xs
xsm
sm
md
lg

“เพจอ้ายจง” วิเคราะห์สถานการณ์โควิดในไทย หลังจีนประกาศเตรียมเปิดประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ "อ้ายจง" โพสต์วิเคราะห์สถานการณ์โควิดในประเทศไทย หลังจากจีนเตรียมเปิดประเทศ พร้อมแนะวิธีรับมือ ห่วงถ้าโควิดกลับมาระบาดอีกครั้งอาจจะกระทบเรื่องของทรัพยากรทางการแพทย์ และอาจมีกลายพันธุ์ได้

หลังจากทางการจีนยอมผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ต่อมาทางการ "จีน" เตรียมเปิดพรมแดนอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าจีนได้ และในการลดมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป นับเป็นการเปิดประเทศ "ครั้งแรกในรอบ 3 ปี" ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ของจีน ตั้งแต่ปี 2562

ล่าสุดวันนี้ (29 ธ.ค.) เพจ "อ้ายจง" ได้ออกมาโพสต์วิเคราะห์สถานการณ์โควิดในประเทศไทย หลังจากจีนเตรียมเปิดประเทศ โดยระบุข้อความว่า "วิเคราะห์ "การปลดล็อกการเดินทางระหว่างประเทศของจีน" : นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางถล่มทลายทันทีหรือไม่? ไทยควรรับมืออย่างไร? หาคำตอบได้ที่นี่ คำเตือน: บทความยาวหน่อย แต่อยากให้ลองได้อ่านครับ

ตามที่ผมให้สัมภาษณ์หลายๆ ที่ ตั้งแต่ตอนที่จีนปรับมาตรการผ่อนคลาย มาถึงการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางเข้าออกจีน ที่จะเริ่ม 8 มกราคม 2566 ผมจะย้ำมาตลอด เรื่อง "3 เดือนอันตราย" คือ ช่วงฤดูหนาวในจีนที่กำลังเผชิญขณะนี้ ธันวาคม-ปลายปี 2565 ที่จะมีการระบาดได้ง่ายและมากขึ้นในจีน

- มกราคม 2566 ที่จีนยังคงอยู่ในฤดูหนาว และบวกเพิ่มด้วย "การเดินทางครั้งใหญ่ทั่วจีน" เพราะตรงกับ "ตรุษจีน-เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ" ที่ปี 2566 ตรงกับ 22 มกราคม แต่ปกติช่วงตรุษจีนของจีน จะเริ่มเดินทางตั้งแต่ 1-2 สัปดาห์แรกก่อนจะเริ่มวันตรุษจีนแล้ว และมีการหยุดยาว 1 สัปดาห์ บางคนก็ยาวไปถึง 2 สัปดาห์ก็มี

พอมาผนวกกับจีนเริ่มปลดล็อกมาตรการเข้าออกระหว่างประเทศของจีน 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยเฉพาะให้คนจีนสามารถขอพาสปอร์ตเพื่อจุดประสงค์ท่องเที่ยวได้ ก็ทำให้มีการคาดการณ์ว่าคนจีนอาจเดินทางออกจีนมากขึ้น ตรงนี้ก็เลยยิ่งต้องจับตาดูครับ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปสำหรับสถานการณ์ระบาดของจีน

- กุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม 2566 หลังจากคนจีนกลับมาจากเทศกาลตรุษจีน ก็จะมาใช้ชีวิตและทำงาน ตรงนี้ก็ต้องจับตาดูสำหรับสถานการณ์ระบาด ว่าจะหนักขึ้นหรือไม่ ซึ่งทางจีนเองก็มีการวิเคราะห์และคาดการณ์ประมาณนี้ไว้เช่นกัน ดังนั้นอาจจะมีการวางมาตรการรับมือไว้แล้ว ต้องติดตามกันต่อไปครับ

