ตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อ 6 องค์กรยื่นหนังสือถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชน 4 รายได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุดเอเปก ว่ากระทำเกินกว่าเหตุ ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ พร้อมเตรียมยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร.ให้ตรวจสอบอีกทาง
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อ 6 องค์กร ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้าพบนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือให้ กสม.ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มราษฎรหยุดเอเปก บริเวณถนนดินสอ ข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (หลังเก่า) เขตพระนคร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่
นายธีรนัยกล่าวว่า จากการตรวจสอบและรับฟังข้อมูลเบื้องต้น ตนได้รับรายงานว่าลักษณะอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพียงแค่ลูกหลง หรือจังหวะชุลมุน แต่เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนที่มีลักษณะขาดความยับยั้งชั่งใจ เช่น การใช้กระบองฟาดและรุมเตะผู้สื่อข่าว หรือการขว้างขวดแก้วจากแนวตำรวจมายังทิศทางของกลุ่มสื่อมวลชน ทำให้มีช่างภาพบาดเจ็บบริเวณลูกตา จึงสุ่มเสี่ยงว่าอาจจะเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อปกป้องสิทธิของสื่อมวลชนทั้ง 4 คน ที่ได้รับบาดเจ็บ แต่เพื่อปกป้องสิทธิของเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อทั้งหมด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องป้องกันมิให้เกิดเหตุในลักษณะนี้ขึ้นอีก สื่อมวลชนภาคสนามทุกคน ทุกสังกัด จะได้สามารถปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างปลอดภัยและปราศจากการคุกคาม ซึ่งหลังจากนี้จะมีการยื่นหนังสือไปยัง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในกระบวนการของตำรวจอีกทางหนึ่งด้วย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเดอะแมทเทอร์ (The Matter) ถูกตำรวจใช้กระบองและโล่กระแทกจนล้มลงกับพื้น ขณะกำลังรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มเติมเตะซ้ำๆ เข้าที่ศีรษะ และใช้วาจาไม่เหมาะสม 2. ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไทถูกเจ้าหน้าที่ใช้โล่ทิ่มเข้าใส่ ขณะรายงานสถานการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวยืนอยู่บนฟุตปาธเช่นกัน ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บที่มือ 3. ช่างภาพจากสำนักข่าวรอยเตอร์ถูกเศษแก้วจากขวดแก้วกระเด็นเข้าที่ใบหน้าขณะกำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้รับบาดเจ็บบริเวณลูกตา ซึ่งวัตถุดังกล่าวลอยมาจากทิศทางของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ 4. ช่างภาพจากสำนักข่าวท็อปนิวส์ ถูกตำรวจใช้โล่และกระบองฟาด ขณะกำลังเก็บภาพจังหวะกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยที่ช่างภาพคนดังกล่าวกำลังยืนอยู่บนฟุตปาธ ส่งผลให้ฟกช้ำเล็กน้อยและแว่นสายตาเสียหาย เป็นต้น