ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระราชหฤทัยอันแน่แน่วของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเห็นว่าการพัฒนาการศึกษาคือการสร้างความมั่นคงของประเทศ จึงทรงสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่ประชาชนได้เรียนรู้ สามารถนํามาใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงสามารถนำความรู้มาพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้
ดังนั้น จึงมีพระราชดำริให้ดำเนิน “โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเมื่อปี 2552 โดยให้ทรงนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษาให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคง ต่อมาในปี 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” โดยเรียกย่อว่า (ม.ท.ศ.)” ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสืบต่อไป
ตลอดระยะเวลา 13 ปีของการดำเนินงานโครงการทุน ม.ท.ศ. น้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นได้ส่องประกายสานฝันให้เยาวชนไทยทั่วประเทศจากรุ่นสู่รุ่นได้มีอนาคตอันสดใส นักเรียนทุนพระราชทานบางคนจากที่ไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะได้รับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ก็กลับมามีความหวังในเส้นทางแห่งอนาคตที่วาดฝันไว้อีกครั้ง บางคนที่ได้รับทุนพระราชทานจนสำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีพวกเขาก็พร้อมนำความรู้ความสามารถที่ได้เล่าเรียนกลับไปพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และประเทศชาติอย่างยั่งยืนสืบไป ดังพระบรมราโชบายที่นักเรียนทุนพระราชทานทุกคนล้วนจำได้อย่างขึ้นใจว่า “เรียนดี ความรู้ดี การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ มีความสุข”
ผู้หมวดบาส-ว่าที่ ร้อยตรี อนุรุทธ ด้วงทอง นักเรียนทุนฯ ม.ท.ศ.รุ่นที่2 รับราชการตำรวจที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 จ.ราชบุรี ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์สัญญาบัตร 1 (นวท.สบ1) เล่าด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณว่า ในชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสได้ศึกษาจนจบระดับชั้นปริญญาตรีเลยด้วยซ้ำไป แค่ศึกษาจบแค่ระดับชั้นมัธยมปลายก็ดีที่สุดแล้ว แต่วันหนึ่งก็มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เกิดขึ้นเมื่อเขาได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. และวันนั้นเองที่เขาได้เห็นรอยยิ้มแห่งความยินดีบนใบหน้าผู้เป็นมารดาอีกครั้ง
"ผมเป็นนักเรียนทุนพระราชทานปีการศึกษา 2553 ตอนนั้นทางบ้านฐานะยากจน คุณแม่กับคุณพ่อแยกทางกันตั้งแต่ผมอายุ 2 ขวบ คุณแม่ทำงานคนเดียวเป็นเสาหลักของครอบครัวซึ่งต้องดูแลคนในครอบครัวกว่า 6 ชีวิต ตอนนั้นลำบากมากคุณแม่หาเช้ากินค่ำเป็นแม่ค้า แม่บอกว่ายังไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีกำลังส่งเราเรียนถึงได้ในระดับไหนแต่เราก็มีความตั้งใจว่าอยากจะศึกษาไปในระดับที่สูงเท่าที่ครอบครัวจะส่งได้ แต่พออาจารย์ที่โรงเรียนแนะนำให้สมัครทุน ม.ท.ศ. เราก็รีบสมัครทันที ตอนนั้นเขาคัดเลือกนักเรียนทุนจาก 3 ข้อคือ เรื่องความประพฤติ ฐานะ และความมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพ ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับคัดเลือก
ดีใจมากครับ พอมีทุนการศึกษาพระราชทานซึ่งเป็นทุนต่อเนื่องที่ส่งเสียจนเรียนจบปริญญาตรีก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราก้าวมาถึงจุดนี้ พอรู้ว่าได้ทุนสิ่งแรกเลยชีวิตเรามันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากแม่ที่เคยเหนื่อยก็ลดภาระจากการส่งเสียอย่างเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพราะทุนนี้มีเงินที่เป็นของค่าเรียนและค่าครองชีพให้ ซึ่งตรงนี้ก็ช่วยลดภาระของแม่ที่ทำงานได้เป็นอย่างดี"
เพราะมีความฝันอันแน่วแน่ที่อยากจะเป็นข้าราชการ เพื่อเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการช่วยเหลือประเทศชาติและประชาชน เมื่อสำเร็จการศึกษาจากระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาฟิสิกส์ประยุกต์ ผู้หมวดบาสจึงเลือกเข้าสู่เส้นทางชีวิตข้าราชการที่เขาเคยวาดฝันไว้ และพร้อมน้อมนำพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่นักเรียนทุนทุกคนเมื่อครั้งที่เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานทุนมาเป็นหลักยึดในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