"คนจีนจะกลับมาเที่ยวไทยแบบทะลักเลยไหม ในต้นปีหน้า?"
คำถามนี้เป็นคำถามที่หลายคนคงอยากทราบ และผมเองก็ถูกถามค่อนข้างบ่อยในช่วงนี้ อย่างล่าสุดในรายการที่คุยกับคุณสุทธิชัย หยุ่น และคำถามหลังไมค์ที่ส่งมาถามกัน

ผมขอตอบแบบนี้ครับ ตามที่ผมวิเคราะห์ไว้ว่า ในช่วงแรกของการปลดล็อกการเดินทาง "มีความเป็นไปได้ที่คงยังไม่เห็นการออกมาแบบถล่มทลาย เพราะในความเป็นจริง แม้จีนจะปลดล็อกมาตรการ แต่การที่จะออกเดินทางระหว่างประเทศก็มีข้อจำกัดอื่นๆ อีก เช่น การขอพาสปอร์ตอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณความต้องการในการขอน่าจะสูง เนื่องจากจีนหยุดออกพาสปอร์ตมานานตั้งแต่เข้มงวดกับโควิดกว่า 3 ปี

และอีกปัจจัยข้อจำกัด คือ ข้อจำกัดการขอวีซ่าจากประเทศที่จะไป อย่างขีดจำกัดในการรับคำร้องและอนุมัติวีซ่าสำหรับสถานทูตและสถานกงสุลประเทศนั้นๆ ในจีน และตอนนี้หลายประเทศก็เริ่มจับตาสถานการณ์ในจีนอย่างใกล้ชิด และออกมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าประเทศของคนจีนโดยเฉพาะ

ในความเห็นผม ผมมองว่า "ไทยเราเองก็ควรจับตาดูสถานการณ์ในจีน และมีการวางมาตรการรองรับ คือไม่ใช่ด้อยค่าการป้องกันการระบาดในจีนหรืออย่างไรนะ แต่ความจริงก็คือ เราเคยมีประสบการณ์จากเหตุการณ์ที่จีนระบาดปีแรก 2020 จริงอยู่ที่ตอนนี้สายพันธุ์การระบาด หลักๆคือ โอมิครอน (Omicron) แต่ถ้าเกิดมีการระบาดแบบรวดเร็ว อาจจะกระทบเรื่องของทรัพยากรทางการแพทย์ และอาจมีกลายพันธุ์ได้

ซึ่งข้อนี้ทางจีนเองก็เคยออกมาเตือนประชาชนเขานะ ว่า "อย่าปล่อยให้มีการติดเชื้อแบบในครอบครัวเดียวกัน ติดกันทั้งบ้านพร้อมกันหมดในเวลารวดเร็ว เนื่องจากอาการไม่หนักก็จริง แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อเรื่องการรักษา ยา ทรัพยากรการแพทย์ต่างๆ และอาจเกิดกลายพันธุ์ได้"

การปลดล็อก 8 มกราคม 2566 ว่ากันตามตรง ทางจีนเองก็ยังคงไม่ได้เปิดสำหรับคนต่างชาติที่เข้าไปด้วย "จุดประสงค์ท่องเที่ยว" เพราะทางเขาก็ยังติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศ และที่ผ่านมา "จีนก็เจอการระบาดแบบที่มาจากต่างประเทศ เช่น คนจีนเดินทางกลับจากต่างประเทศ" ดังนั้น หากไทยเราจะยังคงมีมาตรการป้องกันรับมือตรงนี้สำหรับต่างชาติเดินทางเข้ามา อย่างน้อยก็วัตถุประสงค์ท่องเที่ยว ที่อาจมีจำนวนเยอะกว่าวีซ่าประเภทอื่น ก็สมเหตุสมผลอยู่นะ

"แล้วคาดว่าคนจีนจะเริ่มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงไทย กันมากขึ้นเมื่อไหร่?" อันนี้ผมก็ขอย้ำตามที่เคยพูดแทบทุกครั้งเวลาให้สัมภาษณ์ คือ "จับตาดู 3 เดือนอันตราย" ที่ผมกล่าวมาแล้วให้ดี และหลังจากช่วงนั้นถ้าสถานการณ์กลับมาดีขึ้น คนจีนจะเดินทางมากขึ้น เริ่มไตรมาสที่ 2 คือหลังมีนาคม 2566 และคาดว่าเทศกาลวันหยุดแรกของปี 2566 ที่จะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศ และไทย คือ

