามสมุทร จะยกมือทั้งสองข้างขึ้นมาบริเวณหน้าอก ความเป็นมาคือทรงแสดงพุทธปาฏิหาริย์เพื่อทำลายทิฐิมานะของเหล่าฤษีทั้งหลาย ด้วยการห้ามฝน ห้ามลม ห้ามพายุ และห้ามน้ำไม่ให้ท่วมบริเวณที่ประทับ ทำให้พวกฤษีเห็นเป็นที่อัศจรรย์และยอมบวชเป็นพุทธสาวก ที่ปางนี้เป็นปางประจำวันจันทร์ เป็นเพราะดวงจันทร์เป็นดาวประจำธาตุน้ำ และหมายถึงญาติพี่น้อง ปางนี้จึงช่วยห้ามสิ่งไม่ดีที่จะเข้ามาสู่ชีวิต
วันอังคาร ปางไสยาสน์ หรือปางปรินิพพาน พระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา มือขวาตั้งรับพระเศียร มือซ้ายวางแนบลำตัว พระบาททับซ้อนกัน มาจากการที่พระพุทธองค์ทรงบรรทมระหว่างต้นรังคู่แบบสีหไสยาสน์ โดยตั้งใจจะปรินิพพาน ปางนี้จึงเป็นการรำลึกถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่ปางนี้เป็นพระประจำวันอังคาร เป็นเพราะดาวอังคารถือเป็นดาวมรณะ และพระพุทธเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันอังคาร จึงเป็นปางที่ต้องการให้ระลึกถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสติ อยู่อย่างสงบสุข
วันพุธกลางวัน ปางอุ้มบาตร อยู่ในอิริยาบถยืนอุ้มบาตร มาจากเมื่อครั้งที่ได้แสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศต่อหน้าญาติ ทำให้ลดทิฐิลง พร้อมทั้งมีการเทศนา แต่ญาติไม่มีใครได้ถวายอาหารให้เพราะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกจะฉันอาหารที่เตรียมไว้ในวัง แต่พระพุทธองค์ได้พาเหล่าพระสาวกเสด็จจาริกไปตามถนนหลวงเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ เป็นครั้งแรกที่ชาวกรุงกบิลพัสดุ์ได้เห็นพระพุทธจริยาวัตรทรงอุ้มบาตร ที่ปางนี้เป็นปางประจำวันพุทธ เป็นเพราะดาวพุธ เป็นดาวที่เกี่ยวกับการเดินทางและอาหาร จึงทำให้เมื่อบูชาปางนี้จะพบแต่ความอุดมสมบูรณ์
วันพุธกลางคืน ปางป่าเลไลยก์ อยู่ในอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองข้างวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาหงาย มีช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำไว้ และมีลิงถือรวงผึ้งถวาย มาจากขณะพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี พระภิกษุเกิดความแตกสามัคคีและไม่ยอมอยู่ในพุทธโอวาส พระพุทธองค์จึงเสด็จจาริกไปอยู่ในป่าปาลิไลยะตามลำพัง โดยมีพญาช้างเชือกหนึ่งตามมาเฝ้าปฏิบัติ เมื่อพญาลิงเห็นช้างปรนนิบัตรพระพุทธองค์ก็เกิดกุศลทำตามบ้าง เมื่อชาวบ้านไปเฝ้าพระพุทธองค์ไม่พบและทราบสาเหตุ ต่างพากันตำหนิภิกษุเหล่านั้นและไม่ยอมทำบุญ ภิกษุเหล่านั้นจึงเกิดความสำนึกผิด พากันไปทูลเชิญพระพุทธองค์กลับมา พระพุทธรูปปางนี้จึงเตือนสติถึงความแตกสามัคคีและทะเลาะวิวาทกัน
วันพฤหัส ปางสมาธิ หรือปางตรัสรู้ อยู่ในอิริยาบทนั่งสมาธิ มือขวาวางทับมือซ้ายบนหน้าตัก มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือคือวันวิสาขบูชา ที่เป็นปางประจำวันพฤหัส เป็นเพราะดาวพฤหัสเป็นดาวที่หมายถึงความสำเร็จและสติปัญญา เปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้และทรงสั่งสอนพุทธบริษัทและเหล่าเวไนยสัตว์
วันศุกร์ ปางรำพึง อยู่ในอิริยาถยืน มือทั้งสองข้างวางอยู่บนอก มือขวาทับมือซ้าย มาจากการที่หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้และคิดได้ว่าธรรมที่ตรัสรู้นั้นเป็นเรื่องลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนเกินกว่ามนุษย์จะเข้าใจ จึงคิดจะไม่สั่งสอนธรรมแก่มนุษย์แล้ว แต่ท้าวสหัมบดีพรหมก็ขอให้พระองค์ทรงสั่งสอนชาวโลกอีกครั้งโดยบอกว่ายังมีมนุษย์ที่กิเลสเบาบางยังจะฟังธรรมอยู่ พระพุทธเจ้าเห็นด้วยจึงหันกลับมาสั่งสอนธรรมต่อไป ที่ปางนี้เป็นปางประจำวันศุกร์ เป็นเพราะดาวศุกร์เป็นตัวแทนเกี่ยวกับโลกีย์ ที่ต้องใช้อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด เปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าคิดถึงเรื่องธรรมะที่เผยแพร่ เป็นเรื่องที่สวนทางกับจิตมนุษย์ แต่ก็จะทำให้มนุษย์ตระหนักคิดให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ลุ่มหลงไปกับกิเลส
วันเสาร์ ปางนาคปรก อยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ โดยมีพญานาคราชขดร่างเป็นบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร เพราะเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วได้นั่งบำเพ็ญสมาธิอยู่นั้นฝนตกลงมาไม่หยุดได้มีพญานาคราชตนหนึ่งชื่อว่า “มุจลินท์นาคราช” ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการขนดร่างเป็นวงกลม ๗ รอบแล้วแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธเจ้าไว้ เมื่อฝนหยุดตกจึงได้แปลงร่างเป็นมาณพเข้าเฝ้า ที่ปางนี้เป็นปางประจำวันเสาร์ เป็นเพราะวันเสาร์เป็นวันแข็ง และดาวเสาร์ก็เป็นดาวบาปเคราะห์ใหญ่ คนที่เกิดวันนี้จึงมีลักษณะดวงอาภัพ จึงให้ปางนาคปรกเป็นปางประจำวัน เพื่อที่จะได้มีพญานาคปรกคุ้มครองปกป้องให้พ้นทุกข์ภัยต่างๆ
การกราบไหว้บูชาพระพุทธรูป หรือพระประจำวันเกิด เป็นการระลึกถึงองค์พระศาสดา น้อมนำศรัทธาของชาวพุทธที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ เพื่อเป็นมงคลของชีวิตสืบไป