xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด มท.ปลื้ม ทั้งประเทศประกาศเจตนารมณ์รณรงค์สร้างความตระหนักรู้ความสำคัญทรัพยากรดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการจัดงานพิธีเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ "วันพ่อแห่งชาติ" ซึ่งในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ได้มีการจัดกิจกรรมนำพสกนิกรทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมพิธีเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งมีทั้งการประกอบพิธีทางศาสนา พิธีสวดพระพุทธมนต์ พิธีบำเพ็ญกุศล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล พิธีร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง การบริจาคโลหิต ฯลฯ

นอกจากนี้ วันที่ 5 ธันวาคม ยังเป็นวันสำคัญของประชาคมโลกอีกด้วย นั่นก็คือ "วันดินโลก" หรือ World Soil Day โดยในปี 2565 มีการรณรงค์ให้คนทั่วทั้งโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของดินภายใต้หัวข้อ "Soils, where food begins" หรือ "อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน" ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศเจตนารมณ์ว่าจะร่วมส่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้คนในชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของดินและหันมาอนุรักษ์ทรัพยากรดิน รวมถึงฟื้นฟูดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ สร้างระบบนิเวศที่สมดุล ช่วยกันทำให้ดินแดนมาตุภูมิของพวกเรากลายเป็นผืนแผ่นดินทองดั่งที่โบราณว่าไว้ว่า เราคือ อู่ข้าวอู่น้ำของโลก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปวงพสกนิกรชาวไทยต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และจดจารึกไว้ในดวงใจอย่างมิเสื่อมคลายกว่า 70 ปี แห่งการครองราชย์ เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ปวงประชาว่า ทรงยึดมั่นในทศพิธราชธรรม ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎร์ สร้างความผาสุกร่มเย็นให้แก่ชาติบ้านเมือง ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ท่านผ่านการทุ่มเทพระวรกายสร้างสรรค์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 5,151 โครงการ พร้อมแนวพระราชดำรัสอีกมากมาย เพื่อให้คนไทยได้ถอดรหัสนำมาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นวิถีชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของพี่น้องประชาชนคนไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชปณิธานที่แน่วแน่ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด มุ่งสู่การทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

ซึ่งนัยที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) คือ ต้องรู้จักความพอดี พอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับการมีความรู้และคุณธรรม กล่าวโดยสรุปคือ เราต้องรู้จักตัวเอง และประมาณตนว่า ตัวเองมีฐานานุรูปอย่างไร มีเงินเดือนเท่าไร มีหน้าตาทางสังคมอย่างไร ก็ต้องใช้ชีวิตให้พอดีแก่ฐานานุรูปแห่งตน ซึ่งสามารถก้าวหน้าได้ คือ การเติบโตในทุกด้าน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ส่วนคำว่า มีเหตุมีผล ทุกท่านคงเข้าใจความหมายดีอยู่แล้วว่า ต้องอยู่ในหลักความพอดี หากมีความจำเป็นต้องซื้อทรัพย์สินก็อย่าให้เดือดร้อนจนเกินตัว

ต่อมาคือมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะต้องรู้เท่าทันโลก และรู้จักพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เช่น ในปัจจุบันกระแสพลวัตก็เปลี่ยนแปลงไป โลกของเราทุกอย่างคือความรวดเร็ว เป็นยุคที่เรียกว่า Disruptive การขายสินค้าถ้าเราอยากจะเพิ่มรายได้ก็ต้องเพิ่มกำลังการผลิต และขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า หรือ แพลตฟอร์มที่มีสู่ระบบออนไลน์ หรือตลาดอื่นๆ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้า ถ้าเราเข้าใจบริบทนี้ เราก็จะเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้ 2 เงื่อนไข คือ การมีความรู้ และการมีคุณธรรม อยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือเบียดเบียนผู้อื่น หากเราปฏิบัติเช่นนี้จนนำมาสู่วิถีชีวิต หรือ Way of life ได้ ก็จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมที่เป็นสุข สิ่งแวดล้อมที่ดีชุมชน สังคมประเทศชาติของเราก็จะดีตามมา

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในโอกาสวันดินโลก ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการฟื้นคืนชีพ คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยและชาวโลก ด้วยการพระราชทานแนวพระราชดำริต่างๆ จนเกิดผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาคมโลก จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (IUSS) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดิน เพื่อมนุษยธรรม" (Humanitarian Soil Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลก และองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ โดยรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันดินโลก" และบรรจุในปฏิทินการปฏิบัติงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และประเทศสมาชิกทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้