"วันแรงงาน" ก็คือช่วง 1 พฤษภาคม 2566 ครับ ทำไมถึงวิเคราะห์เช่นนี้? ช่วงพฤษภาคม เป็นช่วงที่เว้นระยะจาก 3 เดือนอันตรายมาพอสมควร ทำให้ทั้งจีน และต่างประเทศได้เห็นแนวทางว่า "สถานการณ์จะเป็นอย่างไร" หากสถานการณ์ดี หลายประเทศก็คงจะลดข้อจำกัดสำหรับนักท่องเที่ยวจีน และรับมือต่างๆ ได้ทัน หลังจากไม่ได้รับนักท่องเที่ยวจีนมากว่า 3 ปี ทำให้บุคลากรและมาตรการต่างๆ อาจไม่พอ หากอยู่ดีๆ ก็เปิดรับตั้งแต่ช่วงแรกที่จีนปลดล็อก ต้นปีหน้าและช่วงดังกล่าวเที่ยวบินก็เริ่มจะกลับมาดำเนินการได้แทบจะตามปกติ และราคาตั๋วคงเริ่มลดลงมาใกล้เคียงกับก่อนระบาด ก็จะดึงดูดให้คนจีนกล้าที่จะเดินทางได้มากขึ้นเช่นกัน

ตอนนี้จีนเริ่มประกาศ "ปลดข้อจำกัดของเที่ยวบินระหว่างประเทศ" สำหรับการปลดล็อก 8 มกราคม 2566 แต่ในความเป็นจริง คาดว่าไม่ใช่ว่าจะสามารถปรับได้ทันที เท่าที่ดูค่าตั๋วเริ่มลดลงแล้วก็จริง สำหรับคนจีนเดินทางไปต่างประเทศ รวมทั้งไทย แต่เชื่อว่าคนจีนไม่น้อยคงรอดูสถานการณ์สักพัก ตามที่ผมวิเคราะห์มา

สรุป:

- หน่วยงานไทยต้องจับตาดูสถานการณ์ในจีนอย่างใกล้ชิด การมีมาตรการรับมือและป้องกัน เป็นสิ่งที่สามารถทำได้
- ต้นปี 2566 หลังจีนปลดล็อกการเดินทางระหว่างประเทศ อาจจะยังไม่เห็น "การเดินทางของนักท่องเที่ยวแบบถล่มทลาย" แม้จะมีการค้นหาทริปท่องเที่ยวมากกว่าเดิม 7-10 เท่า

คือ อาจมีเดินทางครับ ซึ่งก็ถ้ามองมุมบวก ถ้าคนที่เดินทางเดินทางเข้า แสดงว่ารับได้กับมาตรการป้องกันและจำกัดบางอย่างของประเทศปลายทาง เช่น การกักตัว ก็จะหมายความว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการเดินทาง และมีกำลังซื้อ มีแนวโน้มเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ มีจุดประสงค์เฉพาะในการเดินทางเข้ามา เช่น อาจไม่ได้แค่มาเที่ยว แต่มาเรื่องของธุรกิจ งาน หรือแม้กระทั่งหาลู่ทางใช้ชีวิต อย่างการพาลูกมาเรียนในไทย

- แต่จะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางต่างประเทศมากขึ้นจริงๆ ช่วงไตรมาสสอง โดยเฉพาะเทศกาลวันหยุดแรงงาน เดือนพฤษภาคม 2566 เพราะผ่านพ้นช่วง "3 เดือนอันตราย" และทั้งจีนและประเทศต่างๆ มีเวลารับมือและประเมินสถานการณ์หลังปลดล็อก

เขียนโดย ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจอ้ายจง"



กำลังโหลดความคิดเห็น