“ชีวิตนี้มีความฝันอยู่สองอย่าง คือ เป็นข้าราชการในสายทหารตำรวจ กับเป็นข้าราชการครู ตอนแรกก็ไปเป็นอาจารย์ก่อนใช้ชีวิตในการสอนหนังสือ แต่เราก็ยังรักในสายตำรวจก็เลยมาสอบซึ่งมาบรรจุหน่วยพิสูจน์หลักฐาน ผมได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของในหลวงมาใช้ในฐานะข้าราชการตำรวจคือการผดุงความยุติธรรมเพื่อที่จะรับใช้ประชาชน ดังนั้นในสายงานของพิสูจน์หลักฐานตำรวจประชาชนจะต้องมีความเดือดร้อนแล้วต้องให้เราช่วยในการแก้ไขปัญหาเพราะเราเอาหลักของวิทยาศาสตร์ไปช่วยคลี่คลายคดีในการเริ่มต้นคดีประกอบสำนวนของพนักงานสอบสวนจะต้องมีพยานหลักฐาน การตรวจเก็บวัตถุพยานเราก็จะใช้ความรู้จากสาขาของฟิสิกส์มาช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ สิ่งนี้มันอยู่ในใจของเราอยู่แล้วว่าการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติเราอาจไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมดแต่เราก็สามารถช่วยในสิ่งที่เราทำได้”
ผู้หมวดบาสยังเล่าต่อว่า ทุนการศึกพระราชทาน ม.ท.ศ. เปรียบเสมือนกับน้ำทิพย์มาหล่อเลี้ยงชีวิตต่อลมหายใจให้เขาและครอบครัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
“ทุนพระราชทานนี้ไม่ใช่แค่ได้กับเราคนเดียวแต่ปัจจุบันผมสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นผลลัพธ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ เริ่มต้นมาจากการได้รับพระราชทานทุนของพระองค์ ดังนั้นสิ่งนี้ถือเป็นกำลังใจให้ตัวเองและครอบครัวที่ได้มาถึงจุดนี้ในปัจจุบัน และผมตั้งใจจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้อื่นและตอบแทนสังคมอย่างสุดกำลังเมื่อมีโอกาส”
ขณะที่หมอแอม-แพทย์หญิง ปิยกมล กล่ำสวัสดิ์ นักเรียนทุนฯ ม.ท.ศ.รุ่นที่ 5 คุณหมอป้ายแดงนายแพทย์ปฏิบัติการแห่งโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับสายธารแห่งพระมหากรุณาธิคุณ จากที่คิดว่าชีวิตนี้คงไม่ได้มีโอกาสได้เป็นหมออย่างใจหวังเพราะฐานะทางบ้านที่ยังต้องอดมื้อกินมื้อเพื่อให้อีก 4 ชีวิตอยู่ได้ แต่เมื่อวันหนึ่งเธอได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน เหมือนชีวิตได้เกิดใหม่ทำให้เธอมีความหวังและกำลังใจในการดำเนินชีวิตอีกครั้ง
“วินาทีที่รู้ว่าได้รับทุนพระราชทานเราดีใจมากมีความโล่งอก เพราะมีหนทางที่จะได้เรียนหมอตามความตั้งใจแล้วเพียงแค่มาบวกกับความพยายามตั้งใจเรียนของเราอีกนิดหนึ่ง เพราะฐานะทางบ้านก็ไม่ค่อยดีมีพี่น้องอีก 4 คน แถมคุณแม่ก็ป่วยเป็นอัมพฤกษ์แขนขวาไม่มีแรง หลังเลิกเรียนต้องไปช่วยคุณแม่ขายกาแฟรถเข็น พี่น้องทุกคนอยากให้หนูออกมาเรียนผู้ช่วยพยาบาลเพราะเรียนแค่สองปีก็สามารถทำงานได้เลย ตอนนั้นก็คือพยายามตั้งใจเรียนขอบคุณครูที่เห็นความตั้งใจก็เลยแนะนำทุนการศึกษาพระราชทานให้ วันแรกที่ได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรู้สึกตื่นเต้นยิ่งเข้าไปใหญ่เลยตอนนั้นเราทำอะไรไม่ถูกเหมือนกันแต่ก็ต้องตั้งสติทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด”
พอสำเร็จการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 ตามความตั้งใจ หมอแอมจึงเลือกเข้าโครงการแพทย์ชนบทเพื่อกลับมาทำงานรับใช้บ้านเกิดที่โรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงครามอันเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระองค์ผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิที่สามารถนําความรู้มาใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้