กระทรวงมหาดไทย มีความตั้งใจที่จะสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของดินที่ช่วยสร้างแหล่งอาหาร ทำให้พืชผลสามารถเจริญงอกงาม ผลิดอกออกผลทั่วสารทิศ หล่อเลี้ยงทุกชีวิต ทุกสรรพสิ่งบนผืนแผ่นดิน ทำให้แนวคิดแผ่นดินทองสามารเกิดขึ้นได้จริง

ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ จึงร่วมกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น พี่น้องประชาชนจิตอาสา และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อสืบสานรักษาความอุดมสมบูรณ์แห่งดิน และต่อยอดขยายผลกิจกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหาร Change for Good เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งมีข้อความการประกาศเจตนารมณ์ว่า "ข้าพเจ้า จะสืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาดินอย่างยั่งยืน ข้าพเจ้า จะรักษาความอุดมสมบูรณ์แห่งดิน เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหารที่มีคุณภาพ ข้าพเจ้า จะต่อยอด ขยายผล ขับเคลื่อนเครือข่ายพลังแผ่นดิน สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน"

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ วันนี้ยังได้รับรายงานข้อมูลความคืบหน้าแบบรายงาน add event ของอำเภอ/จังหวัด วันที่ 5 ธันวาคม 2565 เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. จากทีมบริหารข้อมูลและประเมินผล โดยในขณะนี้ มีอำเภอ/จังหวัด ดำเนินการบันทึกข้อมูลแล้วทั้งสิ้น 891 พื้นที่ มีผู้ตอบแบบสอบถามความพึงพอใจแล้วกว่า 30,000 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่พอใจมากถึงมากที่สุด ในส่วนการรับรู้ และความตระหนักในทรัพยากรดิน อยู่ในระดับมาก ไปจนถึงมากที่สุด ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี

กิจกรรมงาน "วันดินโลกไ ปี 2022 ของกระทรวงมหาดไทย ได้มีการกำหนดจัดกิจกรรมตั้งแต่ วันที่ 2 ธันวาคม 2565 ไปจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2565 เรียกว่าเป็น "สัปดาห์แห่งการตระหนักรู้" (Awareness Week) ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้ต่อเนื่องตลอด 7 วัน ภายใต้แนวคิด "Great food from good soil for better life awareness week" หรือ "ดินดี อาหารดี สุขภาพดี ชีวีมีสุข" ซึ่งจะขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่อง จ.อุบลราชธานี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนและภาคส่วนรับรู้และเกิดความตระหนักถึงความสำคัญทรัพยากรดินในการดูแลฟื้นฟูบำรุงดินที่เป็นแหล่งกำเนิดของอาหารและสิ่งมีชีวิตนานัปการ ซึ่งกิจกรรมไฮไลต์ในวันสุดท้าย คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2565 จะจัดขึ้นที่ ศูนย์พุทธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์วัดป่าดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับความเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่เป็นเจ้าภาพหลัก คือ กรมการปกครอง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

สำหรับกิจกรรมที่สำคัญและน่าสนใจมากในวันดังกล่าว คือ กิจกรรมที่เป็นความร่วมมือภายใต้ MOU ระหว่างกระทรวงมหาดไทย มหาเถรสมาคม และ สจล. ที่วัดเกือบทุกวัด ใน จ.อุบลราชธานี และพื้นที่อื่นๆ ได้ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมในวันดินโลก เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน มีประชาชนเข้าร่วมพื้นที่แต่ละวัดประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้นคาดว่ามีคนเข้าร่วมสร้างการรับรู้กว่า 60,000 คน ผ่านการทำงานสาธารณสงเคราะห์ หรือ หลัก "บวร" พร้อมถ่ายทอดผ่านระบบ Zoom จากสถานีแม่ข่ายหลัก ที่วัดป่าดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน ไปยังพื้นที่วัดหรือที่สาธารณะในชุมชนที่ทางอำเภอต่างๆ จัดเตรียมไว้

กิจกรรมต่อมามีชื่อว่า "ถนนสายวัฒนธรรม" ทาน ศีล ภาวนา ทำจิตอาสาพัฒนาดิน พัฒนาพื้นที่ มีอาหารผลผลิตที่เกิดจากดิน มาใส่บาตร แบ่งปันกัน มีการทำกิจกรรมปลูกต้นไม้  ฟื้นฟูบำรุงดิน ห่มดิน ใส่ปุ๋ยจากวัตถุดิบธรรมชาติ ทำปุ๋ยหมัก-น้ำหมัก และอื่นๆ ที่เป็นการร่วมกันเทิดพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล ตลอดจนร่วมกันเสริมสร้างการตระหนักรู้ ในการดูแลทรัพยากรดิน ภายใต้ Theme หัวข้อประกวดของ FAO องค์การอาหารและเกษตรกรรม แห่งสหประชาชาติ ว่า Soils: where food begins (อาหารก่อกำเนิด เกิดจากดิน)