รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย รอบ 3 ปี กสศ.ช่วยเหลือนักเรียนยากจนกว่า 3 ล้านคน/ครั้ง ด้วยงบประมาณ 2.18 หมื่นล้านบาท เผย อัตราการเข้าเรียนสูงขึ้น ติดตามกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา สร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ประสานกว่า 200 องค์กรร่วมสร้างความเสมอภาคการศึกษา
วันนี้ (7 ธ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ และมีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์โดยต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้ดำเนินการในหลายส่วน รวมถึงการดูแลนักเรียน นักศึกษาผู้ขาดโอกาสแบบพุ่งเป้าผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของ กสศ. ได้รายงานถึงผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานว่ารอบ 3 ปี (พ.ค. 61-พ.ค. 65) ว่า กศส. ได้ใช้งบประมาณจากทุกแหล่งเงิน จำนวน 21,886.43 ล้านบาท ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษาทั้งในและนอกระบบให้ได้รับประโยชน์รวมกว่า 3 ล้านคน/ครั้ง(นับตามครั้งที่มีการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่เด็ก 1 คน มากกว่า 1 ครั้งต่อปี) ประกอบด้วย 1) เด็กและเยาวชนในระบบการศึกษา 3.02 ล้านคน/ครั้ง แยกเป็น นักเรียนทุนเสมอภาค 2.97 ล้านคน/ครั้ง นักเรียนทุนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 8,013 คน และเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 45,028 คน 2) เด็ก เยาวชน และแรงงานนอกระบบการศึกษา 44,829 คน 3) ครู 26,648 คน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กสศ. ได้ให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่ขาดโอกาสโดยมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานเชิงระบบ เช่น เปลี่ยนแปลงระบบการคัดกรองความยากจน โดยสร้างแนวทางการค้นหาเด็กนักเรียนยากจนร่วมกับครูในพื้นที่ตามหลักการความเป็นธรรมและโปร่งใส มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนโดยตรงโดยพิจารณาจากความจำเป็นและความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล จากระบบเดิมที่เป็นการให้เงินงบประมาณกับโรงเรียนและจ่ายเงินรายหัวตามจำนวนนักเรียนเพื่อให้โรงเรียนไปจัดการศึกษาเพียงอย่างเดียว
การดำเนินงานดังกล่าวได้แสดงผลสัมฤทธิ์ผ่านตัวชี้วัดหลายประการ อาทิ นักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาที่มีอัตราการเข้าเรียนน้อยกว่าร้อยละ 85 ได้ลดลงจาก 18,345 คน ในภาคเรียน 1/2563 เหลือ 1,024 คน ในภาคเรียน 2/2563 และเด็กยากจนและยากจนพิเศษ 11,783 คน มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น โดยสามารถเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย (TCAS64) ในสถาบันอุดมศึกษา 69 แห่งทั่วประเทศ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มีการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในด้านการจัดการเรียนรู้และการบริหารภายใน โดยสามารถยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้และทักษะของนักเรียนกว่า 190,000 คน ครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อจัดการศึกษาตามความต้องการที่หลากหลายเพื่อคุณภาพของผู้เรียน ขณะที่เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาใน 20 จังหวัดนำร่อง มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือพัฒนาความรู้ในการประกอบอาชีพตามศักยภาพ ส่วนแรงงานนอกระบบได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ เช่น ทักษะชีวิตด้านการเงิน การบริหารจัดการสำหรับศตวรรษที่ 21 และทักษะอาชีพ
นอกจากนี้ กสศ. ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ “iSEE” โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ 6 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสได้ตรงตามเป้าหมาย มีระบบการติดตามนักเรียนทุนรายบุคคลผ่านเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นรายบุคคลและใช้ติดตามรายที่หลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา และมีการระดมความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้มีส่วนสนับสนุน กสศ. ทั้งในรูปแบบการระดมทุนและความร่วมมือกว่า 200 องค์กร
ทั้งนี้ การประเมินผลและติดตามผลสัมฤทธิ์ของ กสศ. จะมีขึ้นทุก 3 ปี ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 44 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้ต้องมีการรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ ทุก 3 ปี พร้อมกับรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ และเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบเพื่อความโปร่งใส ตระหนักถึงความสำคัญของการของการลดความเหลื่อมล้ำและร่วมกันมอบโอกาสผ่านการศึกษาแก่ผู้ยากจนในสังคม