“หนูน้อมนำกระแสพระราชดำรัสที่พระองค์พระราชทานให้ในทุกครั้ง เริ่มตั้งแต่คำว่าเรียนดี เราก็พยายามตั้งไจเรียนแล้วพอเรียนจบก็เลือกที่จะกลับไปเป็นหมอในโครงการแพทย์ชนบทกลับมาใช้ทุนที่บ้านจังหวัดสมุทรสงครามซึ่งค่อนข้างเป็นจังหวัดเล็กทำให้แพทย์มีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย พอกลับมาบ้านก็สามารถดูแลครอบครัวได้แล้วก็สามารถทำประโยชน์ให้กับบ้านเกิดของตัวเองได้ ในฐานะหมอ จริงๆ เราก็คิดว่าผู้ป่วยทุกคนเป็นเหมือนญาติพี่น้องทำให้ทุกคนอย่างเต็มที่และเท่าเทียมเต็มที่ ตอนนี้คุณหมอก็ให้เราเป็นคนที่ดูแลอาการของคุณแม่โดยตรง ชีวิตตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะมากทั้งเรื่องการใช้ชีวิตรู้สึกว่าครอบครัวดีขึ้นจากที่อาจต้องอดกินในบางมื้อ หนูรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้เพราะว่าการได้ทุนนี้มันเปลี่ยนชีวิตหนูมากๆ แล้วก็ต้องขอบคุณพระองค์ที่ทรงมองเห็นจุดเล็กๆ จุดน้อยนี้เพื่อที่จะสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติได้”
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ สำนักงาน ก.พ. ได้ทูลเกล้าฯ ถวายทุนรัฐบาล ก.พ. จำนวน 100 ทุน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และสืบสานพระบรมราโชบายด้านการศึกษาตามโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยชื่อทุนดังกล่าวว่า “ทุนเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เพื่อคัดเลือกผู้ได้รับทุน ม.ท.ศ.ที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีทัศนคติที่ถูกต้องดีงาม มีจิตอาสา มีความสามารถด้านการเรียนและการใช้ภาษาอังกฤษ ให้ได้รับพระราชทานทุนไปศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาโททั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถกลับมาปฏิบัติราชการในพื้นที่ และภูมิลำเนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มิค-ปารเมศ บัวขาว นักเรียนทุนฯ ม.ท.ศ.รุ่นที่ 6 ข้าราชการหนุ่มไฟแรง นักวิชาการศุลกากรปฏิบัติการ สังกัดกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง (ปฏิบัติงาน กองมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร) และเป็นผู้ได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับทุนเฉลิมพระเกียรติฯ รุ่นที่ 1 ประจำปี 2564 เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศ บอกว่าการที่เขาเป็นเด็กต่างจังหวัดมีโอกาสได้เล่าเรียนสูงถึงระดับปริญญาตรีก็ถือว่ายากแล้ว แต่ในชีวิตนี้เขาไม่เคยคิดว่าจะได้รับโอกาสไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทถึงต่างประเทศ เมื่อได้รับโอกาสครั้งใหญ่ในชีวิตแล้วเขาจะตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
“เราอยู่ต่างจังหวัดพูดถึงการจะเรียนระดับปริญญาตรีมันเป็นเรื่องที่ยากและไกลเกินตัวมาก เพราะส่วนหนึ่งเกิดมาจากเงินค่าเทอมมันแพงมากสำหรับคนบ้านนอกมันเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก อย่างแรกที่มันลำบากคือพ่อกับแม่ผมเขาแยกกันอยู่ดังนั้นภาระทั้งหมดจึงหนักอยู่ที่แม่คนเดียว แม่ก็เลยอยากจะให้เรียนสายอาชีพ แต่พอได้รับทุนการศึกษาพระราชทานเหมือนมีแสงสว่างส่องเข้ามาในชีวิต ผมดีใจมากแต่แม่ดีใจมากกว่าผม พอเรียนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้วผมจึงตัดสินใจสมัครเข้ารับราชการ เพราะการรับราชการเป็นอีกทางหนึ่งที่เราจะได้ช่วยเหลือมันเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการพัฒนาประเทศชาติแล้วก็สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ และปี 2564 ผมได้รับคัดเลือกได้รับทุนเฉลิมพระเกียรติฯ อันเป็นทุนต่อเนื่องของทุน ม.ท.ศ.เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศ ซึ่งผมเป็นรุ่นแรก ตอนนี้ที่มองไว้คืออยากไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษอยากไปเรียนกฎหมายเพราะอยากไปต่อยอดวิชาความรู้เกี่ยวกับสายงานของตัวเองให้มากขึ้น”
มิคเล่าต่อว่า การได้รับทุนการศึกษาเฉลิมพระเกียรติฯ ไม่ใช่แค่การไปเรียน แต่มันคือการได้ไปเห็นโลกทัศน์อีกใบหนึ่งทำให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้นไปกว่านี้ ซึ่งเขาตั้งปณิธานไว้ว่าจะมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและนำความรู้ที่ได้รับกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
“งานกรมศุลกากรเป็นงานที่มีความเป็นอินเตอร์เนชันพอสมควร และที่เราจะไปเรียนคือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศมันมีความสอดคล้องในเนื้อหาของงานที่เราทำอยู่สามารถทำให้เรามีประสิทธิภาพในการพัฒนาตัวเองมากขึ้น ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอนจึงตัดสินใจอยากจะไปเรียนสาขานี้ ซึ่งการไปเรียนต่อน่าจะเป็นช่วงประมาณกันยายน ปี 2567 ระหว่างนี้สองปีนี้ผมต้องทำงานและศึกษาเรื่องของภาษาอังกฤษก่อนครับ”
