xs
xsm
sm
md
lg

อ.อ๊อดแนะวิธีสังเกตอาหารที่ปนเปื้อนสารฟอร์มาลิน สำหรับผู้ชื่นชอบหมูกระทะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง ได้ออกมาแนะนำเหล่าผู้ชื่นชอบในการรับประทานหมูกระทะ ให้รู้จักวิธีสังเกตอาหารที่ปนเปื้อนสารฟอร์มาลิน หรือหากซื้ออาหารมาแล้ว ควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะฟอร์มาลินทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมตซึ่งละลายน้ำได้

จากกรณีที่กรมปศุสัตว์ส่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรีบุกตรวจสอบแหล่งลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินรายใหญ่ ส่งขายร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสานกว่า 66 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียง ปริมาณน้ำหนักรวม 25,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของยังไม่สามารถแสดงแหล่งที่มาของชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสัตว์ได้ จึงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (6 ธ.ค.) เพจ "สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์" ได้โพสต์ให้ความรู้ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า “ต้องเรียกได้ว่าสร้างความวิตกกังวลให้กับแฟนคลับ หมูกระทะ เป็นอย่างมากเลยทีเดียว หลังจากที่กรมปศุสัตว์ส่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี เข้าตรวจสอบสถานประกอบการแปรรูปวัตถุดิบเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ รายใหญ่แห่งหนึ่ง พบมีการลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมสารฟอร์มาลิน ก่อนส่งไปยังร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีกจำนวนมาก

ซึ่งเรื่องนี้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ อาจารย์อ๊อด นักวิชาการชื่อดัง ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ว่า “อาหารที่มักพบสารฟอร์มาลินปนเปื้อน ได้แก่อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ ซึ่งวิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ

ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผลหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูกแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน เมื่อซื้ออาหารมาแล้วควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4-5 ลิตร) ประมาณ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะฟอร์มาลินทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมตซึ่งละลายน้ำได้” รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ กล่าว”

คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น