เช่นเดียวกับก็อต-ฉัตรชัย กรุณา นักเรียนทุนฯ ม.ท.ศ. รุ่นที่ 7 วิศวกรปฏิบัติการ สังกัดกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่เพิ่งได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับทุนเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำปีการศึกษา 2565 กล่าวด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณว่า เดิมทีเขามีความฝันเพียงว่าแค่ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วมีงานทำตามความฝันที่วาดไว้ก็เพียงพอแล้ว แต่ไม่เคยคาดคิดว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทแถมยังได้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนจะเป็นพลังกายและพลังใจที่ทำให้เขาต่อยอดความรู้ด้านพลังที่ได้รับมาพัฒนาสังคมและประเทศชาติสืบไป
“ตอนนั้นพอรู้ว่าได้รับทุนการศึกษาพระราชทานให้ศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมปลาย จนถึงระดับชั้นปริญาตรีก็ดีใจมากแล้ว เพราะเงินการศึกษาส่วนนี้สามารถมาแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้ ตอนแรกก็มีความคิดว่าจะเรียนถึงปริญญาตรีเท่าที่ได้รับทุนพระราชทาน แล้วสมัครทำงานราชการเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ผมจึงตัดสินใจเข้ารับราชการที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพราะว่าในปัจจุบันโลกกำลังให้ความสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเพราะสภาพอากาศแปรปรวนมันเกิดจากการที่เราใช้พลังงานและมีการปลดปล่อยมลพิษออกมาสู่ชั้นบรรยากาศที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานที่สูง ดังนั้นเพื่อเป็นทางเลือกทางรอดของโลกเราจึงศึกษาในเรื่องของการลดการปล่อยของเสียมลพิษต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาในเรื่องของพลังงานทดแทนรวมไปถึงการอนุรักษ์พลังงานคือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ผมได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับพระราชทุนเฉลิมพระเกียรติฯ ให้ได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่คาดคิดว่าจะได้โอกาสนี้ ผมจะใช้โอกาสนี้ไปศึกษาเก็บเกี่ยวความรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อหวังว่าจะสามารถช่วยพัฒนาพลังงานทดแทนภายในประเทศให้ไปข้างหน้าได้”
ปิดท้ายที่ เจน-เจนญาณี แก้วหาญ นักเรียนทุน ม.ท.ศ.รุ่นที่ 10 ปัจจุบันที่กำลังศึกษาระดับชั้นปีที่ 2 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ สาขาสัตวแพทยศาสตร์ บอกว่า ทันทีที่เธอทราบข่าวว่าเป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ.เธอรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างมาก เพราะอย่างน้อยทุนการศึกษาส่วนนี้ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเทอมได้ซึ่งคุณแม่ของเธอจะได้เหนื่อยน้อยลงกับการพยายามหาเงินส่วนนี้มาจ่ายค่าเทอม ซึ่งเธอตั้งปณิธานว่าจะตั้งใจเรียนจนจบการศึกษาแล้วนำความรู้ที่มีไปช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงทุกตัวบนโลกใบนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ
“ที่ผ่านมาเคยได้ยินแค่นักเรียนรางวัลทุนพระราชทานแต่ไม่เคยคิดว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในนั้น พอรู้ว่าได้รับโอกาสก็รู้สึกดีใจมากๆ เหมือนโล่งใจว่าต่อไปเราจะได้ไม่ต้องทำให้พ่อแม่ลำบากมากขึ้นลดภาระในเรื่องของค่าใช้จ่ายเพราะมีพี่ๆ อีกสองคนที่ยังเรียนหนังสืออยู่ หนูจะตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนจบการศึกษาและเข้าทำงานในอาชีพสัตวแพทย์อย่างสุจริต มีจรรยาบรรณต่ออาชีพ และจะเป็นคนดีของสังคมมีจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น”
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นดั่งแสงสว่างสร้างชีวิตใหม่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนเป็นคนดีของแผ่นดินและประเทศชาติ
และในวันพุธที่ 28 ธันวาคมนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ.รุ่นที่ 14 เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานทุน ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต